‘ทีเคเคฯ’ ผนึก มทร.ตะวันออก ตั้ง Academy ปั้นเด็กวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ รองรับอุตสาหกรรม New S-Curve พื้นที่ EEC

นางกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ และให้คำปรึกษาด้านการดูแลและซ่อมบำรุง ภายใต้แนวคิด ‘Number 1 F.A. Solutions Provider in Thailand’ เปิดเผยถึงการทำโปรเจกต์ Academy ว่าเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น และ สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) ซึ่งจะครอบคลุมถึงการมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และหุ่นยนต์เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

นางกัลยาณี กล่วว่า การร่วมกันก่อตั้ง Academy หรือสถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะช่วยยกระดับการผลิตบุคลากรด้านนี้ให้มีทักษะที่สถานประกอบการต้องการ รวมถึงสามารถพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์การผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด

“บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตของโครงการ EEC ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา ไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจะต้องมาร่วมมือกัน เร่งพัฒนาทักษะและความรู้แก่นักศึกษา สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติอย่างแท้จริง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการ EEC” นางกัลยาณี กล่าว
ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทฯ มีความตั้งใจและได้วางแผนว่าจะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับแนวหน้าของประเทศ มาต่อยอดในการพัฒนาบุคลากรในระดับอุดมศึกษา และร่วมกับ สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มทร.ตะวันออกด้วยการ พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และร่วมกันก่อตั้ง Academy หรือสถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยที่ผ่านมา ทาง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น มีความมั่นใจมาตลอดว่าภาคอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ

นางกัลยาณี กล่าวด้วยว่า ล่าสุดบริษัทได้รับงานออกแบบและวางระบบหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติในโครงการ EEC Medical Hub ศูนย์กลางทางการแพทย์ในพื้นที่ EEC โดยมีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งจะออกแบบและพัฒนาตามคอนเซ็ปท์ของการเป็น Digital Hospital หรือโรงพยาบาลจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ ด้วยการใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์ AMR ทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ขนส่งยา เวชภัณฑ์ จัดยา โดยใช้เทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบริหารจัดการโรงพยาบาลแห่งนี้ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่างานนี้กว่า 200 ล้านบาท คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567

Advertisement

นางกัลยาณี กล่วว่า ตั้งเป้ารายได้ทีเคเคฯ และบริษัทในเครือในปีนี้ รวม 1,100 ล้านบาท เติบโต 25% จากปีที่ผ่านมา ปัจจัยจากการขยายฐานลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, ยานยนต์ ฯลฯ ที่ต้องการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในองค์กร โดยพัฒนาระบบ Robot Processing Automation (RPA) หรือระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติช่วยจัดการระบบการทำงานเบื้องหลังต่างๆ ภายในออฟฟิศ (Back-office) เช่น ระบบบัญชี การออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) จะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่ออัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขยายงานได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนบุคคากรในสำนักงานอย่างรวดเร็ว

นายทัศพันธุ์ สุวรรณทัต หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ มทร.ตะวันออกตัดสินใจเปิด สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเปิดอยู่แวดล้อมมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อภาคอุตสาหกรรมเติบโตในพื้นที่ภาคตะวันออก ผู้ปกครองของเด็กก็เห็นว่าอาชีพวิศวกรโรงงานมีโอกาสก้าวหน้า จึงต้องการส่งบุตรหลานมาเรียนด้านนี้กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นอกจากนี้เทรนด์การจ้างงานในโรงงาน ในอดีตจะจ้างวิศวกรเครื่องกล 1 คน วิศวกรไฟฟ้า 1 คน วิศวกรระบบอุตสาหการอีก 1 คน ซึ่งในระยะหลังมานี้ โรงงานอุตสาหกรรมได้แสดงความต้องการมายังภาคการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากร ให้ช่วยผลิตวิศวกรที่มีความสามารถครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ภายในบุคคลเดียว จึงเป็นเหตุให้ มทร.ตะวันออก เปิดหลักสูตรวิศวเมคคาทรอนิกส์ฯ ซึ่งเป็นศาสตร์ของวิศวกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด

สำหรับหลักสูตรที่ร่วมกันพัฒนากับทีเคเคฯ เน้นการสอนทักษะหลัก 3 ด้าน คือ ด้านเครื่องกล ผู้เรียนจะต้องเขียนแบบเครื่องกลได้ สามารถออกแบบเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ และดีไซน์เครื่องจักรขนาดเล็กรวมถึงเครื่องจักรระบบอัตโนมัติได้ด้วยซอฟแวร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากทีเคเคฯ เมื่อเรียนจบแล้วจะสามารถทำงานได้ทันทีในภาคอุตสาหกรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image