โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างคืบแล้ว 40% บรรเทาท่วมแล้ง

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างคืบแล้ว 40% บรรเทาท่วมแล้ง

วันที่ 17 กันยายน กรมชลประทาน จัดประชุมหารือพูดคุยร่วมกับภาคประชาชน เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอต่อกรณีการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย โดยมีตัวแทนชาวบ้านใน อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และ อ.สร้างคอม อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี กว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมด้วย

นายสมพร อารยชาติสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับชาวบ้านครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยพูดคุยทำประชาพิจารณ์ร่วมกันก่อนจะเริ่มก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย มาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อเปิดเผยความคืบหน้าของโครงการที่ก่อสร้างไปได้ถึงร้อยละ 40 แล้ว และอยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ซึ่งจะใช้สำหรับกักเก็บน้ำรวมถึงระบายน้ำลงแม่น้ำโขงหากเกิดอุทกภัย จากนั้นจึงจะเริ่มก่อสร้างในส่วนอื่น ๆต่อ รวมถึงการทำพนังกั้นน้ำ แต่เนื่องจากการสร้างพนังกั้นน้ำมีระยะทางยาวประมาณ 47 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ อ.โพพิสัย จ.หนองคาย ต่อเนื่องไป อ.สร้างคอมและอีกหลายอำเภอในจังหวัดอุดรธานี และอาจกระทบกับพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน จึงต้องประชุมพูดคุยรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่อีกครั้ง

“ทราบมาว่าบางส่วนยังกังวลกับเรื่องเงินค่าชดเชยและที่ดินทำกิน โดยในเบื้องต้น กรมชลประทานเตรียมแนวทางแก้ไขไว้รองรับความเดือดร้อนของชาวบ้านแล้ว ทั้งสำรวจผลกระทบเป็นรายครอบครัว /จัดทำงบประมาณที่จะนำไปชดเชยให้กับชาวบ้านทั้งหมด และจากการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้วมีผลตอบรับไปในทางที่ดี พร้อมสนับสนุนให้เดินหน้าก่อสร้างพนังกั้นน้ำเป็นโครงการต่อเนื่อง”นายสมพร  กล่าว

ขณะที่นายปฐมพงศ์ ศิลาคม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาหนัง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการนี้มาตั้งแต่แรก เพราะจะทำให้บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงหน้าแล้งพร้อมระบายน้ำไม่ให้เอ่อเข้าท่วมผลผลิตทางการเกษตรในช่วงฤดูฝนเหมือนที่เคยประสบกันมาทุกปีได้

Advertisement

นายทวี ศรีสร้างคอม กำนันตำบลสร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี กล่าวเสริมว่า ชาวบ้านสนับสนุนทุกแนวทางที่จะทำให้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง แล้วเสร็จตามกำหนด เนื่องจากชาวบ้านรอโครงการนี้กันมานานถึง 30 ปีแล้ว พร้อมยอมรับ ถึงชาวบ้านจะกังวลเกี่ยวกับเงินชดเชยที่จะได้จากการเวนคืนที่ดิน แต่สบายใจขึ้นเพราะเท่าที่พูดคุยกับกรมชลประทาน เชื่อว่าจะเร่งจ่ายเงินชดเชยให้ครบทุกครัวเรือน โดยปัจจุบันมีครัวเรือนที่ได้รับเงินชดเชยไปแล้วประมาณร้อยละ 50 หรือกว่า 200 ครัวเรือน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image