สกู๊ป น.1 : คนจันท์แสดงพลัง ค้าน‘เหมืองทอง’ ขอ‘หมอนทอง’

จันทบุรีถือได้ว่าเป็นเมืองเกษตรกรรมและยังถูกยกย่องให้เป็นปอดของภาคตะวันออก แต่เหมือนว่าเมืองสีเขียวแห่งนี้มีแรงดึงดูดมหาศาล เพราะตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนใน จ.จันทบุรี มีการตื่นตัวกับกระแสข่าวที่มีบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีการ
เตรียมออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ซึ่งจะทำการสำรวจแร่ทองคำในเนื้อที่ประมาณ 14,650 ไร่ ของ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

ทันทีที่ทางสำนักงานอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี ได้ทำการส่งประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรื่องการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ไปยังทาง อ.แก่งหางแมว, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ตลอดจนผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้าน ปิดประกาศ เพื่อให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับในเรื่องการสำรวจแร่ทองคำดังกล่าวแล้ว ตามระเบียบราชการ ส่งผลทำให้ชาวบ้าน ตลอดจนประชาชนที่ทราบข่าว พากันตื่นตัวและได้ออกมารวมพลังคัดค้านไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ

กระแสแอนตี้เหมืองทองคำของชาวจันทบุรี ลุกลามไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง เนื่องจากเทคโนโลยีไร้พรมแดนอย่างโลกโซเชียล เป็นเครื่องจักรสำคัญให้กระแสต่อต้านคัดค้านแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วเหมือน ไวรัลŽ

Advertisement

ยิ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณลานหน้าศาลากลาง จ.จันทบุรี ประชาชนชาว จ.จันทบุรี จากหลากหลายอาชีพกว่า 1,500 คน ภายใต้การนำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี, สันนิบาตเทศบาลจังหวัดจันทบุรี, สมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน, สภาเกษตรกร, สภาอุตสาหกรรม และสมาคม องค์กรต่างๆ ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนใน จ.จันทบุรี ตลอดจน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านเหมืองทองคำดังกล่าว

พร้อมใจลงลายมือชื่อคัดค้านทั้งสิ้นกว่า 157,000 คน !

กาญจนา ทัพป้อม

 

Advertisement

ขณะที่ น.ส.กาญจนา ทัพป้อมŽ อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ชี้แจงว่า เรื่องการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำเมื่อ พ.ศ.2549 แต่ขณะนั้นจะใช้เป็น พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ปัจจุบันได้มี พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 บังคับใช้

ตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ระบุว่าทุกคำขอทุกประเภท ที่เคยยื่นขอไว้ ก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ก็ให้ถือว่าเป็นคำขอตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ด้วย เพราะฉะนั้น บริษัทจึงได้มายื่นคำขอส่งแผนงาน เพื่อขอสำรวจแร่ทองคำในฉบับแก้ไข กล่าวคือ พ.ร.บ.แร่ ฉบับ 2560 กับทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 23 ก.ค.63

และหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบคือ ส่งแผนที่บริษัทแก้ไขแล้ว ไปให้ทางเขตที่ จ.นครราชสีมา เป็นผู้ตรวจสอบแผนขอสำรวจ

เมื่อแผนถูกต้องแล้ว ทางเขตก็ได้ส่งแผนกลับที่สำนักงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา และขั้นตอนต่อมาทางสำนักงานอุตสาหกรรม จะได้ดำเนินการส่งประกาศไปให้กับหน่วยงานในท้องที่เพื่อปิดประกาศให้ประชาชนทราบ

”ประชาชนสามารถที่จะแสดงความต้องการหรือไม่ต้องการ พร้อมความคิดเห็นได้ภายในวันที่ 27 ก.ย.หรือ 30 วัน หลังปิดประกาศ ซึ่งจะเป็นแบบรวมกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ โดยส่งมาที่อุตสาหกรรมจังหวัด โดยยืนยันว่าในขณะนี้บริษัทดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเท่านั้น และยังไม่ได้มีการอนุญาตในอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าว จากทาง กพร. แต่อย่างใด”Ž น.ส.กาญจนาชี้แจง

ด้าน นายธีระ วงษ์เจริญŽ ประธานสภาเกษตรกร จ.จันทบุรี กล่าวว่า การออกอาชญาบัตรพิเศษให้แก่เหมืองแร่ทองคำ มีจันทบุรี เป็น 1 ใน 12 จังหวัด ซึ่งทาง กพร.มีการเตรียมออกอาชญาบัตรพิเศษให้แก่เอกชน คือ บริษัทดังกล่าว จำนวน 2 แปลง โดยขั้นตอนแรกจะทำการสำรวจพื้นที่ใน ต.พวา ต.สามพี่น้อง ซึ่งเครือข่ายด้านการเกษตรไม่ต้องการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ เนื่องจากสารเคมีที่มาจากกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำต้องตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งจันทบุรี ยังเป็น 1 ใน 6 เมืองเกษตรสีเขียวและแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยด้วย

นายธีระกล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลของ กพร. ที่มีความต้องการจะออกประกาศกระทรวงในการทำเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ได้มีการยืนหยัดแนวทางการคัดค้านและมีมติร่วมกัน ว่าคนภาคตะวันออกไม่เอาเหมืองแร่ทองคำและคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษ พร้อมหาแนวทางต่อสู้ด้านการเกษตรสีเขียว และแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งการทำเหมืองแร่ทองคำใช้สารไซยาไนด์ที่อาจปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ ได้ และจากการศึกษาข้อมูลผลกระทบของพิจิตรโมเดล เกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ สภาเกษตรกร จ.จันทบุรี จึงขอเดินหน้าสู้ในเรื่องนี้จนกว่าจะมีการยกเลิกการทำเหมืองแร่ในจันทบุรี

ขณะที่ นายทิวา แตงอ่อนŽ ผู้ประสานงานในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว เปิดเผยว่า การแสดงจุดยืนเพื่อขอดูท่าทีความคืบหน้าจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ไปจนถึงวันที่ 27 ก.ย.นี้ และหากยังไม่มีการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการยุติการเรื่องดังกล่าว ชาวจันทบุรีทั้งจังหวัดจะช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อหยุดยั้งเหมืองแร่ทองคำด้วยเหตุและผล ไม่ยอมด้วยความเหมาะสมประการทั้งปวง ซึ่งเหมืองทองคำสู้ไม่ได้กับเกษตรกรรมที่บรรพบุรุษคนจันทบุรี ทำมาช้านาน จนมีพื้นที่เรียกว่ามีความสำคัญและเป็นปอดให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกอยู่ทุกวันนี้

ถ้าพูดกันด้วยเหตุและผล น่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับชาวเมืองจันท์ และประเทศไทยมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image