‘เศรษฐพงค์’ เสนอทำแผนพัฒนากิจการอวกาศ ควบคู่กม.

‘เศรษฐพงค์’ เสนอทำแผนพัฒนากิจการอวกาศ ควบคู่กม. เชื่อหากมีกลยุทธ์ที่แหลมคมช่วยพัฒนา New Space Economy ห่วงช้าเสียโอกาสให้ประเทศอื่น

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคทม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้มีการประชุมเพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายและหน่วยงานกลางบูรณาการนโยบายและแผนกิจการอวกาศพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ของกิจการอวกาศ หรือ New Space Economy ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ โดยให้รับข้อสังเกต ข้อคิดเห็น จากที่ประชุมไปปรับปรุงเพื่อให้กฎหมายมีความรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งตนเห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าว แต่ในวันนี้เราต้องมีแผนพัฒนากิจการอวกาศขึ้นมาจริงจัง โดยคู่ขนานกับระหว่างจัดทำกฏหมายด้วย เช่น ต้องมีการวิเคราะห์ว่าประเทศไทยควรเริ่มต้นด้วยกิจการรมอะไรก่อน Ecosystem เป็นอย่างไร อาจจะเป็นเรื่องการสร้างท่าอวกาศยาน ก็จะตามมาด้วยการสร้างจรวด อุตสาหกรรมการสร้างเครื่องยนต์เพื่อขับดันจรวด อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการยิงจรวดจะตามมาด้วย เพราะจรวดจะสร้างด้วยเทคโนโลยี 3D printing และจะมีอุตสาหกรรมอื่นๆที่ต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจอวกาศเป็นเรื่องที่กว้างขวาง เป็นเรื่องใหม่

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ประเทศเรามีเงินลงทุนที่จำกัด ทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้ก็จำกัด รวมทั้งเรื่องเวลาที่จำกัด เพราะถ้าไม่ทำชิงบทบาทนำในเรื่องนี้อาจจะเสียโอกาสให้กับประเทศอื่น แต่ในข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่ต้องใช้กลยุทธ์ที่แหลมคมทำให้เกิดขึ้นได้ นับเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง อย่างแรกไม่ว่าทาง GISTDA หรือ กระทรวงดีอีเอส ควรจัดทำแผนกลยุทธ์เรื่องกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ขึ้นมา พร้อมรับฟังความเห็นเพื่อมาปรับแต่งแผนกลยุทธ์ 5 ปีให้มีความเป็นไปได้มากที่สุด แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ไม่มีใครรับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งที่ประเทศไทยจะได้คือแสดงความตั้งใจแล้วว่าเรากล้าที่จะก้าวเดินเพื่อความสำเร็จในอนาคตได้

“อย่างน้อยแผนยุทธศาสตร์เหล่านี้จะเป็นการแสดงวิธีการใหม่ที่จะรวบรวมความฉลาดของคนจำนวนมาก(Wisdom of the crowd) เป็นเรื่องของการเปิด (Openness) ที่จะฟังทุกความเห็นมาประเมินแล้วนำมาสังเคราะห์ให้เป็นมรรคเป็นผล ไม่ใช่เป็นการงุบงิบทำโดยคนไม่กี่คน เพียงแต่เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อย่างที่บอกเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ทุกความเห็นทุกคำแนะนำก็มีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด บทสรุปคือการสร้างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมาและนำมารับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน ที่เหลือก็คือการลงมือทำ” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image