รัฐสภา เกมพลิก ยื้อแก้ รธน. วิกฤต เชื่อมั่น

รัฐสภา เกมพลิก ยื้อแก้ รธน. วิกฤต เชื่อมั่น

เหตุการณ์การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23-24 กันยายน จบลงท่ามกลางความห่วงกังวล

ห่วงกังวลที่ผลการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา ด้วยมติ 432 ต่อ 255 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติ โดยใช้เวลา 30 วัน

กลายเป็นการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประการแรก คือ ยื้อการลงมติญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป 30 วัน เป็นอย่างน้อย

Advertisement

หมายความว่า การลงมติญัตติดังกล่าวจะเกิดขึ้นในการประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมหน้า

ประการที่สอง คือ หากการลงมติญัตติดังกล่าวในสมัยการประชุมหน้าแล้ว ผลออกมาว่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

หมายความว่า ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องรอไปยื่นอีกครั้งในปีหน้า เพราะตามข้อบังคับไม่สามารถยื่นญัตติซ้ำกันได้ในสมัยการประชุมเดียวกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า รัฐสภาจะคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หรือหากจะระบุให้ชัด นั่นคือ สัญญาณจากรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา

ต้องการจะคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สัญญาณการคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้แจ่มชัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน แม้ก่อนหน้านี้จะเคยหลุดออกมาจากสมาชิกวุฒิสภาบ้างแล้ว

ความแจ่มชัดดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ก่อนหน้าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีสัญญาณดี

เมื่อ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลอ่านข้อความนำเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แก้ไขมาตรา 256 และเสนอให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส.ส.ร.ในร่างของพรรคร่วมรัฐบาลแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก มาจากการเลือกตั้ง 150 คน อีกส่วนหนึ่งมาจากสัดส่วน 50 คน

ก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาลประกาศว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาลที่ส่ง นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผลสรุปของคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล ต่างประชาสัมพันธ์ว่าเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ขัดข้องหากจะมีการแก้ไข

ทุกฝ่ายจึงจับตาที่วุฒิสภา เพราะต้องมี ส.ว.มากกว่า 84 คน โหวตเสียงสนับสนุน

ดังนั้น หากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องตกไปเพราะ ส.ว.ไม่เอาด้วย ก็ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความคาดหมาย

แต่เมื่อจู่ๆ นายวิรัชประธานวิปรัฐบาลอภิปรายสรุป

เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

และเมื่อมติที่ประชุมรัฐสภาออกมาสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวอย่างท่วมท้น

ข้อข้องใจเรื่อง “ถูกหลอก” และ “ถูกต้ม” ก็กระหึ่ม

ผลจากการลงมติดังกล่าวกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ในรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่าลืมว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่การที่พรรคฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านเร่งดำเนินการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา เพราะมีแรงกดดันจากภายนอก

หลังจากนักเรียนนิสิตนักศึกษาทั่วทั้งประเทศเริ่มรวมตัวกันเรียกร้อง 3 ข้อ

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงคาดหมายกันว่า หากรัฐสภารับพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นการช่วยบรรเทาสถานการณ์

ช่วยลดอุณหภูมิทางการเมือง โดยใช้รัฐสภาเป็นกลไกแก้ไข

และที่ผ่านมาทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านได้ดำเนินการมาจนกระทั่งญัตติเข้าสู่ที่ประชุม

แต่เมื่อถึงห้วงเวลาที่จะต้องลงมติ พรรคแกนนำรัฐบาลกลับ “หักมุม”

ความรู้สึกถูกต้มจึงอุบัติ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อการประชุมรัฐสภายุติ กลุ่มผู้ชุมนุมที่มารอฟังผลการประชุมด้านนอกรัฐสภาจึงตะโกนด่า

และเรียกร้องให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่ประชุมไม่ร่วมสังฆกรรมคณะกรรมาธิการศึกษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาตั้งขึ้น ให้ออกไปเคลื่อนไหวนอกสภา

ตอกย้ำให้เห็นวิกฤตความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้น

วิกฤตความเชื่อมั่นย่อมนำไปสู่ความหวาดระแวง และความเสื่อมศรัทธาต่อรัฐสภา ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น เท่ากับว่าการเมืองไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น กำลังอ่อนเปลี้ยกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่กระหน่ำซัดเข้าใส่อยู่ทุกวัน

แม้รัฐบาลจะพยายามดำเนินการใดๆ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้น แต่ประชาชนก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสตางค์

กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลง ครม. เปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี

และกำลังขยับไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ

ขณะที่สถานการณ์ของรัฐบาลล่อแหลมต่อความน่าเชื่อถือ รัฐสภาก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

มติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ แม้จะไม่ใช่การคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ทำให้สถานภาพของรัฐสภาพลิกผัน

เปลี่ยนจาก “ผู้แก้ปัญหา” กลายเป็น “ผู้สร้างปัญหา”

การเมืองไทยยามนี้จึงมองข้ามไปถึงเดือนตุลาคมที่จะถึง

มองด้วยสายตาที่เป็นห่วงกับความเคลื่อนไหวนอกสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image