จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (2) ‘การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง’

จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (2) ‘การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง’ : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (2) ‘การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง’ : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “วิกฤตวัยกลางคน” เป็นเรื่องร้ายมากกว่าจะความสร้างสรรค์ แต่เราเลือกใช้วิกฤตนี้เพื่อเรียนรู้เส้นทางการพัฒนาภายในได้ การมีมุมมองเชิงลบ จะสร้างภาวะเพิกเฉยต่อการใช้ครึ่งหลังของชีวิตอย่างมีความหมาย และหันไปพึ่งสิ่งเสพติดต่างๆ เพื่อหวังบรรเทาทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดงาน, การเที่ยว, ช้อปปิ้ง, เซ็กซ์, เกม, สารเสพติด รวมถึงสิ่งบันเทิงใจต่างๆ เพื่อลดความถาโถมปั่นป่วนในจิตใจ คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าระยะเวลาที่วิกฤตวัยกลางคนจะเผยตัวออกมาเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่วิกฤตวัยกลางคนอาจมีระยะยาวนานตั้งแต่ 12 ปี จนลากยาวไปถึงช่วงท้ายชีวิต แต่ไม่ว่าระยะเวลาของวิกฤตจะสั้นหรือยาว มันทำให้เรามีช่องทางทบทวนเพื่อระบุรูปแบบชีวิตที่เหลืออยู่ของเราเอง

สำหรับหลายคน “ช่วงวิกฤตวัยกลางคน” คือพายุที่ปะทะตรงกับตัวเรา เช่น การพลัดพรากจากสิ่งสำคัญ, การเกิด, การตาย, ความทุพพลภาพ, อุบัติเหตุ, การเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือการปะทุของบาดแผลที่ฝังลึกในวัยเด็ก ถือเป็นสภาวะแกนกลางจิตใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รุนแรงขนาดไหน นี่เป็นประตูด่านสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านที่จะช่วยผลักเราให้ออกห่างจากตัวตนที่เคยยึดถือว่าเป็นเราจากการบ่มเพาะในช่วงครึ่งแรกของชีวิต เช่น ฉันเป็นคนขยัน เป็นคนจริงจัง เป็นคนพูดน้อย ฯลฯ

เคน วิลเบอร์ (นักคิดแนวทฤษฎีบูรณาการ) ผู้ศึกษาเงื่อนไขแห่งการเปลี่ยนแปลง อธิบายประเภทการเปลี่ยนแปลงไว้สองแบบ คือ “การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในระดับจิตสำนึก หากนึกภาพอาคาร 10 ชั้น คือ การโยกย้ายข้าวของจากชั้น 1 ไปยังชั้นที่สูงกว่า ในทางตรงกันข้าม “การเปลี่ยนแปลงในแนวนอน” หมายถึงการเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ในชั้นเดียวกัน

ADVERTISMENT

เคน วิลเบอร์ กล่าวว่า น้อยคนนักที่อยากกระโจนสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง จริงอยู่ว่าในช่วงชีวิตครึ่งแรก เรามีโอกาสได้เผชิญกับวิกฤตต่างๆ มาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเลือกตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในแบบแนวนอน ตัวตนของเราเลือกที่จะเปลี่ยนงาน เปลี่ยนอาชีพ หรือจบความสัมพันธ์กับใครสักคนแล้วหาคู่ครองคนใหม่ เลือกการย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ แม้ว่าการเลือกเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดูมีความสำคัญ แต่หากมองลึกซึ้งลงไป เราสามารถมีประสบการณ์เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ในทุกช่วงอายุ

แต่ในช่วงวัยกลางคน ตัวตนของเราไม่สามารถยึดเหนี่ยวความมั่นคงด้วยกำลังที่เคยมีได้ เพราะมันคือ กระบวนการบังคับให้เราจำต้องเข้าสู่การเกิดใหม่ในแนวดิ่งอย่างแท้จริงนั่นเอง แต่โดยทั่วไป เราไม่สามารถเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อเกิดใหม่ได้ หากยังไม่มีประสบการณ์ตรงที่ตัวตนของเราในช่วงชีวิตครึ่งแรกสร้างขึ้น นี่คือความย้อนแย้งในระบบธรรมชาติ เราจำเป็นต้องมีตัวตนที่แข็งแกร่งก่อนในชีวิตครึ่งแรก เพื่อจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การสลายตัวตนที่เรายึดถือไว้

ADVERTISMENT

บนเส้นทางแห่งก้าวย่างนี้ เราพบว่าเมื่อพยายามหลบเลี่ยงจุดวิกฤต เรากำลังย่างเท้าลงไปด้วยความหวาดหวั่นใจ ไม่มั่นคง เพราะภาวะความกลัวแทรกนี้เอง ที่อาจขัดขวางเราไม่ให้มีความปรารถนาที่จะเป็นสุขในชีวิต เราเลยยึดมั่นกับชีวิตเดิมๆ ของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็มองหาหลักรับประกันว่าเส้นทางชีวิตใหม่นี้จะไปได้ดีขึ้น

ถ้าเราลองย้อนกลับเข้ามาสังเกต และเฝ้ามองความไม่มั่นคงที่ฝังรากอยู่ในคำสอนของสถาบันต่างๆ ที่พร่ำบอกให้เราจำต้องมีคุณค่าต่างๆ เราจึงจะถูกมองเห็นและได้รับการยอมรับ เช่น ผู้หญิงหลายคนพยายามรักษาหุ่นและความเยาว์วัยเพื่อเอาชนะธรรมชาติแห่งการร่วงโรย ด้วยการหาวิตามิน การเสริมฮอร์โมน เพราะสังคมยุคปัจจุบันให้คุณค่ากับคนหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ หรือผู้ชายที่ต้องการยากระตุ้นสมรรถนะทางเพศมากเกินไป จากความเชื่อว่าชายชาตรีควรมีพลังที่แข็งแกร่ง หรือเราอาจพยายามสร้างรายได้สะสมตัวเลขในบัญชีธนาคาร ซึ่งอาจนำเราไปเผชิญกับภาวะความเครียด การกดดันตัวเอง ความพยายามที่มากเกินไป เราจึงต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่สบายใจ และขาดความปลอดภัยที่แท้จริง

ประเด็นความสำคัญของช่วง “วิกฤตวัยกลางคน” คือการอนุญาตให้เราเป็นตัวของเราเอง ใช้ศักยภาพที่เคยมีมา “เปิดเผยในแบบของเรา” ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้ แม้เราจะหาวิธีรับมือกับสภาพอารมณ์ หรือจัดการกับความต้องการในแบบเดิมๆ แต่มันอาจจะไม่ได้ผลอย่างที่เคยเป็น และนี่คือโอกาสที่เราจะได้ใช้ชีวิตที่แท้จริงเสียที

มีตัวอย่างมากมายให้เห็น เช่น ผู้หญิงหลายคนลงทุนมอบร่างกายและเงินทองกับมีดหมอศัลยกรรม เพื่อแลกกับความอ่อนวัย แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็ต้องการใครสักคนที่จะมองเห็นตัวเธออย่างแท้จริงภายใต้เปลือกอันงดงาม หรือชายคนหนึ่งที่ต้องการจะเป็นสามีที่ดี และเป็นพ่อที่เพียบพร้อม แต่เขาก็ต้องการมีพื้นที่เงียบๆ อยู่คนเดียวสักครู่หนึ่ง เพื่อหายใจหายคอจากความพยายามต่างๆ

เรารู้ดีว่าความพยายามที่อยากตอบสนองทั้งสองด้านไม่ค่อยจะมีความมั่นคงนัก เพราะ “ด้านหนึ่งเป็นตัวตนเรา” ส่วนอีก “ด้านหนึ่งคือสิ่งที่เราอยากจะเป็น” ในช่วงวัยกลางคน เราจะพบว่าเรากำลังถูกแรงดึจากสองขั้วคือ ด้านที่เรารู้จักดี กับด้านที่เราไม่รู้อะไรเลย สิ่งที่เคยเกิดขึ้น กับสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ สิ่งที่เราทำได้ในเชิงอุดมคติคือ พยายามสร้างสมดุลให้กับเท้าข้างเดียวที่เหยียบลงบนผืนโลก

เมื่อเราเดินทางมาถึงวัยกลางคน และกำลังเจอความสับสน ความรู้สึกเหมือนถูกฉีกกระชากออกจากสิ่งที่เคยยึดโยง เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยว หมดพลังชีวิต ไร้สัมผัสการดูแลเอาใจใส่ เราเริ่มหวาดกลัวต่อสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ไม่เหลือพลังชีวิต ตัวตนที่เราเคยเป็นมา นิสัยด้านต่างๆ ที่เคยโดดเด่นดูเหมือนจะไม่มีอีกต่อไป เพราะเราได้ใช้มันไปหมดแล้วในครึ่งแรกของชีวิต นี่คือ “จุดเริ่มต้นใหม่” ที่ต้องการทิศทางใหม่ ณ จุดกึ่งกลางของชีวิต เราจะได้รับสารจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงพอ ซึ่งเราไม่สามารถใช้มุมมองเดิมที่เคยแก้ไขมาปรับแต่งสิ่งต่างๆ ในวิกฤตนี้ได้ เราต้องเริ่มต้นใหม่จากซากปรักหักพังที่อยู่ตรงพื้นดิน เพื่อลุกขึ้นยืนอีกครั้ง นี่ไม่ใช่โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ แต่คือ “การเปลี่ยนผ่านที่ไร้เงื่อนไข”

คาร์ล จุง กล่าวไว้ว่า “เราก้าวเดินด้วยรองเท้าที่เล็กไปสำหรับเรา” ถ้าหากเราต่อต้านการเปลี่ยนผ่านด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่อง เงินทอง หรือใช้ยาบรรเทาความกังวลต่างๆ เท่าที่มีในโลก มันจะฝังกลบความเป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตอย่างแท้จริง และมีจิตใจที่เอื้อให้เราค้นเจอเอกลักษณ์ของตัวเอง

หากเราไม่เพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่มักมีชีวิตที่โดดเด่นก่อนวัยกลางคน แต่ช่วงชีวิตวัยกลางคน เรามีโอกาสมากขึ้นที่จะใช้ “ชีวิตที่มีเงื่อนไขน้อยลง” เมื่อเราเข้าถึงกระบวนการวิกฤตวัยกลางคนเสร็จสมบูรณ์ เราจะเผยความคิดสร้างสรรค์ที่เคยถูกซุกซ่อนไว้ด้วยเปลือกของตัวตนเดิมๆ นี่คือพรจากธรรมชาติที่เอื้อต่อเราสู่การเปลี่ยนแปลง

ส่วนผู้ที่ประสบความสำเร็จในช่วงวัยพัฒนาการจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ และในช่วงวัยกลางคนก็ยังตระหนักได้ถึงการพัฒนาบุคลิกลักษณะต่างๆ ไปตลอดชีวิต ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตบนความเป็นจริงได้ และสอดคล้องกับจิตใจส่วนลึกมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสำรวจช่วงวัยกลางคนได้สำเร็จ เราจะมีสติ มีชีวิตชีวา รักเป็น และปราศจากความตึงเครียด เมื่อต้องปรับเปลี่ยนทิศทางไปเป็นใครอีกคนหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม

ถอดความจากหนังสือ Hidden Blessings (Midlife Crisis as a spiritual awakening), Jett Psaris, PhD

ญาดา สันติสุขสกุล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image