สหรัฐละเมิดนโยบาย ‘จีนเดียว’

การเยือนไต้หวันของประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก (Mr.Milos Vystrcil) ไม่เพียงกระทบถึงความสัมพันธ์จีน-สาธารณรัฐเช็ก หากมีผลทางลบต่อสัมพันธไมตรีจีนกับพันธมิตรยุโรปด้วย

การเยือนไต้หวันครั้งนี้ “ท่านประธาน” ยังได้ร่วมการอภิปรายที่สหรัฐจัดขึ้นที่สำนักงานสหรัฐประจำ
ไต้หวัน (American Institution in Taiwan=AIT)

กรณีสะท้อนให้เห็นเบื้องหลังการเยือนไต้หวันคือ สหรัฐเป็นผู้กำกับการแสดง

ระหว่างที่ท่านประธานเยือนไต้หวัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เดวิด สติลเวลล์ ได้เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์สหรัฐ-ไต้หวัน กำลังดำเนินการ “ปรับปรุงครั้งใหญ่”

Advertisement

ทั้งนี้ “เดวิด สติลเวลล์” ได้รวมเรื่องราว 3 ประเด็นให้อยู่ในระนาบเดียวกัน

1.หลักประกัน 6 ข้อ เป็นคำมั่นของสหรัฐที่มีต่อไต้หวันซึ่งได้ให้ไว้ในสมัย ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ตรงกับสมัย ประธานาธิบดีเจี่ยง จิงกั๋ว ของไต้หวัน

2.แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการสถาปนาทางการทูตจีน-สหรัฐ 3 ฉบับ

3.กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันซึ่งบัญญัติโดยรัฐสภาสหรัฐ

เป็นการบ่งบอกในเชิงสัญลักษณ์ว่า นโยบายสหรัฐที่มีต่อไต้หวันมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการละเมิดนโยบาย “จีนเดียว” เจตนาไม่บกพร่อง

บัดนี้ “เส้นแดงจีนเดียว” ถูกเหยียบย่ำแล้ว

ประธานวุฒิสภาของประเทศเล็กเพียง 1 เดียวในยุโรปกลางไปเยือนไต้หวัน ได้กลายเป็นพายุลมแรง ย่อมไม่ธรรมดา น่าจะมีประเด็นทั้งภายในและภายนอก

ภายในคือ การช่วงชิงอำนาจ พรรคการเมืองที่ “ท่านประธาน” สังกัดอยู่คือฝ่ายค้านในรัฐสภา ฉะนั้น ในทางการเมือง ประธานวุฒิสภากับประธานาธิบดี
จึงเสมือนขมิ้นกับปูน

ภายนอกคือ ก่อนหน้าที่ท่านประธานเยือนไต้หวัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ไมค์ ปอม
เปโอ ได้เยือนสาธารณรัฐเช็กอย่างเป็นทางการ และได้แสดงปาฐกถาในวุฒิสภา ถ้อยคำวาจาสนับสนุนประธานวุฒิสภาเยือนไต้หวันอย่างเต็มสูบ

ดังนั้น สาธารณรัฐเช็กจึงถูกกล่าวหาว่าเป็น “สสารทดลอง” ของสหรัฐ

และถือเป็นการบริการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองของสหรัฐ

ประเด็นไต้หวัน สหรัฐมิเพียงเดินสายรวมพวกยังบังอาจทำตัวเป็นจ่าฝูงนำร่อง

การปาฐกถาของ “เดวิด สติลเวลล์” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม อันเกี่ยวกับการยอมรับความเปลี่ยนแปลง
ครั้งยิ่งใหญ่ที่สหรัฐมีต่อไต้หวัน นั้น

เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนในอดีตประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาทางการทูตกับประเทศต่างๆ ในโลกรวม 180 ประเทศ ล้วนยอมรับและเคารพจุดยืนของปักกิ่ง คือ

“ในโลกนี้มีเพียงจีนเดียว รัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนคือรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนที่แบ่งแยกมิได้”

ปี 1979 จีน-สหรัฐได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ถ้อยคำในแถลงการณ์ที่ว่า “ในโลกนี้มีเพียงจีนเดียว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน” นั้น สหรัฐแสดงจุดยืนว่า “ยอมรับ” (acknowledge) และผู้นำทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามทั้งฉบับภาษาจีนและอังกฤษด้วยแล้ว

ส่วน “หลักประกัน 6 ข้อ” เกิดขึ้นปี 1982ผู้อำนวยการ AIT ประจำไต้หวันได้รายงานต่อ “เจี่ยง จิงกั๋ว” ประธานาธิบดีไต้หวันด้วยวาจา สรุปพอเป็นสังเขปว่า

“สหรัฐยังไม่กำหนดวันยุติจำหน่ายอาวุธให้แก่ไต้หวัน และยังไม่เห็นชอบการเจรจากับปักกิ่งอันเกี่ยวกับการจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวัน ยังไม่เห็นชอบการเป็นผู้ทำการประนีประนอมเกี่ยวกับปัญหาสองฝั่งช่องแคบ ยังไม่เห็นชอบการแก้ไขกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน และการละเมิดอธิปไตยของไต้หวัน ตลอดจนไม่บังคับให้ไต้หวันทำการเจรจากับปักกิ่งตลอดไป”

เป็นครั้งแรกในรอบ 38 ปีที่มีการเปิดเผยถึง“เทเลแกรมการทูต”

หากพินิจถึง “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ข้อ” ของสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการย้อนแย้งกับนโยบายจีนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการลบล้างแถลงการณ์ร่วมในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-สหรัฐ 3 ฉบับ

ห่างไกลจากพื้นฐาน “นโยบายจีนเดียว” ของปักกิ่ง

หากพิเคราะห์ถึง “หลักประกัน 6 ข้อ” ของสหรัฐนั้น เป็นเพียงคำมั่นของสหรัฐว่าไม่ทรยศไต้หวันเท่านั้น ส่วนหลักการพื้นฐานที่ไม่ทำการประนีประนอมปัญหาของ 2 ฝั่งช่องแคบนั้น

วันนี้ไต้หวันใช้ “ทรัมป์บริการ” อย่างมีความสุข

สุขถึงขั้นยอมรับการยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยก

กรณีจึงเกินเลย “หลักประกัน 6 ข้อ” ไปไกลมากแล้ว

ตั้งแต่ต้นปี 2020 สหรัฐทำการท้าทายนโยบายจีนเดียวมาโดยตลอด

จนถึงจุดที่เรียกว่า “Bottom line” ของปักกิ่ง อาทิ

1 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐและไต้หวันได้มีการออกประกาศล่วงหน้าพร้อมกัน

1 เมื่อต้นเดือนกันยายน รัฐบาลสหรัฐได้เสนอให้มีการเปิดเวทีสนทนาระหว่างไต้หวันและสหรัฐเกี่ยวกับเศรษฐกิจและพาณิชย์ ทั้งนี้ โดยมีคณะทำงานของสหรัฐนำโดย “Keith Krach” รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปไต้หวันอย่างเป็นทางการ ถ้างานนี้สำเร็จก็ต้องถือว่าเป็นการเยือนไต้หวันของข้าราชการสหรัฐที่มีตำแหน่งสูงสุด

ปัญหาไต้หวันถูกมองว่าเป็นผลประโยชน์หลักของจีนมาโดยตลอด นโยบายจีนเดียวก็ถูกมองว่าคือเส้นแดงของจีนตลอดมาเช่นกัน

ระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา สหรัฐพยายามใช้วิธีโยนหินถามทาง โดยเสี้ยมให้ประเทศเล็กบางประเทศลองแตะเส้นแดงของจีน

ล้วนเป็นเรื่องระคายเคืองต่อจีน แต่จีนก็ไม่มีบทบาทตอบโต้ที่โดดเด่น หากย้อนมองอดีต

ปี 1981 เนเธอร์แลนด์ได้อนุมัติสร้างเรือดำน้ำให้ไต้หวัน 2 ลำ เป็นเหตุให้ปักกิ่งลดความสัมพันธ์ของสองประเทศลงไปอยู่ที่ระดับตัวแทน (Agent level)

ปี 1992 ฝรั่งเศสอนุมัติขายเครื่องบินรบที่เรียกว่า Phantom Fighter ให้แก่ไต้หวัน ปักกิ่งสั่งปิดสถานกงสุลฝรั่งเศสประจำกว่างโจวโดยพลัน และยกเลิกโครงการก่อสร้างรถไฟใต้ดินกว่างโจว ตลอดจนงานการก่อสร้างสาธารณูปโภคซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือพื้นฐานจีนและฝรั่งเศสทั้งหมด ถือเป็นการตอบโต้ที่ค่อนข้างรุนแรง

แต่วันนี้ ปฏิบัติการของรัฐบาลจีนในการอันเกี่ยวกับความท้าทายปัญหาจีนเดียวนั้น ไม่เข้มข้นเหมือนอดีตที่ผันผ่าน มีเพียงการตอบโต้ด้วยวาจา ส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านตามร่างที่พรรคหรือรัฐบาลสั่งการมาเท่านั้น และเรื่องก็จบกันตรงนั้น

กรณีเสมือนกับฟ้าร้องดัง แต่ฝนไม่ตก

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป “เส้นแดงจีนเดียว” คงไม่ต่างไปจาก “จ่าเฉย” ตามสี่แยกของเมืองไทย

บัดนี้ การรับรองไต้หวันในทางการทูตอย่างเป็นทางการของสหรัฐนั้น กระชับเข้ามาแล้ว

ต้องไม่ลืมว่า นโยบายจีนเดียว เป็นเรื่องเปราะบาง อ่อนไหว และล่อแหลมยิ่ง

คำกล่าวของ “เดวิด สติลเวลล์” นั้น คือ

สัญญาณอันตราย

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image