ฝนมาฟ้าฉ่ำ พร้อมท่วม กรุงเก่าคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พร้อมรับปัญหา

ฝนมาฟ้าฉ่ำ พร้อมท่วม กรุงเก่าคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พร้อมรับปัญหา

นํ้าท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 นับเป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน และธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

“เมื่อปี 2554 พบมีปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลหลากลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ถึง 4,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเกินความสามารถในการรับปริมาณน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาที่จะรองรับได้เพียง 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกทั้งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ผ่านมาการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียงปริมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบางจุดก็เกิดปัญหาอุทกภัยได้ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นคอขวด ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลงเหลือเพียง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำชากเป็นประจำทุกปี และมีผลกระทบรุนแรงในปีที่มีปริมาณน้ำมาก” เสริมชัย  เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เล่า

เสริมชัย  เซียวศิริถาวร

Advertisement

เขาบอกถึงแผนบรรเทาอุทกภัยว่า ได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน โดยโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 9 แผนงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา และบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องขุดคลองระบายน้ำสายใหม่

“การก่อสร้างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณก่อนเข้าตัวเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ถึง 2,930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่เกิดผลกระทบกับบ้านเรือนริมตลิ่งที่อยู่ในคันกั้นน้ำ” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่กล่าว

สำหรับโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย 6 แผนงาน คือ 1.ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ มีความยาวประมาณ 22.50 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัสติคคอนกรีตบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง ผิวจราจรมีความกว้าง 8 เมตร 2.อาคารบังคับน้ำ ประเภทประตูระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง-ปตร.ปลายคลองระบายน้ำหลาก ขนาดบาน 12.50×9.50 ม. จำนวน 4 บาน อัตราการระบายน้ำสูงสุด1,200 ลบ.ม./วินาที และมีประตูเรือสัญจร ขนาดกว้าง 25.00 ม. ยาว 240.00 ม. จำนวน 1 ช่อง 3.สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายนํ้าหลาก จำนวน 11 แห่ง 4.อาคารประกอบคลองระบายน้ำ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ และท่อระบายน้ำ บริเวณจุดตัดของคลองระบายน้ำหลากกับคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิม 36 แห่ง

5.กำแพงป้องกันตลิ่งบริเวณปลายคลองจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวประมาณ 4.15 กม. 6.ปรับปรุงและก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบพื้นที่โครงการพร้อมอาคารประกอบ ความยาวรวม 54 กม.

ประโยชน์ของโครงการนี้ สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 1.9-2.5 ล้านไร่/ปี และสามารถลดระดับความลึกของน้ำท่วมลงได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตรกรรมรวม 229,138 ไร่ มีแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งเพื่ออุปโภค-บริโภค 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน และยังเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นถนนบนคันคลองซึ่งจะเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างอำเภอบางบาล และอำเภอบางไทร และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

นอกจากโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรแล้ว ยังมีอีก 8 แผนงานที่ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหากแผนบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวนทั้ง 9 แผนงานเสร็จสิ้นจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image