หนึ่งวัน 4 ศตวรรษ จาก ‘บางขดาน’ สู่ ‘บางปะอิน’

หนึ่งวัน 4 ศตวรรษ จาก ‘บางขดาน’ สู่ ‘บางปะอิน’
ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ถ่ายทำรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยว’ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เป็นอีกหนึ่งจุดหมายใกล้กรุงเทพฯ ที่ได้รับความนิยมสูงยิ่ง ด้วยการเดินทางไป-กลับเพียง 1 วัน

สำหรับพระนครศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าแห่งราชอาณาจักรสยามที่ไม่ได้มีแค่อุทยานประวัติศาสตร์ หรือวัดวาอารามในเกาะเมือง หากแต่วัดสำคัญครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ก็เปรียบเพชรเม็ดงามในอีกห้วงสมัย ดังเช่น

“วัดนิเวศธรรมประวัติ” ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือเตรียมทอดน่องท่องวัฒนธรรมผ่านรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “อำนาจของนาฏกรรม อยุธยาไล่เรือไปบางปะอิน”

กระจกสี พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ในช่องเหนือหน้าต่างทางเข้าทิศเหนือของพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ
พระพุทธนฤมลธรรโมภาส พระประธานในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ออกแบบโดยพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ
วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดชุมพลนิกายาราม สร้างในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ก่อนบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 4

วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จอย่างงดงามเมื่อ พ.ศ.2421 เป็นอารามสำหรับพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แปลกตาด้วยรูปแบบศิลปกรรมเนื่องในคริสตศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้ถ่ายแบบศิลปะโกธิค โดดเด่นด้วนบานกระจกสีบนประตูหน้าต่างพระอุโบสถ

Advertisement
พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ งดงามแปลกตาด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคจากโลกตะวันตก

อีกหนึ่งจุดสำคัญ คือ “สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์” ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และโอรสธิดา รวมถึงเชื้อสายราชสกุลดิศกุล ทั้งงดงามและเปี่ยมความหมาย

นาฬิกาแดด ที่ลานพระอุโบสถนิเวศธรรมประวัติ สะท้อนการรับเทคโนโลยีจากโลกสากล
สุสานสวนหินดิศกุลอนุสรณ์
จารึกคำนมัสการพระราหุลเถระบนแผ่นหินอ่อน วัดนิเวศธรรมประวัติ

วัดแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคิดแต่ง “ชื่อ กข” ครบ 44 ตัวเมื่อบวชอยู่ ณ วัดนิเวศฯ

‘ข้าพเจ้าบวชขึ้นไปจำพรรษาอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่เกาะบางประอิน ได้ช่วยจัดการอุปการะแก่โรงเรียนหลวงซึ่งมีอยู่ในวัดนิเวศน์ เห็นเด็กนักเรียนที่เรียนหนังสืออยู่หลายๆ ปี ไม่ใคร่จะรู้ได้เพียงไร

Advertisement

ถามอาจารย์ได้ความว่า เด็กตามหัวเมืองที่มาฝากเรียนหนังสือที่วัดได้มีเวลาเรียนไม่เต็มปี เพราะต้องไปช่วยบิดามารดาหาเลี้ยงชีวิตรปีละหลายๆ เดือน

แบบเรียนหลวงคือแบบมูลบทบรรพกิจ เปนต้น ซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น จะต้องใช้เวลาเรียนไม่ต่ำปีหนึ่งจึงจะรู้ตลอดเล่ม

เมื่อได้ทราบความดังนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดเห็นว่าควรจะมีแบบเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งให้เด็กเรียนจบเล่มได้แต่ภายในหกเดือนที่เปนคราวเรียนในปีหนึ่ง มาปีใหม่ขึ้นเล่มใหม่ แลให้เรียนจบได้ในคราวเดียวเช่นนั้น…’

ไม่เพียงสถาปัตยกรรมสง่างาม และเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นในวัดนิเวศธรรมประวัติ หากแต่สถานที่ตั้งของวัดนั่นคือ “บางปะอิน” ยังเป็นจุดหมายในขบวนเรือพระราชพิธีครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยล่องลงไปจากเกาะเมืองสู่บางปะอิน เพื่อทำพิธี “ไล่น้ำ” ที่ท่วมข้าวลงสู่บาดาล หวังให้น้ำลดเพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวด้วยการเห่กล่อมขอน้ำไหลลงตาน้ำส่งกลับบาดาล บ้านเมืองจึงอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร

หากทำพิธีทุกอย่างแล้วน้ำไม่ลด พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จลงเรือไปกลางน้ำ ถือพระแสงดาบฟันน้ำ โปรดให้น้ำลดปรากฏหลักฐานในคำให้การชาวกรุงเก่า

สำหรับคำว่า “บางปะอิน” มีที่มาผ่านเรื่องเล่าหลากหลาย ที่คุ้นหูที่สุด คือการเชื่อมโยงกับ “พระเอกาทศรถ” ว่าทรงพบกับ “นางอิน” จึงเป็น บางปะอิน ทว่า สองกุมารสยาม ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เสนอแนวคิดใหม่ ว่ามาจากพระนาม “พระอินทรราชา” กล่าวคือ พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าบางปะอิน ในอดีตเรียก “บางกระดาน” หรือ “บางขดาน” ครั้นต่อมา ได้รับการขนานนามเป็น “บางพระอินทราชา” เมื่อนานเข้าจึงกร่อนเป็นบางปะอิน’

สะพานข้ามคลองบ้านเลน หน้าวัดชุมพลนิกายาราม สร้างเมื่อ รศ.129 (พ.ศ.2453) ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าสร้างสำหรับการพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน ประดับด้วยปูนปั้นอย่างฝรั่งรูปช่อใบ ‘ลอเรล’ และริบบิ้น

อำเภอบางปะอิน ยังเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญอีกหนึ่งแห่ง คือ “วัดชุมพลนิกายาราม” ซึ่งพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2175 หรือเกือบ 400 ปีก่อน

พระราชบิดาของพระองค์อยู่ในตระกูลขุนนางที่มีอำนาจในบางขดาน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบางปะอิน

พระเจ้าปราสาททองยังเคยประทับที่บางปะอิน โดยสร้างตำหนักกลางน้ำชื่อว่า “พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์” หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 พื้นที่แถบนี้รกร้าง กระทั่งต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระตำหนักกลางน้ำ พระราชทานนามตามพระที่นั่งพระองค์เดิม คือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

ครั้นต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปรับปรุงพื้นที่และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อเสด็จประพาส นับเป็นสถานที่สำคัญอันสะท้อนถึงยุคสมัยการปรับตัวของสยามสู่ความเป็นสากลแบบตะวันตก

ย่านบางปะอิน จึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นถิ่นบรรพชนของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเมื่อ 4 ศตวรรษที่แล้ว เป็นสถานที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ จึงเป็นมากกว่าแหล่งท่องเที่ยว ทว่า คือแหล่งเรียนรู้ที่น่าเดินทางมาเยี่ยมเยือนสักครั้ง

……….

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “อำนาจของนาฏกรรม อยุธยาไล่เรือไปบางปะอิน” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคมนี้ เวลา 20.00 น.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image