จิตวิวัฒน์ : เสียงจากสมัชชาคุณธรรมจังหวัด เมื่อความดีกับวิถีชีวิต เป็นเรื่องเดียวกัน : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็น จนเกิดแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การปฏิบัติ
เดือนสิงหาคม 2563 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในรูปแบบของงานสมัชชาคุณธรรมที่จัดใน 4 จังหวัดนำร่องสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม คือ เชียงราย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี
งานสมัชชาคุณธรรมทั้ง 4 จังหวัดนี้มีจุดร่วมกันที่ทุกจังหวัดมีการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมภายในจังหวัดตนเองโดยสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการระดมความคิดเห็นถึงแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม โดยทั้ง 4 จังหวัดมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจดังนี้
สมัชชาคุณธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดขึ้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “ชาวอยุธยามีวินัย ใส่ใจส่วนรวม” จากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พบว่าพฤติกรรมเชิงบวกที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่ง คือ การใช้ผ้าปิดจมูกขณะที่ตนเองเป็นหวัด ซึ่งสะท้อนการมีวินัยของประชาชน ลำดับที่สอง คือการดำเนินงานในรูปแบบกรรมการ สร้างกลุ่ม สร้างเครือข่ายในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและนำไปสู่จุดหมาย และลำดับที่สาม คือการไม่ทุจริตในการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยสรุปคุณธรรมเชิงบวกที่พบในพระนครศรีอยุธยาเป็นเรื่องวินัยและสุจริต และสำหรับสถานการณ์คุณธรรมเชิงลบ พบว่าเป็นประเด็นในเรื่องวินัยและสุจริตเช่นกัน โดยลำดับแรกคือ ปัญหาขยะ รองลงมา คือระบบอุปถัมภ์ในการทำงาน และลำดับที่สาม คือปัญหาเด็กเยาวชน และครอบครัว
แนวทางขับเคลื่อนพระนครศรีอยุธยา สู่การเป็นจังหวัดคุณธรรมที่แลกเปลี่ยนจากเวทีสมัชชาคุณธรรม ผู้เข้าร่วมได้เชื่อมโยงเรื่องคุณธรรมกับความเป็นพลเมือง โดยเสนอว่าควรมองทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมว่าเป็นการสร้างพลเมือง ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับปัจเจก โดยเริ่มจากสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง และขยายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ด้วยกลไกชุมชน และในทางปฏิบัติกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมควร “อยู่ในขอบเขตที่ทำได้” เช่น เป็นกิจกรรมที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ ในองค์กร โดยผู้เข้าร่วมได้ยกตัวอย่างโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนไตรราชวิทยาที่รณรงค์คัดแยกขยะ และจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
สมัชชาคุณธรรมจังหวัดอุดรธานี จัดขึ้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “ฮักมั่นอุดรธานี เมืองคนดี มีคุณธรรม” การสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พบว่าปัญหาด้านคุณธรรม ได้แก่ 1.ความซื่อสัตย์ 2.การมีจิตสาธารณะและการสร้างการมีส่วนร่วม 3.ระเบียบวินัย การเคารพกติกา กฎหมายกฎระเบียบของสังคม คุณธรรมที่ควรส่งเสริม ได้แก่ 1.ความซื่อสัตย์ 2.วินัย 3.การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาของสังคม
แนวทางขับเคลื่อนอุดรธานีสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาคุณธรรมได้สะท้อนว่าการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมต้องเริ่มต้นจากตนเอง และถ้าในระดับองค์กรก็ควรเชื่อมโยงประเด็นคุณธรรมกับปรัชญาขององค์กร โดยปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้งานส่งเสริมคุณธรรมประสบความสำเร็จ ได้แก่ กระบวนการยกย่องชื่นชมคนทำดี สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยการออกแบบกิจกรรมต่างๆ การส่งต่อชุดคุณค่าด้วยกระบวนการมีส่วนรวม และผู้นำในระดับต่างๆ ต้องเห็นความสำคัญ โดยได้มีการยกตัวอย่าง กิจกรรม “สภาอาสาปันใจให้น้อง” ของโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ซึ่งเป็นกิจกรรมรับบริจาคสิ่งของ โดยผู้บริจาคจะได้เรียนรู้เรื่องการให้ และสภานักเรียนจะนำของที่ได้รับบริจาคมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลน สำหรับประเด็นตัวชี้วัดหรือรูปธรรมความสำเร็จ วงแลกเปลี่ยนเห็นร่วมกันว่า ควรดูจากกระบวนการ และผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
สมัชชาคุณธรรมจังหวัดเชียงราย จัดขึ้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “เชียงรายเมืองแห่งคุณธรรม นำพาประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข” จากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัดที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในส่วนของการสืบค้นข้อมูลจากข่าว จำนวน 47 แหล่งข่าว จากเนื้อหาข่าวทั้งหมด จำนวน 499 ข่าว พบว่ามีสถานการณ์คุณธรรมด้านดีมากกว่าสถานการณ์คุณธรรมด้านที่ไม่ดี กล่าวคือ สถานการณ์คุณธรรมด้านดีมีจำนวนทั้งหมด 275 สถานการณ์ และสถานการณ์คุณธรรมด้านไม่ดี จำนวน 224 สถานการณ์ (คิดเป็น 55.11% ต่อ 44.89%) โดยมีเรื่องสุจริตมากที่สุด และในส่วนของประเด็นคุณธรรมที่ควรปลูกฝัง คือ ความมีวินัยและความรับผิดชอบ
แนวทางขับเคลื่อนเชียงรายสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาคุณธรรมได้ตั้งคำถามชวนคิดว่า จังหวัดคุณธรรมจะสำเร็จได้อย่างน้อยต้องมี 5 องค์ประกอบ คือ 1.ใครเป็นคนขับเคลื่อน 2.ใครเป็นผู้เชื่อมโยง 3.ใครเป็นผู้ประสาน 4.ใครเป็นผู้สนับสนุน 5.ใครเป็นผู้ร่วมมือ และได้เสนอถึงการส่งเสริมคุณธรรมว่าเป็นการทำความดีที่ควรทำให้ครบ 5 อย่าง 1.ทำดีต่อตัวเอง 2.ทำดีต่อครอบครัว 3.ทำดีต่อเพื่อนบ้าน 4.ทำดีต่อสังคม 5.ทำดีต่อธรรมชาติ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของเชียงราย การสร้างการมีส่วนร่วมของรากหญ้าในกระบวนการขับเคลื่อนคุณธรรม
สมัชชาคุณธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “สุราษฎร์ธานี เมืองคนดี มีวินัย ใจสะอาด ไม่ขาดคุณธรรม” ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พบว่าสถานการณ์คุณธรรมเชิงบวก 3 ลำดับแรก คือ 1.ทำงานในรูปกรรมการโดยยอมรับเสียงมติส่วนใหญ่ 2.ความสามัคคี ร่วมใจทำความดี ผ่านกิจกรรมต่างๆ 3.มีการเสียสละ เพื่อช่วยเหลือทำงานสาธารณประโยชน์ให้สังคม สถานการณ์คุณธรรรมเชิงลบ 3 ลำดับแรก คือ 1.ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น ปัญหาเด็กติดเกมภาวะซึมเศร้า ปัญหาวัยรุ่นทะเลาะวิวาท 2.การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ 3.การทุจริตในภาครัฐ ในประเด็นหลักคุณธรรมที่ควรยึดถือเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน/ท้องถิ่น 3 ลำดับแรก คือ 1.ความมีน้ำใจ/เอื้อเฟื้อต่อกัน 2.เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน 3.ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
แนวทางขับเคลื่อนสุราษฎร์ธานีสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาคุณธรรมได้เสนอว่าการขับเคลื่อนคุณธรรมควรสอดคล้องไปตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน โดยไม่แยกออกมาเป็นการเฉพาะ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ในการทำเกษตรกรรม ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม หรือในกรณีของสถานศึกษาที่ออกแบบกิจกรรมที่มีการสอดแทรกประเด็นคุณธรรม เช่น การบริจาคสิ่งของ การไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน
นอกจากประเด็นเฉพาะของแต่ละจังหวัดที่นำไปกำหนดทิศทางขับเคลื่อนคุณธรรมแล้ว การแลกเปลี่ยน 4 เวที ใน 4 จังหวัดของงานสมัชชาคุณธรรม ยังทำให้เห็นจุดร่วมของภาคีสมัชชาคุณธรรม ที่ช่วยกัน “ส่งเสียง” ซึ่งมีนัยสำคัญไปถึงการกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยที่ว่า การทำความดีกับวิถีชีวิตนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่สามารถสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อน และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง จึงไม่ใช่การแยกประเด็นคุณธรรมออกมาโดยเฉพาะ และสั่งการแบบบนลงล่าง แต่ในทางกลับกันกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมควรเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างพื้นที่ของการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat