สกู๊ป น.1 : พลิกปูม ‘วัดหงส์’ โยงนิราศเมืองแกลง เหตุบิ๊กทหาร-ตร.ศรัทธา

สกู๊ป น.1 : พลิกปูม ‘วัดหงส์’ โยงนิราศเมืองแกลง เหตุบิ๊กทหาร-ตร.ศรัทธา

ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง สำหรับ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ย่านวังเดิม ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ หลังปรากฏนามเป็นอารามที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการพระราชวัง และอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เข้าพิธีอุปสมบทหลังเกษียณอายุราชการ ได้ฉายาว่า “อภิรัชตโน” แปลว่า ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง

อีกทั้งก่อนหน้านี้ไม่นาน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็เข้าอุปสมบทที่วัดดังกล่าวเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นที่ทราบกันว่า วัดหงส์ ได้รับความศรัทธาจากทหารและตำรวจอย่างสูงยิ่ง
โดยเดินทางมาประกอบพิธีทางศาสนาและสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมทั้งทำพิธีตามความเชื่อที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่บ่อยครั้ง อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล, พล.ต.ต.เสนิต สำราญสำรวจกิจ และ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้มาปลูกต้นรวงผึ้งไว้ในปี พ.ศ.2561

ถามว่าเหตุใด วัดหงส์ จึงครองความศรัทธาในใจเหล่าทหารกล้าและผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

Advertisement

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างบอกว่า เป็นไปเพราะเลื่อมใสใน พระเทพปริยัติมุนี หรือ “เจ้าคุณมีชัย” พระนักสอนหลักธรรมชีวิต พระนักสร้าง และนักพัฒนา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม หลังพระเทพรัตนโมลี (ชูศักดิ์ ธัมมทินโน) เจ้าอาวาสขณะนั้นมรณภาพ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2552

คนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์เคยเปิดเผยว่า “บิ๊กตู่” เชื่อในคำแนะนำของพระเทพปริยัติมุนีเป็นอย่างมาก เมื่อจะทำการอะไรก็ประสบผลสำเร็จไปเสียทุกเรื่อง

ไม่เพียงทหาร-ตำรวจ ทว่านักการเมือง หลายพรรคก็นับถือเจ้าคุณมีชัยมาก จึงได้เห็นภาพถ่ายตามงานพิธีสำคัญๆ ระดับประเทศหลายครั้ง

Advertisement

วัดหงส์ยังเป็นที่จำพรรษาของ หลวงพ่อสมบูรณ์ รตนญาโณ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่นักสะสมวัตถุมงคลรู้จักชื่อเสียงกิตติศัพท์เป็นอย่างดี เป็นพระเกจิในระดับแนวหน้าที่จัดสร้างวัตถุมงคลที่มีพุทธคุณเด่นรอบด้าน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส ด้านวัตถุมงคลที่สร้างล้วนแล้วแต่เป็นที่เสาะแสวงหาที่ได้รับความนิยมจากนักสะสมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ รูปเหมือนหลังหนุมาน รุ่นมหาสมบูรณ์ มหาปราบ, เครื่องรางหนุมาน-มหากัน เป็นต้น

นอกเหนือจากเหตุผลในด้านความเลื่อมใสศรัทธาต่อตัวบุคคล วัดแห่งนี้ยังมีประวัติย้อนไปถึงสมัย
กรุงศรีอยุธยา

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุไว้ในหนังสือ “ศิลปะกรุงธนบุรี” ว่าวัดหงส์รัตนารามตั้งอยู่ประชิดกับศูนย์กลางกรุงธนบุรี คือริมคลองบางกอกใหญ่ สร้างโดยคหบดีนามว่า เจ้าสัวหง หรือ เจ๊สัวหง ตามประวัติกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด โดยขยายเขตพุทธาวาสออกไป พร้อมสร้างอุโบสถใหม่หน้าอุโบสถหลังเดิม ครั้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ โดยรื้ออุโบสถเก่าเป็นวิหาร กระทั่งซ่อมแซมแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ในหนังสือ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 พระนิพนธ์กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์รูปสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งเคยจำพรรษาอยู่ ณ วัดหงส์รัตนาราม นั่นคือ สังฆราชชื่น อดีตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงธนบุรี มีรูปหล่อประดิษฐานภายในศาลาข้างพระอุโบสถ ที่มีจารึกปรากฏข้อความว่า

“รูปสมเด็จพระสังฆราชวัดหงส์ฯ หม่อมเจ้าหญิงกระจ่าง หม่อมเจ้าหญิงชม หม่อมเจ้าหญิงสฤษดิ ได้พร้อมใจกันหล่อพระรูปเจ้าของสระ”

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังทางประวัติศาสตร์ สรุปข้อมูลเกี่ยวกับสังฆราชชื่น วัดหงส์ ไว้ว่า สมัยกรุงธนบุรี มีพระสงฆ์รูปหนึ่งจากเมืองแกลงได้รับยกย่องเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต่อมารู้จักทั่วไปในนาม “สังฆราชชื่น” มีส่วนสำคัญสร้างสมให้ทั้งภิกษุและไพร่บ้านพลเมืองของเมืองแกลงร่วมกันภักดีเลื่อมใสอย่างยิ่งต่อพระเจ้าตาก

เดิมภิกษุรูปนี้เป็นพระครูอยู่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ต่อมาพระเจ้าตากอาราธนาเข้าไปเป็นพระราชาคณะที่พระโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าตาก กรมดำรงฯ เล่าว่า “เห็นจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์” เมื่อพระเจ้าตากทรงผนวช ตามที่เจรจากับพระยาสรรค์เป็นขบถล้อมพระราชวัง

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป สังฆราชชื่นถูกปลดลดชั้นลงเป็นรองสังฆราชว่าที่ “พระพนรัตน” ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาถูกลดชั้นลงอีกเป็น “พระธรรมไตรโลก” ผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราช ชำระพระไตรปิฎก เมื่อทำสังคายนา

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองที่ชวนให้ สุจิตต์ สงสัยว่า จะเป็นเหตุสำคัญที่บิดา สุนทรภู่ ออกบวช แล้วได้รับแต่งตั้งจากทางการครั้งนั้นให้มีสมณศักดิ์สูงเพื่อทำหน้าที่พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากทางการ เช่น เกลี้ยกล่อม, ไกล่เกลี่ย, ปรองดอง เป็นต้น โดยพิจารณาจากสุนทรภู่เมื่อแต่งนิราศเมืองแกลง คราวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหาบิดา ว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา” เป็นพยานว่างานทั้งหมดได้รับมอบหมายจากราชการ ตั้งแต่บิดาสุนทรภู่ออกบวช จนถึงสุนทรภู่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลง ล้วนเป็นงานการเมือง “ราชการลับ” ของราชสำนักตอนนั้น

กล่าวได้ว่า วัดหงส์รัตนารามแห่งนี้เป็นอีกฉากสำคัญที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวทางการเมืองสมัยปลายกรุงธนบุรี สืบเนื่องรัตนโกสินทร์ ยังไม่นับคำบอกว่าที่มักขึ้นต้นด้วยวลี “ว่ากันว่า” อาทิ สระน้ำมนต์ ที่เชื่อว่าภายในมีหินอาคมซึ่งได้มาจากพระเถระวัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยา โดยมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดได้อาบและดื่มจะได้รับมงคล ทั้งเมตตามหานิยม มหาลาภ บำบัดทุกข์ โศก โรคภัย แคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน

ยังมีข้อมูลที่กล่าวถึงกันแพร่หลาย ระบุอ้างอิงจากประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอน 2 โดยกรมการศาสนา พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2535 ระบุว่า สระน้ำพระพุทธมนต์นี้เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนกล่าวกันว่า ก่อนอาบกินต้องอธิษฐาน ขอความสำเร็จแล้วจึงอาบกิน แต่ละมุมอำนวยผลต่างกัน กล่าวคือ 1.มุมด้านทิศตะวันออก ดีทางเมตตามหานิยม กล่าวกันว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดพลับ ทรงแผ่เมตตาจิต

2.มุมด้านทิศใต้ ดีทางมหาลาภและการค้า กล่าวว่า พระปัญญาวิสารเถร (ศรี) วัดสมอราย อธิษฐานจิต 3.มุมด้านทิศเหนือ ดีทางบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ กล่าวว่า พระพรหมมุนี (ชิต) ครั้งเป็นพระญาณวิสุทธิเถร วัดพลับ อธิษฐานจิต 4.มุมด้านทิศตะวันตก ดีทางแคล้วคลาด กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ครั้งเป็นพระพิมลธรรม (ด่อน) วัดหงส์ ทรงอธิษฐานจิต

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นมาอันยาวนาน เรื่องราวเบื้องหลังอันเข้มข้น ความศรัทธาที่มีพลังแรงกล้านับแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image