มีวุฒิสภาไปทำไม?

ประเทศไทยปัจจุบันเราใช้ระบบ 2 สภานัยว่าลอกเลียนระบบ 2 สภานี้มาจากประเทศอังกฤษ กล่าวคือเป็นระบบการปกครองที่มีรัฐสภาสองสภา ดังนั้น ระบบสองสภาจึงประกอบด้วย 2 องค์ประชุม คือสภาสูงและสภาล่างโดยที่มาของระบบสองสภานี้มาจากยุโรปในยุคกลางซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสังคมที่สภาหนึ่งเป็นผู้แทนของอภิชนาธิปไตยหรือคนชั้นสูง และอีกสภาหนึ่งเป็นผู้แทนของสามัญชนคือคนธรรมดา

สภาขุนนาง (House of Lords) เป็นสภาสูงในรัฐสภาแห่งประเทศอังกฤษประกอบด้วยขุนนางมีบรรดาศักดิ์ประมาณแปดร้อยคนโดยทุกคนมาจากการแต่งตั้งและสืบตระกูล ทำหน้าที่ร่วมกับสภาสามัญชนซึ่งเป็นสภาล่างซึ่งมีสมาชิกทั้งหมดจากการเลือกตั้งโดย สภาขุนนางมีหน้าที่เป็นสภาสูงในรัฐสภา โดยเมื่อร่างกฎหมายใดๆ ผ่านการลงมติจากสภาสามัญชนแล้ว จะต้องนำมาให้สภาขุนนางทำการลงมติอีกครั้ง หากสภาขุนนางมีมติไม่รับร่างกฎหมายนั้น ก็จะไม่สามารถนำขึ้นให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเป็นสมาชิกสภาขุนนางซึ่งเป็นสภาของคนที่มาจากการแต่งตั้งและสืบทอดตำแหน่งโดยทางมรดกมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

จนกระทั่งมีกระแสประชาธิปไตยเกิดสูงขึ้นในประเทศอังกฤษ (เหมือนประเทศไทยขณะนี้) จึงมีการตราพระราชบัญญัติรัฐสภา พ.ศ.2454 ที่ลดทอนอำนาจของสภาขุนนางลงตามลำดับ ด้วยการที่ประชาชนชาวอังกฤษเลือกตั้งพรรคการเมืองที่มีนโยบายลดทอนอำนาจของสภาขุนนางขึ้นเป็นรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกครั้งที่มีการขัดแย้งในการออกกฎหมายระหว่าง 2 สภา ซึ่งรัฐบาลก็จะทำการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จนทำให้สมาชิกสภาขุนนางเกิดความละอายใจต่ออำนาจของประชาชนตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้ในปัจจุบันสภาขุนนางมีอำนาจให้คำปรึกษาและตรวจสอบการทำงานของรัฐสภา โดยเฉพาะการพิจารณาเพื่อผ่านร่างกฎหมาย โดยสภาขุนนางมีอำนาจที่จะระงับการบังคับใช้กฎหมายได้ในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาล สภาสามัญชนและประชาชนร่วมกันพิจารณาและทบทวนถึงความจำเป็นของร่างกฎหมายนั้นๆ อย่างรอบคอบ แต่หากสภาสามัญชนเห็นว่าร่างกฎหมายนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ก็สามารถนำขึ้นให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยได้ทันทีโดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมสภาขุนนางอีกต่อไป

โดยสรุปแล้วสภาขุนนางถูกจำกัดอำนาจต่างๆ ดังนี้

Advertisement

1) เมื่อใดที่สภาผู้แทนราษฎรออกเสียงลงคะแนนยืนยันผ่านกฎหมาย เหล่าสมาชิกสภาขุนนางจะไม่มีอำนาจขัดขวาง หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ทำได้เพียงชะลอการออกกฎหมายในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

2) สภาขุนนาง ไม่มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ

3) สภาขุนนางไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

Advertisement

4) สภาขุนนางไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง แต่ยังคงอยู่เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของอังกฤษ มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศ

5) ไม่มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองพระราชบัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับภาษีและการเงิน

6) สภาขุนนางของอังกฤษ ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญที่สุดคือ “สภาขุนนางของอังกฤษไม่มีเงินเดือน ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งเกียรติยศ”

ขอความกรุณาอย่าเปรียบเทียบวุฒิสภาของไทยกับสภาขุนนางของอังกฤษเลยครับ

“ขอร้องละ !”

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image