‘บอร์ด กพฐ.’ ถกเกณฑ์รับ น.ร.ปี’64 ปรับจำนวนเด็กต่อห้อง ให้ ร.ร.ขยายได้ไม่เกิน 10%

‘บอร์ด กพฐ.’ ถกเกณฑ์รับ น.ร.ปี’64 ปรับจำนวนเด็กต่อห้อง ให้ ร.ร.ขยายได้ไม่เกิน 10%

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมหารือหลักเกณฑ์และแนวทางการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 โดยในส่วนของการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 กำหนดไว้ห้องละไม่เกิน 40 คน และห้ามขอขยายจำนวนนักเรียนนั้น ที่ประชุมเห็นว่าบางพื้นที่มีความจำเป็นที่ต้องรับนักเรียนเพิ่มขึ้น และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายว่าการดำเนินการต่างๆ ควรค่อยเป็นค่อยไป ที่ประชุมจึงมีมติว่าในปีการศึกษา 2564 จะให้โรงเรียนทั่วประเทศขยายห้องเรียนได้ 10% ของจำนวนที่ประกาศรับ โดยเป็นโรงเรียนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และจะต้องเพิ่มตามความจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2565 จะปรับลดให้โรงเรียนขอเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องได้ไม่เกิน 5% และเมื่อถึงปีการศึกษา 2566 จะล็อกจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน และไม่มีมีการขยายจำนวนนักเรียนอีกแล้ว

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมหารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และการประเมินมาตรฐานโรงเรียนของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ด้วย ที่พบว่าโรงเรียนบางแห่งได้รับการประเมินมาตรฐานโรงเรียนจาก สมศ.แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการสอนโอเน็ตของโรงเรียนเลย จึงพิจารณาว่าควรจะทบทวนการประเมินใหม่ เพราะการประเมินจาก สมศ.และผลสอบโอเน็ตควรจะสัมพันธ์กัน เช่น โรงเรียนที่ได้รับการประเมินจาก สมศ.ในระดับดีมาก ผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนควรจะอยู่ในระดับที่ดี เป็นต้น

“ที่ประชุมหารือเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเข้าไปบริหารจัดการแน่นอน และจากข้อมูลพบว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กที่ สพฐ.ต้องเข้าไปบริหารจัดการกว่า 8,000 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 200 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรอการยุบรวมต่อไป และที่ประชุมได้เชิญสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มาช่วยส่งเสริมครูในสถานศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการช่วยฟื้นคืนชีพให้นักเรียน ซึ่งจะอบรมตามความสมัครใจของครู เพราะมองว่าขณะนี้ครูไม่มีความสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ จึงควรสนับสนุนให้ครูมีความรู้เรื่องนี้ โดยจะเป็นการอบรมผ่านออนไลน์ ซึ่งครูสามารถนำชั่วโมงที่อบรมไปขอเลื่อนวิทยฐานะได้ด้วย” นายเอกชัย กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image