ปลุกสังคม ร่วมถอนพิษ อี-เวสต์

ปลุกสังคม ร่วมถอนพิษ อี-เวสต์

ปัญหาขยะล้นเกินการกำจัดเป็นปัญหาของประเทศมาตลอด โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเวสต์ (e-waste) ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่ความจริงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สร้างปัญหาต่อโลกใบนี้อย่างมหันต์ และไม่สามารถย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ

จากรายงานของ The Global E-Waste Monitor 2020 มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University, UNU) คาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะมีมากถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน ในปี 2562 และจะสูงขึ้นถึง 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2573 โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน ในปริมาณขยะทั้งหมดมีเพียง 17.4% ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลืออีกกว่า 82.6% ไม่สามารถติดตามได้

ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2563

หลักการเหตุผลประกาศฉบับดังกล่าว ก็เพราะมีความจำเป็นเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

Advertisement

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2563

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลวันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป)

ข้อ 3 ในประกาศนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่อื่นๆ สวิตช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย

ข้อ 4 ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 84 และตอนที่ 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 ตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

และเมื่อพูดถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ โจทย์สำคัญเห็นจะเลี่ยงไม่พ้นชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่เกลื่อนเมือง ในกลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า อีเวสต์เป็นหนึ่งตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หากไม่จัดการอย่างถูกวิธี จะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่พื้นดิน แหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ที่ผ่านมาเอไอเอสจึงเน้นการลดผลกระทบที่เกิดจากของเสียในการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม และจัดทำโครงการคนไทยไร้อี-เวสต์ เพื่อเป็นแกนกลางรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากโครงข่ายและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการรับจากทั่วประเทศ ไปกำจัดรวมทั้งสิ้นกว่า 710 ตัน

ดังนั้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมบริษัทได้เปิดตัวแคมเปญใหม่ “เอไอเอส อี-เวสต์ ทิ้งรับพอยต์” โดยทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นคะแนนเอไอเอส พอยต์ ใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ-แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และเพาเวอร์แบงก์ นำไปยังเอไอเอสช็อปใกล้บ้าน จากนั้นแจ้งกับพนักงานว่าต้องการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง นำขยะหย่อนลงถัง และสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อรับเอไอเอส พอยต์ ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดรวมเอไอเอส พอยต์ ได้ที่แอพพลิเคชั่น “มายเอไอเอส”

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้นมีค่าเท่ากับ 5 คะแนน โดยหนึ่งหมายเลขสามารถรับเอไอเอส พอยต์ได้สูงสุด 10 คะแนนต่อวัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2563 เพื่อนำไปแลกของรางวัลหรือส่วนลดซื้อสินค้าและบริการของเอไอเอส

ปัจจุบันโครงการมีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกว่า 52 องค์กร กว่า 2,000 จุดทั่วประเทศในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับการทิ้งอีเวสต์อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ซีอีโอสมชัย ระบุว่า ควรปฏิบัติใน 3 ขั้นตอน คือ 1.ลบข้อมูลและภาพออกจากโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต 2.ถอดเมโมรีการ์ดออกก่อนทิ้งทุกครั้ง และ 3.หากโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ และเพาเวอร์แบงก์ มีลักษณะผิดปกติ เช่น บวม หรือเปลี่ยนสี ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน และนำใส่ถุงหรือห่อกระดาษก่อนนำไปทิ้ง

คุณสมชัยทิ้งท้ายว่า ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี หากทุกคนนิ่งเฉยละเลย และไม่กำจัดอย่างถูกวิธี ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาอาจจะสายเกินแก้ จึงขอเชิญชวนร่วมภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม นำขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง หรือเพาเวอร์แบงก์ มาร่วมกำจัดกับเอไอเอสได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image