สกู๊ป น.1 : มท.ปลดแอก ‘ท้องถิ่น’ ดีเดย์ธ.ค.เลือกอบจ.

หลังจากมีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะแถลงการณ์จากกลุ่ม 105 นักวิชาการ นำโดย นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.) เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภทโดยเร็ว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นนานหลายปี หลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ล่าสุดการเลือกท้องถิ่นกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกครั้ง แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาบังคับใช้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 หลังจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ออกมาส่งสัญญาณยืนยันว่าได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยหารืออย่างไม่เป็นทางการกับเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นบางรูปแบบ

ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อมีมติเห็นชอบให้มีการเลือกตั้ง อปท.ในรูปแบบที่มีความพร้อมก่อนสิ้นปี 2563 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ และคาดว่า อปท.ที่มีความพร้อมมากที่สุด น่าจะเป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ ส.อบจ.ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

สำหรับ อบจ.มีการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2555 นับถึงปัจจุบัน 8 ปี นายก อบจ.ที่ได้รับเลือกตั้งเดิม ปฏิบัติหน้าที่ 2 วาระต่อเนื่อง โดยไม่มีการเลือกตั้ง จากการใช้มาตรา 44 ของ คสช. สั่งให้รักษาาการ บางแห่งมีปลัด อบจ.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจากกรณีที่ คสช.ใช้มาตรา 44 สั่งให้นายก อบจ.บางจังหวัดยุติการปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โอกาสในการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ.ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศในเดือนธันวาคมนี้ มีสูงกว่า 90% ขณะที่ กกต.ได้แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.อบจ.ตามสัดส่วนจำนวนประชากรเรียบร้อยแล้ว และ อบจ.ได้เตรียมพร้อมในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการเลือกตั้งไว้แล้ว ประกอบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำบันทึกเหตุผลเสนอ ครม.ให้มีช่วงวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 10-13 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับไปภูมิลำเนาเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง


“คาดว่าการเลือกตั้งที่เหมาะสมจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2563 ผมเป็นคนแรกได้ประกาศวันเลือกตั้งไว้ล่วงหน้านาน 2 เดือน หรืออย่างช้าสุดควรจะเป็นวันที่ 20 ธันวาคม แต่จะต้องมีมติในการประชุม ครม.ในวันที่ 29 กันยายน หรือการประชุม ครม.วันที่ 6 ตุลาคมนี้ เป็นอย่างช้า จากนั้นเมื่อ กกต.มีประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่นจะต้องหยุดการทำหน้าที่ 60 วันก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งในระดับ อบจ. หากปล่อยผ่านให้พ้นเดือนธันวาคมปีนี้ จะมีปัญหาเนื่องจาก กกต.จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ต้องเสียเวลาอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน”Ž นายชำนาญกล่าว

นายชำนาญกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าวิตกสำหรับการเลือกตั้ง อบจ.มาจากปัญหาทางการเมืองในระดับชาติ หากเร็วๆ นี้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ จากการนัดหมายชุมนุมครั้งใหญ่แบบปักหลักพักค้างในเดือนตุลาคมนี้ อาจมีผลกระทบกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง อบจ. หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังไม่มีข้อยุติในการพิจารณาร่างญัตติการแก้ไขร่างธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ และการชุมนุมใหญ่อาจทำให้มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น หรือมีการยุบสภา อาจมีการอ้างเหตุความจำเป็นเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ทางออกที่ดีที่สุดรัฐบาลควรหาวิธีการจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด และหาแนวร่วมเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่ายังมีความหวังในการใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ขณะที่ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ออกหาเสียงล่วงหน้านานแล้ว

Advertisement

ด้าน นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าใจว่าวันหยุดยาวประชาชนจะเดินทางกลับต่างจังหวัด เพื่อไปเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่ือน เนื่องจากอานิสงส์ที่ทำให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งจากวันหยุด จะต้องเป็นกรณีจัดเลือกตั้งในช่วงวันกลางๆ ของวันหยุดยาว แต่การที่ ครม.จะเคาะวันหยุดเพิ่ม แล้วทำให้วันที่ 13 ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายของวันหยุดยาวนั้น วันที่ 13 ธันวาคม จะเป็นวันที่ประชาชนต้องเดินทางกลับไปทำงาน


“นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาจากการสรรหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เนื่องจากช่วงวันหยุดยาว กปน.อาจจะทำกิจกรรมส่วนตัวมากกว่าไปทำงานที่หน่วยเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้ง อบจ.ในบางจังหวัดจะต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง กปน.ประมาณ 1 หมื่นคน ในทางปฏิบัติจึงเป็นปัญหา และตามหลักการเชื่อว่า กกต.ทราบดีว่าวันหยุดยาวไม่ได้เป็นประโยชน์กับการจัดเลือกตั้ง รวมทั้งการซักซ้อม การเตรียมการ เตรียมวัสดุ เตรียมคน ปัญหาการขาดผู้ปฏิบัติหน้าที่ของ กปน.”Ž นายบรรณกล่าว และว่า การจัดเตรียมบัตรเลือกตั้ง ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ข้อ 134 กำหนดให้ กกต.เป็นผู้กำกับ ควบคุมการจัดพิมพ์และการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง และต้องจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์ โดย กกต.มอบหมายให้เป็นผู้จัดพิมพ์

นายบรรณกล่าวอีกว่า หากจะเทียบระหว่างการเลือกตั้งวันที่ 13 ธันวาคม หรือวันที่ 20 ธันวาคม หากจะทำให้การจัดเลือกตั้งราบรื่น อุปสรรคน้อย วันที่ 20 ธันวาคม น่าจะเหมาะสมมากกว่า และช่วยให้การเว้นวรรคตำแหน่งของผู้บริหารเดิม ได้ถึง 60 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ถ้าหากจะปักหมุดเลือกตั้งวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ครม.ควรจะบรรจุวาระและมีมติในเดือนกันยายนนี้ หากรอพิจารณาในที่ประชุม ครม.ต้นเดือนตุลาคม จะมีปัญหาจากการสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นตำแหน่ง ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หากจะให้พ้นโดยฉับพลันทันทีจะมีผลกระทบกับการบริหารงานท้องถิ่น

นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ อดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีมติ ครม.และ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ยืนยันว่า อบจ.ทั่วประเทศมีความพร้อมทั้งบุคลากรและงบประมาณเพียงพอตามที่มีหนังสือสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยหลายครั้ง แม้ว่าจะต้องเพิ่มงบในส่วนของการจัดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มจากเดิม ตามมาตรการป้องกันในสถานการณ์โควิด-19 และหากมีการจัดเลือกตั้งในวันที่ 13 ธันวาคม

“กังวลว่าในช่วงวันหยุดยาวจะมีประชาชนให้ความสนใจเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามเป้าหมายหรือไม่ และขอให้ ครม.และ กกต.ร่วมกันพิจารณา กรณีการสั่งให้ผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งรักษาการ ควรมีระยะเวลาที่จะให้นายก อบจ.ได้สะสางงานเดิมที่คั่งค้างและมอบหมายภารกิจให้ปลัด อบต.ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการบริหารงานท้องถิ่นโดยภาพรวมŽ” นายอนุวัธกล่าว

นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับ กกต.จัดประชุมสัมมนาเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยประสานงานกับเครือข่ายเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ในการออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งและปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง ลดปัญหาข้อร้องเรียนจากการทุจริต การซื้อเสียง เจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลาง มีหัวหน้ากลุ่มงานจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม กกต.จังหวัดให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยรอ ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดวันเลือกตั้งก่อน จากนั้น กกต.จึงจะสามารถออกประกาศการเลือกตั้งได้

นายเสน่ห์ รักษ์รงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำ จ.สงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง กกต.กลางและ กกต.จังหวัด มีความพร้อมในการกำกับดูแลการเลือกตั้ง อปท.นานแล้ว โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการควบคุมการเลือกตั้งที่จะได้รับจัดสรรจาก กกต.กลาง และก่อนจะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง กกต.หลายจังหวัดได้จัดอบรมวิทยากรระดับอำเภอ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย สามารถไปถ่ายทอดวิธีการทำงานให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) คาดว่าจะมีการอบรม กปน.อีกครั้ง หลัง กกต.กลางประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว ส่วนงบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อปท.จะเป็นผู้รับผิดชอบ และยืนยันว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งของ อบจ.ทุกจังหวัดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image