สกู๊ปหน้า 1 สำเพ็งโมเดล จุดกำเนิด ‘แวลูชุมชน’

สกู๊ปหน้า 1 สำเพ็งโมเดล จุดกำเนิด ‘แวลูชุมชน’

เป็นที่ตระหนักแล้วว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นตัวเร่งและผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างไปตามวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการดำเนินการทางธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

และถึงวันนี้ยังไม่มีใครออกมาระบุได้ว่าโควิด-19 จะยุติได้เมื่อไหร่!!

แต่การดำเนินชีวิตยังต้องอยู่ต่อไป ดังนั้น แนวคิดต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นเรื่องหลักที่ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ หนึ่งในแนวคิด คือ การสนับสนุนชุมชนและประชาชนทุกพื้นที่ให้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้เข้าถึงบริการภาครัฐและใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และปรับวิถีการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ (นิว นอร์มอล) โดย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

“ผมได้มอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต่อยอดโครงข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะของประเทศที่ทั้งสองหน่วยงานดูแล และทำโครงการนำร่องขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมือง ด้วยความเร็วดาวน์โหลดหรืออัพโหลด 100/100 เมกะบิต จำนวน 20 พื้นที่ชุมชน โดยเป้าหมายต้องการเพิ่มในชุมชนเมืองในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 10 จุด และตามชุมชนในต่างจังหวัดอีก 10 จุด ผมตั้งใจให้สามารถเปิดใช้งานได้จริงให้ครบภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้”

Advertisement

ตามแนวคิดจะเริ่มนำร่องขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมืองแรกตามโครงการดังกล่าวบริเวณพื้นที่สำเพ็ง โดยอยู่ระหว่างการประเมินทางเทคนิคว่าพื้นที่นั้นๆ ต้องใช้อุปกรณ์อย่างไรและจำนวนเท่าไร พร้อมกับสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อการใช้งานจริง ผ่านกิจกรรมหรือโครงการในแบบต่างๆ เช่น ต่อยอดการใช้งานโดยเปิดอบรมการขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของไทย อย่างแพลตฟอร์มของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่มีการให้บริการเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว และเป็นการสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ของไทยอีกทางหนึ่ง

ซึ่งเป็นอีกแนวคิดของดีอีเอสในยุคนี้ที่ต้องการรักษารายได้และตลาดการค้าออนไลน์ของไทยแทนแพลตฟอร์มจากนานาชาติที่กำลังเข้ามากลืนพฤติกรรมคนไทยที่เพิ่มการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากออนไลน์มากขึ้น หลังจากการเกิดโควิด-19 จนบางธุรกิจเลิกขายสินค้าบนร้านค้ามาเป็นรับคำสั่งซื้อจากออนไลน์แทน

ต่อไปจะเพิ่มการจูงใจให้พ่อค้า แม่ค้า หันมาใช้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์และใช้บริการของไปรษณีย์มากขึ้น โดยลดค่าจัดส่งพัสดุลงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งช่วยเพิ่มรายได้ และสอนให้พ่อค้าแม่ค้าปรับตัวรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ซึ่งระบบเครือข่ายของหน่วยงานรัฐนั้นสามารถรองรับและแข่งขันได้กับแพลตฟอร์มต่างชาติ โดยเร็วๆ นี้ ร่วมมือระหว่างแคทและทีโอที เพื่อปูทางสู่การควบรวมกิจการเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นรูปธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการจริงมกราคม 2564 สิ่งที่ได้รับหลังการร่วมมือกันครั้งนี้ คือ การทำเครือข่ายให้เข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาระบบการปกป้องข้อมูล ระบบการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ต่อไป”

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอีโอแคท กล่าวถึงวิธีการคัดเลือกว่าพื้นที่ใดจะเริ่มก่อนนั้น จะพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ในพื้นที่และชุมชนนั้นสามารถต่อยอดในเรื่องอะไรได้บ้าง บางพื้นที่อาจเป็นแหล่งหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยและต่างชาติรู้จักเป็นที่นิยมแต่ยังขาดเรื่องการค้าแบบออนไลน์ บางแห่งมีการค้าออนไลน์บ้างแล้วแต่ปริมาณไม่สูงและเห็นว่ามีศักยภาพในอนาคต ซึ่งไม่แค่เราไปติดตั้งหรือเพิ่มอุปกรณ์เพื่อให้เครือข่ายการใช้งานได้มากขึ้น แต่เราจะเข้าไปช่วยแนะนำ เพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะความชำนาญของการใช้เทคโนโลยี และเพิ่มช่องทางการจำหน่าย จากเดิมขายแบบออฟไลน์เป็นออนไลน์ด้วย

“ตอนนี้เรากำลังคัดเลือกพื้นที่นำร่องก่อน เช่น สำเพ็ง ตลาดวังหลัง (ศิริราช) แหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หรือพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินในภาคเหนือ ซึ่งหลายพื้นที่หลายแหล่งผลิตสินค้าไทยที่เคยมีการค้าขายและเป็นที่นิยมแต่เจอผลกระทบจากโควิด-19 จนความเป็นชุมชนหายไป รายได้หายไป โดยเราจะเข้าไปช่วยเรื่องการลดค่าใช้จ่าย และนำกิจกรรมต่างๆ เข้าไป เช่น สอนการถ่ายภาพอย่างไรให้ขายของได้ สอนการเปิดรับสมัครสมาชิกเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม สอนทำคลิป เป็นต้น จากนั้นก็จะดึงพันธมิตรต่างๆ มาร่วมกันผลักดันโครงการ ซึ่งประโยชน์สูงสุดก็อยู่กับประชาชนและธุรกิจภาคเอกชน” พ.อ.สรรพชัยกล่าว

โครงการนี้เป้าหมายหลัก คือ เพิ่มจำนวนผู้เข้าใช้งานด้านเทคโนโลยี สร้างความพึ่งพอใจต่อการใช้เทคโนโลยีและระบบเครือข่ายของแคทและทีโอที และสร้างรายได้ให้ชุมชนและเอกชนโดยเฉพาะการค้าการทำธุรกิจของรายเล็กๆ ในพื้นที่ชุมชนนั้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มการรับรู้พื้นที่และร้านค้าที่อยู่ในชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ซึ่งแคทเตรียมนำเสนอ 20 จุดพื้นที่ชุมชนเป้าหมายและแผนงานปฏิบัติจริง เข้าสู่การพิจารณากับดีอีเอสในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดการติดตั้งอุปกรณ์เสริมบางส่วนตามพื้นที่นั้นๆ ก่อนกดปุ่มโครงการ 1 ตุลาคมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image