‘กลุ่มครูขอสอน’ บุกศธ. อ่านแถลงการณ์จี้ ‘ณัฏฐพล’ ออกนโยบายให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

‘กลุ่มครูขอสอน’ บุกศธ. อ่านแถลงการณ์จี้ ‘ณัฏฐพล’ ออกนโยบายให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายครูขอสอนรวมพลแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์ #โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย เรียกร้องให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง รักษาราชการแทนปลัด ศธ. และนายอัมพร พินะสา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นผู้รับเรื่องแทน

เครือข่ายครูขอสอน ได้อ่านแถลงการณ์เรื่อง ขอแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยใช้วิธีการที่ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนี้ 1.ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม 2. ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว 3. คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และ 4. การจัดการศึกษาควรมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพ เสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน และเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล

พร้อมกับเสนอข้อเรียกร้อง ต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา และการสร้างโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย 1. รัฐมนตรีว่าการศธ. จะต้องกำหนดนโยบาย และกำกับดูแลให้สถานศึกษาปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของ ศธ. และให้เป็นไปภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง และ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย 2.รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะต้องดำเนินนโยบายจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก

Advertisement

3.รัฐมนตรีว่าศธ. จะต้องดำเนินนโยบาย วางมาตรการในกระบวนการสรรหา และพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนให้มีความพร้อมในการทำงานอย่างเหมาะสมกับบริบทสถานศึกษา 4.คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายการศึกษาอื่น ให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และมีกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิดังกล่าว วางกรอบโครงสร้างองค์กรทางการศึกษาให้มีการกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษา ให้มีอิสระในการบริหารงาน และส่งเสริมให้นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และตรวจสอบสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง 5.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นผู้แทนนักเรียน ในการตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่คุรุสภาในการกำหนดให้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งขอมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 6.คณะกรรมการหรือสโมสรนิสิตนักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทุกสถาบัน จะต้องดำเนินงานกิจกรรมนิสิตนักศึกษาโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และยกเลิกกิจกรรมที่มีลักษณะส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยม

สุดท้ายนี้ กลุ่มครูขอสอน ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนาและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเต็มความสามารถบน”หลักสิทธิมนุษยชน” “เราจะไม่หยุดเคลื่อนไหว จนกว่าครู จะได้ทำหน้าที่สอนและพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image