รัฐสภาถก 6 ญัตติ’แก้รธน.’ จับตา 84 ส.ว.ถอดชนวนร้อน

รัฐสภาถก 6 ญัตติ’แก้รธน.’ จับตา 84 ส.ว.ถอดชนวนร้อน

จับตาวาระการประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 23-24 กันยายนนี้ เพื่อพิจารณาประเด็นร้อนทางการเมือง
ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมประชาชนปลดแอก
นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่ประชุมรัฐสภาจะต้องพิจารณา 6 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 1 ญัตติ และพรรคเพื่อไทย(พท.) รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน อีก 5 ญัตติ
โดยญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีหลักการคล้ายกัน ของทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพท. คือ ญัตติการเสนอแก้ไข มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรม และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่รายละเอียดที่มาของส.ส.ร. ยังมีความแตกต่างกัน
โดยร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้มีส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และคัดเลือก 50 คนจากนักวิชาการ โดยมีตัวแทนนักศึกษาด้วย และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จใน 240 วัน
ส่วนร่างของพรรคพท. เสนอให้เลือกตั้งส.ส.ร.ทั้งหมด 200 คน และยกร่างรัฐธรรมให้เสร็จใน 120 วัน

ขณะที่ 4 ญัตติเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ ญัตติที่ 1 เสนอแก้ไขมาตรา 272 และมาตรา 159 เพื่อยกเลิกอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ และเพิ่มเติมในมาตรา 159 ว่า นายกฯนอกจากเลือกจากบัญชีพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย

ญัตติที่ 2 เสนอแก้ไข มาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย

Advertisement

ญัตติที่ 3 เสนอแก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และ

ญัตติที่ 4 เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิก มาตรา 83, 85, 88, 90, 92 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกผู้สมัครแบบเขต และเลือกพรรค

ขณะที่ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน อย่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่นำรายชื่อประชาชน 100,732 รายชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯ
มีข้อเสนอคือ ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญในเนื้อหาสาระที่คล้ายกับ 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้เสร็จใน 360 วัน

Advertisement

ขณะที่ข้อตกลงของวิป 3 ฝ่ายในการอภิปรายและลงมติของที่ประชุมรัฐสภานั้น จะแบ่งเวลาการอภิปรายให้ 3 ฝ่ายคือส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา(ส.ว.) ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาทีเท่ากัน
โดยจะให้พิจารณารวมทั้ง 6 ญัตติไปพร้อมๆ กันจนจบ จากนั้นจะให้ลงมติโดยวิธีขานชื่อรายบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะขานทีเดียวว่าจะรับหรือไม่รับญัตติทั้ง 6 ฉบับ เพื่อประหยัดเวลา

ขณะท่าทีและสัญญาณของส.ว.ล่าสุดภายหลังจากการประชุมของวิป 3 ฝ่าย แม้ขณะนี้เสียงสนับกับไม่สนับให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติยังคงก้ำกึ่งกัน
แต่จากท่าทีของ ส.ว.บางคน ออกมาระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ส.ว.จะโหวตสนับสนุนญัตติการแก้ไขรัฐธรรม มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนอีก 5 ญัตติของพรรคพท. และพรรคร่วมฝ่ายค้านส.ว.อาจจะโหวตไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาในช่วงการลงมติ 6 ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 24.00 น.วันที่ 24 กันยายนนี้ว่า สมาชิกรัฐสภาที่ขณะนี้มี 738 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 750 เสียง
จะโหวตให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ได้เดินหน้าต่อหรือจะคว่ำทั้ง 6 ญัตติ
เสียงของที่ประชุมรัฐสภาที่ต้องไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งคือ 369 เสียง โดยในจำนวนนี้จะต้องมี เสียงของ ส.ว. 84 เสียง ร่วมชี้ขาดด้วย
ผลการโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอีกหนึ่งชนวนร้อนทางการเมืองหรือไม่ คงต้องติดตาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image