ขบวนเรือลากพระทางทะเลตรัง 13 ลำ หวั่นพายุฝนเคลื่อนไปได้แค่ปากอ่าวไม่ถึงแหลมจุโหย แต่ยังจัดกิจกรรมครบตามประเพณี

ขบวนเรือลากพระทางทะเลตรัง 13 ลำ หวั่นพายุฝนเคลื่อนไปได้แค่ปากอ่าวไม่ถึงแหลมจุโหย แต่ยังจัดกิจกรรมครบตามประเพณี

วันที่ 10 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าเทียบเรือปากปรน ม.1 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง ชาวบ้าน อ.หาดสำราญ กว่า 500 คน ร่วมประเพณีลากพระทางน้ำข้ามทะเล โดยมีเรือพาย เรือขบวนกลองยาว จำนวนประมาณ 13 ลำ ร่วมลากเรือพระน้ำเพื่อล่องไปในทะเลตรัง จากท่าเทียบเรือบ้านปากปรน เดินทางสู่ปากคลองหรือปากอ่าว ต.หาดสำราญ จ.ตรัง ระยะทางรวมไปกลับ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยในขบวนเรือพระ จะอัญเชิญพระพุทธรูปและนิมนต์พระสงฆ์นั่งประจำเรือ พร้อมทั้งใส่เครื่องดนตรี โพน กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ ไว้คอยส่งสัญญาณให้จังหวะในการลาก ตลอดช่วงเวลาการลากเรือพระจะมีกิจกรรมซัดต้ม การเกี้ยวพาราสีหยอกล้อระหว่างเรือแต่ละลำ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักสนุกสนาน และการประกอบพิธีลอยเรือเคราะห์กลางทะเล โดยชาวบ้านจะตัดเล็บ ตัดผม ใส่ไว้ในเรือจำลอง หลังจากนั้นที่ท่าเทียบเรือปากปรนจะมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันขูดมะพร้าว แข่งขันลอกใบจาก แข่งขันแทงต้ม(ห่อขนมต้ม) การประกวดร้องเพลง แข่งขันปิดตาตีหม้อ แข่งขันเรือพาย เป็นต้น เพื่อเป็นการร่วมทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ สร้างชุมชนให้เข้มแข็งและเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีให้สืบทอดกันเรื่อยมานับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน กระทั่งเป็นประเพณีประจำถิ่นเพียงแห่งเดียวในโลก โดยมี นายณรงค์ หนูเนียม นายอำเภอหาดสำราญ เข้าร่วมในการลากพระ ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 3 รูป

สำหรับการลากพระข้ามทะเลนี้ นับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ และยาวนาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ หลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ตลอดพรรษา ซึ่งชาวบ้านทั่วไปจะเดินทางไปร่วมงานลากเรือพระทางบก แต่เนื่องจากชาวปากปรน และพื้นที่ใกล้เคียงเกือบทั้งหมดมีอาชีพทำการประมง วิถีชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำคลอง และการใช้เรือ ซึ่งในสมัยก่อนการเดินทางโดยทางบกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะทำการประมงกันในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง หรือน้ำใหญ่ คือ ระหว่างขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ และแรม 13 ค่ำ ถึงขึ้น 5 ค่ำ รวมทั้งยังไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้านด้วย โดยเมื่อที่อื่นๆ มีการลากพระกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงมักไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม

Advertisement

ด้านนายทิวา เก้าเอี้ยน ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านปากปรน บอกว่า ประเพณีลากพระทางน้ำจัดเหมือนรูปแบบในทุกๆ ปี ซึ่งทำเหมือนเดิมทุกอย่าง มีขบวนพระ เรือพระ ลากพระออกสู่ทะเล เนื่องจากสภาพอากาศของภัยธรรมชาติ เราไม่ได้ลากพระสู่แหลมจุโหย แต่ลากไปเพียงปากคลองหรือปากอ่าว และนำขบวนเรือเวียนวนอยู่ แต่พิธีการต่างๆ ทำเหมือนเดิมหมด มีการสะเดาะเคราะห์ เสริมมงคลให้กับเรือพระเหมือนเดิมทุกอย่าง และในปีนี้มีเรือทั้งหมด 13 ลำ ปีนี้มากกว่าปีที่แล้วที่ร่วมขบวนกับเรือพระ หลังจากนั้นบนท่าเทียบเรือปากปรนจะมีกิจกรรมพื้นบ้านต่างๆ แข่งขันปิดตาตีหม้อ และการแข่งขันเรือพาย เพื่อสร้างความสามัคคีให้แก่ชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image