อจน.โชว์ผลงานบำบัดน้ำเสียให้ท้องถิ่น แก้ปัญหาเห็นผล ชาวบ้านชอบแถมได้น้ำ

อจน.โชว์ผลงานบำบัดน้ำเสียให้ท้องถิ่น แก้ปัญหาเห็นผล ชาวบ้านชอบแถมได้น้ำ

วันนี้ (14 กันยายน 2563) นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย เปิดเผยว่า องค์การจัดการน้ำเสีย หรือ อจน. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.2538 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2538 ด้วยสาเหตุจากที่ได้เกิดปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ การแก้ไขปัญหาน้ำเสียต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อจน.จึงถือเป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญ และได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.2538 และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ในปี พ.ศ.2540 และปี พ.ศ. 2548 ตามมาตรา 6 คือ การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับการบำบัดน้ำเสียภายในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย และการให้บริการรับบริหารหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย รวมทั้งบริการหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ

“ปัจจุบัน อจน.ได้ดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟู และบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อป.) ในระยะยาว 15 ปี และได้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็กซึ่งประกอบด้วย ศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ อปท. และหน่วยงานที่ไม่ใช่ อปท.อย่างครอบคลุม ประกอบด้วย 1.ด้านการปรับปรุงฟื้นฟูและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนให้กับ อปท. ในระยะยาว 15 ปี จำนวน 25 แห่ง อาทิ เทศบางเมืองพะเยา เทศบางเมืองลำปาง เทศบาลเมืองเชียงใหม่ เทศบาลตำบลบางเสร่ จ.ชลบุรี เทศบางเมืองกาฬสินธุ์ เทศเมืองกำแพงเพชร เทศเมือมุกดาหาร เป็นต้น” นายชีระ กล่าว

นายชีระ กล่าวต่อไปว่า 2.ด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็ก หรือ ศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ ของ อปท. จำนวน 17 แห่ง อาทิ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เทศบาลเมืองอุบลราชธานี เทศบาลเมืองปากช่อง เทศบาลเมืองสิงบุรี เทศบาลเมืองแม่สอด เป็นต้น ขณะที่ 3.ด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็ก หรือ ระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่โครงการพระราชดำริของ อปท.จำนวน 4 แห่ง และ หน่วยงานที่ไม่ใช่ อปท. จำนวน 1 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลเมืองปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช มีระบบบำบัดเสียจำนวน  2 แห่ง  เทศบาลตำบลหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช มีระบบบำบัดน้ำเสียจำนวน 2 แห่ง  เทศบาลตำบลชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และราชอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี

“จากการดำเนินงานของ อจน.ในทุกพื้นที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ และสามารถทำให้น้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน มีคุณภาพได้มาตรฐาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน พร้อมกันนี้ อจน. ยังได้ดำเนินการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ทุกพื้นที่ที่บริหารจัดการดังกล่าว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่และบางฤดูกาล สามารถประหยัดงบประมาณรายจ่ายและลดจำนวนการใช้น้ำประปาลง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำและเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัด ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างเสริมและรักษาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” นายชีระ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image