กนกวลี พจนปกรณ์ : 5 ข้อ โอกาสทางรอดนักเขียนไทย

กนกวลี พจนปกรณ์ : 5 ข้อ โอกาสทางรอดนักเขียนไทย

ท่ามกลางความผันผวนของโลกปัจจุบัน เวทีสำหรับส่งเสริมงานวรรณกรรมไทย หากมองในภาพรวมผ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ แล้ว แน่นอนว่าภาพที่หลายคนอาจเห็นไปในทางเดียวกัน ก็คือหนทางแห่งการเป็นนักเขียน หรือเวทีสำหรับนักเขียนวรรณกรรมไทย ไม่ว่าหน้าใหม่ หรือหน้าเก่า ได้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ตามการประกาศปิดตัวของนิตยสารต่างๆ สำนักพิมพ์ต่างๆ แม็กกาซีน รวมทั้งหนังสือพิมพ์ ที่แต่ไหนแต่ไรมาสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็น “เวที” หรือช่องทางของการ “แจ้งเกิด” ของบรรดานักเขียน ไม่ว่านักเขียนเรื่องสั้น นิยาย นวนิยาย เรื่องแปล กระทั่งบทกวีทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง แต่เมื่อโลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน สถานการณ์ในแวดวงวรรณกรรมไทยย่อมไม่เหมือนเดิม

นอกเหนือจากนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ทำให้ช่องทางอาชีพของนักเขียนปัจจุบันตีบตันลงไปอีก คือ หลายๆ สำนักพิมพ์ ยังเห็นว่าการตีพิมพ์งานวรรณกรรมไทยปัจจุบันถือเป็นงานที่เสี่ยงต่อการขาดทุน! โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ มีผลอย่างมากต่อการแจ้งเกิดของนักเขียนหน้าใหม่

“กนกวลี พจนปกรณ์” ในฐานะนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนโดยตรง และยังมีกรณีพิเศษทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลนักเขียนต่างๆ หลายรางวัล อาทิ รางวัลชมนาด, เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด รางวัลพานแว่นฟ้า ฯลฯ ได้แลกเปลี่ยนประเด็นพูดคุยสถานการณ์แวดวงนักเขียนในขณะนี้ ที่ว่ากันว่าเมื่อพื้นที่ที่เป็นเวทีสำหรับนักเขียนมีน้อยลง นักเขียนสายวรรณกรรมจะมุ่งไปสู่ทางไหน ซึ่ง “กนกวลี” มี 5 ข้อคิดนำมาบอกเล่าสู่กันฟัง —

นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เริ่มต้นด้วยการอัพเดตสถานการณ์โดยรวมของวงวรรณกรรมไทยในขณะนี้ ว่า จริงๆ แล้วภาพรวมเวลานี้ยังเหมือนกับเช่นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือสื่อสิ่งพิมพ์ลดหายไป มีเรื่องของดิจิทัลเข้ามาแทนที่

Advertisement

“แต่ยังไง๊…ยังไง ดิฉันก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้มันเป็นเชิงบวก เป็นโอกาสของนักเขียนเรา สิ่งสำคัญคือนักเขียนต้องปรับตัวและก็ต้องหาวิธีใช้สื่อใหม่ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับงานเขียนของตัวเองให้ได้…”

ตามความเห็นของกนกวลี การปรับตัวข้อแรกก็คือ ต้องรู้กลุ่มของคนอ่านงานเขียนของตัวเองว่าเป็นกลุ่มไหนและคิดอย่างไร ซึ่งโลกปัจจุบันทำได้ไม่ยาก เธอขยับแว่นสายตาเล็กน้อยก่อนจะเริ่มพูดต่อ “…ที่ผ่านมา แต่ก่อนนี้เราจะเห็นว่า เวลานักเขียนเขียนงานออกมาชิ้นหนึ่ง นักเขียนจะอาศัยสำนักพิมพ์เป็นหลัก แต่วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ผลงานที่นักเขียนผลิตออกมานั้นอาจจะนำเอาไปทำเป็นอย่างอื่นก่อนก็ได้ เช่น คุณเขียนงานวรรณกรรมนี่แหละ แต่เอาไปทำเป็นละครก่อน เอาไปทำเป็นหนังสือเสียงก่อน ไปทำสื่ออื่นๆ ก่อน พอมันโอเคแล้วค่อยเอามาพิมพ์เป็นเล่ม

“มาถึงยุคนี้การพิมพ์เป็นเล่มนี่มันอยู่ทีหลังแล้ว ไม่ใช่เริ่มต้นเหมือนแต่ก่อน นี่คือประเด็นที่หนึ่ง”

“ประเด็นที่สอง คือจากการเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น มันทำให้นักเขียนเริ่มรู้แล้วว่ากลุ่มที่อ่านงานของตัวเองอยู่ตรงไหน และได้สื่อสารกันใกล้ชิดกว่าแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนเวลาเราเขียนหนังสือแล้ว เราเอาไปส่งสำนักพิมพ์หรือส่งนิตยสารทั้งหลาย ทำให้ไม่รู้กลุ่มคนอ่านงานของเรา เพราะมันกระจายกลุ่ม คนซื้อนิตยสารเล่มหนึ่งก็มีหลายๆ กลุ่ม ที่ชอบงานหลายๆ แบบอยู่ในนั้น หรือเวลาเราพิมพ์กับสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์เขาก็ไม่ได้พิมพ์หนังสือแบบเดียว เขามีงานหลายประเภทหลายกลุ่มหลายอย่างปนกันอยู่ ขณะที่งานเราแค่ประเภทหนึ่งในนั้น โอกาสที่เราจะรู้กลุ่มคนอ่านของเรา และเขาคิดยังไงกับเราในสมัยก่อนนั้นยากมาก แต่พอมันมีระบบดิจิทัลเข้ามาปุ๊บ สื่อโซเชียลมันทำให้ทุกอย่างใกล้กันหมด ใกล้กันจนกระทั่งผู้ทำงานกับผู้รับงานสามารถที่จะคุยกันได้ สามารถจะสื่อสารกันได้ สามารถจะรู้กันได้โดยตรง เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละ ที่นักเขียนต้องหาวิธีที่จะปรับตัวทำยังไงถึงจะให้ดิจิทัลเป็นประโยชน์กับงานของตัวเอง…”

นายกสมาคมนักเขียนชี้ลงไปว่า ที่สำคัญสำหรับการเขียนงานในปัจจุบันเป็นการปรับตัว ข้อที่สอง “รู้โลกรู้เรา” หมายถึง หนึ่ง-นักเขียนต้องรู้กลุ่มคนอ่าน สอง-ในกลุ่มคนอ่านนั้นสนใจคอนเทนต์อะไร สาม-ตัวนักเขียนเองมีคอนเทนต์อะไร แล้วคอนเทนต์ของโลกไปถึงไหนแล้ว

“…ถ้าจับสามอันนี้มารวมกันได้ มันน่าจะเป็นช่องทางที่ดีของกันและกัน…”

ปรับตัวข้อที่สาม นักเขียนต้องคิดแล้วว่าเมื่อทำงานออกมาจะส่งผ่านช่องไหน สื่อใด แบบไหน ซึ่งมีให้เลือกเยอะมากขึ้น “…เราจะเป็นดิจิทัล จะขายออนไลน์ หรือจะเป็นออดิโอหนังสือเสียง สามารถทำได้เองหมด หรือรูปแบบอื่นๆ จะมีภาพประกอบหรือไม่มี จะเป็นหนังสือภาพ ทำได้ตั้งหลายอย่างแล้วแต่จะทำ แล้วลองดูสิว่ามันตอบกลับมายังไง แต่ทีนี้ในการทำมันอาจมีปัญหาอีกว่า นักเขียนบางคนทำเองได้ บางคนทำเองไม่เป็น อันนี้…คุณอาจจะต้องหาพันธมิตรร่วม หาคนมาร่วมมือแล้วแหละ คุณอาจจะไปร่วมมือกับสำนักพิมพ์ หรือร่วมมือกับคนที่เขาทำงานประเภทนี้อยู่ หรือถ้าในกรณีที่คุณทำเองได้ สบายเลย อย่างเขียนเรื่องขึ้นยูทูบ อันนี้มีนักเขียนเยอะแยะหลายคนทำ เขียนเสร็จเอาขึ้นยูทูบ ขึ้นเป็นตัวหนังสือ เป็นตัวอักษร หรือขึ้นเป็นเสียง ออดิโอก็ได้ ที่สุดแล้วประโยชน์มันจะกลับมาที่ตัวผู้ทำเอง นักเขียนบางคนสร้างช่องขึ้นมา มีนะที่เขาทำกันอยู่เวลานี้เขามีรายได้เดือนหนึ่งเป็นตัวเลขที่สวยงาม อย่างเช่นเขาตั้งใจว่าจะอัพงานของเขาทุกวันจันทร์ขึ้นยูทูบ เขาก็ทำไปในรูปแบบต่างๆ อย่างที่กล่าวมา

“แล้วแต่ว่าใครจะเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปภาพ เป็นเสียง อันนี้แหละเป็นช่องทางที่ดี…”

ปรับตัวข้อถัดไปก็คือ ในภาวะแบบนี้ต้องศึกษาและเข้าใจเรื่องของ “ลิขสิทธิ์” เพราะว่าพอโลกทุกวันนี้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล งานวรรณกรรมที่นักเขียนคิดขึ้นมาจะถูกต่อยอดนำไปทำเป็นอะไรตั้งหลายอย่าง “…ช่วงที่นำไปต่อยอดนั่นแหละ มันมีเรื่องของลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องหมดเลย มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นนักเขียนรุ่นใหม่จะต้องศึกษาให้ดีว่าลิขสิทธิ์คืออะไร ลิขสิทธิ์คุ้มครองแค่ไหน คุ้มครองอะไรบ้าง แล้วเวลาไปเซ็นสัญญาในกรณีหาพันธมิตรร่วม จะต้องตกลงกันให้ดีว่าขอบเขตของการให้ยืมลิขสิทธิ์ ให้เช่าลิขสิทธิ์ ให้นำงานไปใช้นั้น มีกรอบมีเวลามีค่าตอบแทนกันอย่างไร และแบ่งประเภทกันแค่ไหน ไม่อย่างงั้นจะเสียเปรียบได้…”

“กนกวลี” อธิบายว่า บางคนซื้อแบบฟอร์ ออล คือซื้อครั้งเดียวเซ็นสัญญายกให้หมด คนซื้อสามารถนำไปต่อยอดทำได้ทุกอย่าง ถ้าเป็นแบบนี้นักเขียนก็ลำบาก “…งานวรรณกรรมออกมาชิ้นหนึ่งมันต่อยอดไปเป็นงานแปล งานภาพ หนังสือภาพ แอนิเมชั่น หนังสือการ์ตูน หรือหนังสือเสียงก็ได้ ทำเป็นละครโทรทัศน์ก็ได้ ละครเวทีก็ได้ เป็นหนังเป็นภาพยนตร์ก็ได้ พอมันดังปุ๊บ คาแร็กเตอร์ของตัวละครล่ะ สามารถนำไปสร้างเป็นสินค้าอื่นๆ ได้อีก แล้วยังมีเรื่องของสติ๊กเกอร์ไลน์อีก มันเป็นสิทธิของเราทั้งหมด เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ทั้งนั้น

“เพราะฉะนั้นนักเขียนรุ่นใหม่จะต้องศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจกับลิขสิทธิ์…”

สุดท้ายข้อที่ห้า ที่นักเขียนยุคใหม่ต้องปรับตัวก็คือ จะต้องรู้เรื่องของการประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะในเมื่อพิมพ์เอง ขายเอง ทำเอง ก็ต้องรู้จักประชาสัมพันธ์เอง แต่ในการประชาสัมพันธ์นั้น จะต้องไม่โกหก ไม่ Fake ต้องซื่อสัตย์

“…สมัยนี้สื่อสมัยใหม่ใครเฟคนี่จบเลย นี่แหละคิดว่า 5 ข้อนี้ น่าจะทำให้เกิดโอกาส ให้ได้โอกาสที่จะทำให้งานเขียนของเรามีคนนำไปต่อยอดกว้างขวาง และสามารถเผยแพร่เลี้ยงชีพได้ในยุคนี้ แต่ถามว่าทั้งหมดนี้คนเดียวไหวไหม? ถ้าไม่ไหวต้องหาพันธมิตรร่วม และการหาพันธมิตรร่วมต้องคุยกันให้ดี ต้องวิน-วินทั้งสองฝ่าย ดิฉันเองคิดว่าระบบการพิมพ์ขาย นักเขียนต้องขอคุยกับสำนักพิมพ์ใหม่ไหม? เพราะปัจจุบันสำนักพิมพ์แต่ก่อนนี้นักเขียนได้ค่าเรื่อง 10% จากราคาปกคูณจำนวนพิมพ์เพราะเอาไปฝากสายส่ง สายส่งได้ไป 40-50% แต่ ณ วันนี้ สายส่งแทบจะไม่มีแล้ว แต่ยังมีสำนักพิมพ์ขายให้เรา ขายผ่านออนไลน์ให้ด้วย เพราะฉะนั้น ส่วนแบ่งต้องเปลี่ยนใหม่ไหม? นักเขียนจะไม่ใช่ได้ 10% อีกแล้วใช่ไหม? หรือนักเขียนไม่รู้เลยว่าสำนักพิมพ์พิมพ์ไปกี่ร้อยเล่มกี่พันเล่มแล้ว ไม่ใช่ว่าพิมพ์ไปสามพันเล่มมาบอกว่าพันเล่ม หรือพอพิมพ์ครั้งที่สอง ครั้งที่สามไม่เปลี่ยนปก แล้วก็บอกว่าพิมพ์ครั้งเดียวอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้องจริงใจต่อกัน ต้องแบให้เห็นชัดๆ ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราจึงจะอยู่ด้วยกันได้…”

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่เดือนก่อนจะหมดวาระการทำหน้าที่ในต้นปี 2564

รางวัลสำหรับงานวรรณกรรมในไทย

รางวัลซีไรต์ (S.E.A. WRITE AWARD)
หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์ประเทศไทย) เป็นรางวัลสำหรับกลุ่มนักเขียนในประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย ร่วมกันจัดตั้งโดย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ โรงแรมโอเรียนเต็ล
วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียนและเผยแพร่วัฒนธรรมของวรรณกรรมในภูมิภาคนี้ มีกฎ กติกาในการส่งเข้าประกวด
ใครอยากทราบสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมโอเรียนเต็ล โทร +66 (2) 659-9000 โทรสาร +66 (2) 659-0000 อีเมล์: [email protected]

รางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เป็นการประกวดหาหนังสือดีเด่นแห่งชาติ แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดีทุกประเภทที่ไม่ใช่ตำรา หรือหนังสือเรียน หรือหนังสือที่มีวัตถุประสงค์ให้เป็นตำราเรียน, หนังสือนวนิยาย, หนังสือกวีนิพนธ์, เรื่องสั้น, หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี, หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี มี 2 ประเภท คือบันเทิงคดีสำหรับเด็ก และหนังสือสารคดีสำหรับเด็ก, หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี
มี 3 ประเภท คือหนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น, หนังสือสารคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น, หนังสือคำประพันธ์สำหรับเด็กวัยรุ่น, หนังสือการ์ตูน, หนังสือสวยงาม มี 2 ประเภท คือหนังสือสวยงามทั่วไป, หนังสือสวยงามสำหรับเด็ก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โทร 0-2954-9560-4 โทรสาร 0-2954-9565-6 อีเมล์: [email protected]

การประกวดหนังสือแปลดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ
เป็นการประกวดหนังสือแปลที่แปลเป็นภาษาไทย พิมพ์โฆษณาเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ระหว่างปีที่กำหนดในการประกวดแต่ละครั้ง โดยจะประกาศผลการประกวดและเข้ารับรางวัลในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มส่งเสริมการพัฒนาหนังสือ ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ โทร 0-2281-7168 ต่อ 506 โทรสาร 0-2628-5336 อีเมล์: [email protected]

รางวัลแว่นแก้ว
จัดโดยบริษัท นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ จำกัด โทร 0-2744-0863-72 โทรสาร 0-2744-0874, 0-2744-1361 อีเมล์: [email protected] http://www.Nanmeebooks.com

รางวัลพานแว่นฟ้า
จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่รัฐสภาครบ 70 ปี ทั้งนี้ รัฐสภาเห็นความสำคัญของวรรณกรรมว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองและสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมการเมืองประดับไว้ในวงงานวรรณกรรมของไทยทั้งเรื่องสั้นและบทกวีการเมือง จึงจัดการประกวดนี้ขึ้น สอบถามรายละเอียดที่สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โทร 0-2357-3100 ต่อ 3104-6 โทรสาร 0-2357-3137 http://www.parliament.go.th

รางวัลชมนาด
จัดโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้หญิงที่เริ่มต้นอยากจะเป็นนักเขียน โดยมีหลักเกณฑ์การให้รางวัลแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เรื่องสั้น นิยาย บทกวี และวรรณกรรมเยาวชน สอบถามรายละเอียดที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด โทร 0-2434-1347, 0-2435-5789 Fax 0-2434-6812 อีเมล์: [email protected] http://www.praphansarn.com

กรรมการคัดเลือกรางวัล “ชมนาด”

รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด
จัดโดยซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียน เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่มีฝันและใจรักในด้านการเขียนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยพัฒนาวงการนักเขียนและวรรณกรรมของไทย มุ่งส่งเสริมนักเขียนคุณภาพที่มีผลงานจรรโลงสังคม รางวัลออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ประเภทกวีนิพนธ์, ประเภทนวนิยาย, ประเภทการ์ตูน, ประเภทรวมเรื่องสั้น, ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน, ประเภทสารคดี ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ละประเภทจะได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท

สอบถามรายละเอียดที่บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โทร 0-2648-2901-2 หรือ www.pr7eleven.com

รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง
หรือ แม่น้ำโขงอวอร์ด (Mekong River Literature Award:MERLA) เป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนเขียนงานวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง จัดขึ้นโดยกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมคือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา
จีน (ยูนนาน) และประเทศไทย

สกุณา ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image