6เดือนแรกยอดใช้สิทธิรวม’เอฟทีเอ-จีเอสพี’ติดลบ แต่โควิดดันส่งออกสินค้าป้องกันไวรัส-อาหาร-เกษตร

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี(FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) เดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิรวม 30,848.59 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 78.61 แบ่งเป็น มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 28,534.28 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,314.31 ล้านเหรียญสหรัฐ การใช้สิทธิประโยชน์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 14.26 เนื่องจากได้รับผลกระทบหลักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังดำเนินไปในหลายประเทศ ซึ่งกดดันการส่งออกทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากการใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปที่พุ่งต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 แล้ว ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย

นายกีรติ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 28,534.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.47 มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 78.25 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 9,490.68 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน มูลค่า 9,567.64 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ญี่ปุ่น มูลค่า 3,402.10 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ออสเตรเลีย มูลค่า 2,937.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 1,573.08 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-ชิลี ร้อยละ 100 2. อาเซียน-จีน ร้อยละ 91.67 3. ไทย-เปรู ร้อยละ 88.25 4. ไทย-ญี่ปุ่น ร้อยละ 84.18 และ 5. อาเซียน-เกาหลี ร้อยละ 71.71

Advertisement

นายกีรติ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป( GSP) ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,314.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.07 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 83.26

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ มากที่สุด คือ สหรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,043.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1.39 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 85.24 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 177.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.65 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 64.10

อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 76.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.29 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 85.26 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 16.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 59.30 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 100

Advertisement

นายกีรติ กล่าวต่อว่า ภาพรวมช่วงครึ่งแรกปี 2563 การใช้สิทธิประโยชน์ยังคงลดลง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของไทย ปัจจัยหลักคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19แต่พบว่า ไทยมีศักยภาพส่งออกสินค้าที่มีความต้องการสูงช่วงการแพร่ระบาด โดยเฉพาะสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นหลายความตกลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และยังมีโอกาสส่งออกไปได้จากความต้องการในหลายประเทศยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

สำหรับ อาเซียน-จีน สินค้าที่มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น เช่น ถุงมือยาง มูลค่าการใช้สิทธิ46.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 75.19 เทอร์โมมิเตอร์ มูลค่าการใช้สิทธิ 13.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 100

อาเซียน-เกาหลี สินค้าที่มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องแต่งกายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ มูลค่าการใช้สิทธิ 2.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 67 ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์หรือสารทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 100

อาเซียน-ญี่ปุ่น สินค้าที่มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปลงสภาพ มูลค่าการใช้สิทธิ 4.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.73 เสื้อผ้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้าใช้ป้องกัน มูลค่าการใช้สิทธิ 0.09 ขยายตัวร้อยละ 54.15

ไทย-ออสเตรเลีย สินค้าที่มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น  เช่น เครื่องกรองอากาศ/เครื่องสร้างและลำเลียงออกซิเจน มูลค่าการใช้สิทธิ 11.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 100 สบู่ที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือครีม มูลค่าการใช้สิทธิ 3.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 36.22 สหรัฐอเมริกา เช่น แว่นตาใช้ในการป้องกัน มูลค่าการใช้สิทธิ 54.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 100 ถุงมือถักที่หุ้มด้วยพลาสติกหรือยาง มูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 72 เป็นต้น

ขณะที่ การใช้สิทธิ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปไปยังหลายประเทศคู่ค้าในภาพรวมยังพุ่งต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อาทิ ผลไม้ ทุเรียนสด ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image