สูงวัย 4.0 ปักหมุด‘วัฒนธรรม’ เช็กอิน‘ชุมชน’หนทางสู่ท่องเที่ยวยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ถึงความซบเซาของการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างแทบจินตนาการไม่ออกในยุคก่อนหน้าการมาเยือนของไวรัสโควิด-19 ที่นำพาเศรษฐกิจให้ยิ่งดิ่งลงอย่างระทึกขวัญ

เม็ดเงินมหาศาลที่มาจากนักเดินทางต่างชาติในแต่ละปี แทบหายวับไปกับตา

รัฐบาลพยายามอัดฉีดด้วยแคมเปญต่างๆ สร้างแรงจูงใจให้คนไทยเก็บกระเป๋าออกไปกระจายรายได้ ชิม ช้อป ใช้ และเช็กอิน

หนึ่งในแนวทางการท่องเที่ยวที่เคยพูดกันมานานในด้านความยั่งยืนก็คือ การท่องเที่ยวชุมชน

Advertisement

ประเด็นวัฒนธรรมที่ไม่ใช่เพียงภาพอลังการ หากแต่รวมถึงวิถีชีวิตการกิน อยู่ พักผ่อน นอนสบายในบ้านเรือนท้องถิ่นถูกนำออกมาส่องสปอตไลต์

และในวันที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีทั้งเวลาและทุนทรัพย์

นี่จึงเป็นอีกห้วงเวลาที่ไทยเที่ยวไทยคือการให้กำลังใจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน

‘นาเชิงคีรี-บ้านทุ่งหลวง’ประวัติศาสตร์

เรื่องเล่า เคล้าวิถีชุมชน

“ปัจจุบันมีการรวมตัวของชุมชนเป็นสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็น 1 ใน 3 สมาคมที่มีการจัดตั้งขึ้นนอกเหนือจากกระบี่และเชียงใหม่ ที่มีเป้าหมายทำงานร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในการเข้าไปส่งเสริมให้เกิดนักพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อนำชุมชนเข้าสู่แผนการท่องเที่ยวโดยชุมชนพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand ซึ่งชุมชนนาเชิงคีรีและทุ่งหลวง อพท.ได้ร่วมกับชุมชนพัฒนามาเป็นระยะเวลา 3 ปี นำเอาทุนทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นจิตวิญญาณและความศรัทธาผ่านเรื่องเล่าและตำนานจากนักสื่อความหมายที่เป็นคนรุ่นเก่าผสมผสานกับการบริหารเส้นทางการท่องเที่ยวโดยคนรุ่นใหม่ โดยมีเขาหลวงเป็นแกนกลางของชุมชน”

เป็นคำอธิบายที่มาในเชิงหลักการของ ประคอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) ที่พยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันส่งเสริมและเชิญชวนให้ผู้คนร่วมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในเส้นทางชุมชน “นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง” พื้นที่สุดพิเศษในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเที่ยวได้ทุกวัย ไม่มียกเว้น

หยอดน้ำตาลปึก

ไฮไลต์ที่ อพท.ผายมือโปรโมต ได้แก่ “วัดเชิงคีรี” ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ศิลปะสุโขทัยอันงดงามอมตะ โดยมีลูกนิมิตทรงไข่ซึ่งพบเมื่อครั้งบูรณะโบสถ์ใหม่ นั่ง “รถคอกหมู” เลี้ยวขวาจากวัดเชิงคีรีเข้าสู่ “ถนนพระร่วง” เชื่อมสุโขทัย-กำแพงเพชร มุ่งสู่หมู่บ้านนากาหลง หยอดน้ำตาลปึกที่บ้าน ป้าทองสุข อิ่มบู่ ซึ่งมีอาชีพหลักคือทำนาปีละครั้ง ส่วนน้ำตาลคืออาชีพเสริม จบกิจกรรมรับน้ำตาลปึกติดไม้ติดมือ

รถคอกหมู เที่ยวสุโขทัยต้องได้ขึ้น

แล้วไปต่อที่ “หมู่บ้านเกลียวทอง” ลองประดิษฐ์ว่าวใบไม้บูชาพระร่วง ทำจากใบไม้ในเขาหลวง อย่างใบแซงแซว ใบป่อแป่ ใบทอง และใบตองตึงอธิษฐานหวังฟ้าฝนอุดมสมบูรณ์ดังเช่นวาจาสิทธิ์แห่งพระร่วงเจ้า แล้วเข้าสักการะแม่ย่า ณ “ถ้ำพระแม่ย่า” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสุโขทัยภายใต้ความเชื่อว่าแม่ย่าคือ “นางเสือง” พระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหง

ปิดท้ายที่การช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวไรซ์เบอรี่ ที่พิเศษด้วยเติบโตจากน้ำบน “เขาสรรพยา”

จากนั้นลุยต่อที่ชุมชน “บ้านทุ่งหลวง” สักการะ “หลวงปู่ต่วน” เกจิดังแห่งวัดลาย แล้วเยี่ยมชมวิทยาลัยใต้ถุนบ้าน แหล่งเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาปลาบู่ทอง ซึ่งสร้างอาชีพและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงวันนี้ รวมถึงลองฝึกปั้นเครื่องปั้นสร้างสรรค์ ณ วิทยาลัยใต้ถุนบ้านของ “บ้านจันทร์แรม” ซึ่งมี “ยายโหง” วัย 87 ปี ที่ยังคงนั่งปั้นเครื่องปั้นดินเผาอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

เอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบ (ดินแดง) ถือเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของบ้านทุ่งหลวงที่ชาวบ้านทำเป็นรายได้เสริมกว่า 100 หลังคาเรือน และมีถึง 30% ยึดเป็นรายได้หลัก ส่งขายทั่วราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ผ่านชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตำบลนาเชิงคีรี โทร 08-8154-7953 และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนทุ่งหลวง โทร 08-5973-7080

สูงวัย‘สายมู’ เสริมชะตาในอารยธรรมปราสาทหิน

จากพื้นที่พิเศษที่พรีเซ็นต์โดย อพท. ลองปรับเข็มทิศสู่เส้นทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือผลักดันสุดกำลัง หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หลังผล
กระทบจากวิกฤตโควิด-19 พ่นพิษจนอ่อนแรง โดยจับมือกับพันธมิตรอย่าง “GoodAge” ภายใต้ บริษัท ไลอ้อน คอปอเรชั่น (ประเทศไทย) จัดกิจกรรม “ตามรอยกษัตรา เสริมชะตา อารยธรรมพันปี” เปิดโฉมเส้นทางประวัติศาสตร์นครราชสีมา-บุรีรัมย์ โดยผูกโยงอารยธรรม กับ
“มูเตลู” ลงลึกถึงความรู้ทางโหราศาสตร์ นำเสนอเอกลักษณ์ท้องถิ่นชุมชนทอผ้า งานหัตถศิลป์ที่ส่งเสริมผู้สูงอายุรวมถึงผู้พิการในพื้นที่ นำเสนอแนวทางการท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลอดภัยห่างไกลจากโควิด-19 โดยไม่ทำให้อรรถรสในการท่องเที่ยวสูญเสียไป เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ตุ้ย ธีรภัทร์ ร่วมเดินทาง

ยุทธศาสตร์นี้หวังสร้างสรรค์ประสบการณ์ท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่ายด้วยสินค้ามูลค่าสูง ภายใต้โครงการ Isan Exclusive โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ด้วยการนำเสนอสินค้างานฝีมือ ซึ่งสะท้อนวิถีไทยอีสาน เพื่อเป็นการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวยุคใหม่สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย

หมอโอม ให้ความรู้โหราศาสตร์

สำหรับไฮไลต์น่าสนใจ ไม่พ้นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่องชื่อแห่งตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ทำเวิร์กช็อปร้อยกำไลดินเผาสีสันต่างๆ เพื่อเสริมดวงมงคล ตามหลักความเชื่อทางโหราศาสตร์ ชมความงามอันซีนอีสาน อย่าง “ปราสาทหินพนมวัน” ที่ตั้งตระหง่านในอำเภอเมืองโคราช จากความเชื่อทางเทวนิยมสู่พุทธสถาน กราบสักการบูชา รับพลังบวก เสริมมงคล

นุ่งซิ่นเยือน อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ ไต่บันไดนาคสู่ความอลังการของศิวาลัยที่สร้างโดยเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์ขอมผู้สร้างปราสาทนครวัด โดยมี หมอโอม ถอดรหัสชีวิต ชี้จุดมงคลขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมเคล็ดลับนำไหว้ อาทิ ใบกะเพรา ใบมะตูม เทียนธูป เทวดาประจำทิศเสริมดวงชะตา อธิษฐานจิตบูชาศิวลึงค์หินเก่าแก่สิ่งแทนแห่งศิวะเทพ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ และศิวนาฏราช
นั่งรถอีแต๋นชมวิถีชุมชนบ้านโคกเมือง แวะสักการะอโรคยาศาล ลอดซุ้มปราสาทหินพันปี ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ เสริมพลังสุขภาพ ชมกลุ่มทอผ้า ไหมมัดหมี่ ชมผ้าทอลายเอกลักษณ์ประจำถิ่น ลายผักกูด ลองทำผ้ามัดย้อมหมักโคลนพันปี ย้อมสีธรรมชาติ ร่วมส่งเสริมผู้สูงอายุและผู้พิการให้มีงานมีอาชีพ เช่น บ้านทอเสื่อและผลิตภัณฑ์จากต้นกก และก่อนจะนั่งรับประทานอาหารขันโตกท้องถิ่นอีสานแบบ “นิว นอร์มอล” เว้นระยะห่างทางกาย แต่ใกล้ชิดทางวัฒนธรรม

ไม่เพียงอารยธรรมเก่าแก่ หากแต่บรรยากาศโก้หรูดีไซน์โมเดิร์นก็ยังอยู่ร่วมกับเมืองเก่าได้อย่างลงตัว ที่โรงแรม MO-DENA by Fraser Buriram (โมเดน่า บาย เฟรเซอร์ บุรีรัมย์)

กัณฑชิต ศรัณย์บันฑิต ผู้จัดการแบรนด์ GoodAge ผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัย ระบุว่า ข้อมูลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาพฤติกรรมผู้สูงอายุในยุค 4.0 ได้เจาะลึกในชีวิตเพิ่มเติมใน lifestyle ของคนกลุ่มนี้ พบว่าจริงๆแล้วไม่ได้แตกต่างจากวัยหนุ่มสาวเลย ได้แบ่งประเภทของวัยเก๋าเป็น 5 วัย และวัยที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่จะทำเป็นวัยสายชิลล์สายลุย เป็นวัยที่ต้องใช้ชีวิต กว่า50%ของกลุ่มนี้ ชอบท่องเที่ยว พักผ่อน ทำกิจกรรม และ GoodAge เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาวะของผู้สูงวัย(อายุ50 ปีขึ้นไป) เราเป็นเหมือนเพื่อนที่จะดูแลให้มีสุขภาวะวัยที่ดี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จึงสอดคล้องกับกิจกรรมที่เราได้ร่วมเป็นพันธิตรกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในโครงการ ตามรอยกษัตรา เสริมชะตา อารยธรรมพันปี และส่วนหนึ่งปีนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวดรอปมาก ถือว่าแบรนด์มีส่วนช่วยในธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย อะไรที่สามารถช่วยสังคมให้สมบูรณ์ได้ทางแบรนด์ก็ยินดีสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกันนี้เรายังได้จัดถุงปันสุขผลิตภัณฑ์กู๊ดเอจไปมอบให้กับชุมชนที่เราไปทำกิจกรรมด้วย

“เราจะไม่หยุดนิ่งที่จะหากิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มลูกค้าวัยเก๋าให้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่สมบูรณ์สมวัย” กัณฑชิตกล่าว

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเส้นทางและกิจกรรมที่ทั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมใจผลักดัน เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ผู้คนสัมผัสวิถีชีวิตผ่านกิจกรรม เพื่อให้เกิดการบอกต่อประชาสัมพันธ์ชวนกันมาท่องเที่ยวภายในประเทศอีกครั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image