จริยธรรมในเด็กปฐมวัย…

จริยธรรมในเด็กปฐมวัย…

เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่และอนาคตของบ้านเมืองในวันหน้า เป็นคำในความหมายหนึ่งที่บุคคล หน่วยงาน องค์กรรวมไปถึงการทำหน้าที่ของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจ ใส่ใจ เอาใจใส่ในคุณภาพของประชากรที่จักเป็นพลเมืองในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐในบริบทต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม จริยธรรม ศีลธรรม

ภาพข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ ทั้งในสังคมไทยเราและต่างชาติเป็นระยะเวลาร่วมกว่าหนึ่งอาทิตย์ นั่นก็คือ กรณีครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศ ที่มีสาขาในกลุ่มภาคกลางถึง 10 โรงเรียน โดยเฉพาะสาขาราชพฤกษ์ที่ได้พบข้อเท็จจริงเรื่องถูกกล่าวหาทำร้ายเด็กนักเรียนระดับปฐมวัย มีคดีความที่ผู้ปกครองของเด็กๆ หรือลูกๆ ของเขาได้แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีในทางกฎหมายมากถึง 54 คดีมีผู้เสียหายประมาณ 30 คน โดยพบครูกับพี่เลี้ยงมากถึง 13 คนที่เข้าข่ายการกระทำความผิด โดยหน่วยงานคุรุสภากำกับดูแลจะแจ้งความในความผิด พ.ร.บ.ครูรวมถึงการตั้งคณะทำงานสอบสวนเป็นสี่กลุ่มสอบปากคำเด็กนักเรียนร่วมกับสหวิชาชีพ…(มติชนสุดสัปดาห์ 9-15 ตุลาคม 2563 หน้า 7)

เราท่านทั้งหลายที่ได้ติดตามเหตุการณ์หรือเรื่องราวดังกล่าวได้พบเห็นพฤติกรรมของครูพี่เลี้ยงจากกล้องวงจรปิดที่โรงเรียนได้ติดตั้งเอาไว้ได้กระทำต่อเด็กเล็กๆ ระดับการศึกษาปฐมวัย ในวัยอายุ 3-6 ปี พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ หลายคนได้จับกลุ่มไปประท้วงขอความกระจ่างรวมถึงให้ทางโรงเรียนได้รับผิดชอบต่อการกระทำเนื่องด้วยผู้ปกครองเหล่านั้นได้ฝากคุณภาพชีวิตของบุตรหลานในวัยที่ยังไร้เดียงสา พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กๆ ที่ยังแยกแยะมิได้ทั้งถูกผิด ควรมิควร ดีหรือไม่ดี กรณีโรงเรียนดังกล่าวคงจะมิใช่กรณีแรกที่เกิดทั้งในสังคมไทยเราและสังคมทั่วโลก วันเวลาที่ผ่านมาข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ การลงโทษเด็ก ทำร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ทั้งในโรงเรียน ครอบครัว สังคมมีมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

คำถามหนึ่งก็คือ องค์กรหน่วยงาน บุคลากรที่ต้องทำงานกับชีวิตเขาเหล่านั้นได้รับการปลูกฝังทั้งทักษะความรู้ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ คุณธรรมจริยธรรม ศีลธรรมอันดีเพื่อส่งต่อชีวิตเขาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของบ้านเมืองหรือไม่…

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรับต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย…

นอกจากหลักการในกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วยังมีกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) แผนยุทธศาสตร์
ชาติด้านเด็กปฐมวัย (พ.ศ.2560-2564) ที่รัฐบาลได้ออกแบบไว้เพื่อให้องค์กร หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในคุณภาพของชีวิตเด็กปฐมวัยทั้งประเทศตั้งแต่ระดับชาติ ชุมชน ครอบครัว โดยให้มีการวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เด็กๆ ทุกคนในระดับปฐมวัยได้มีการพัฒนาการของชีวิตไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

Advertisement

หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2560 ได้มีหลักปรัชญาการศึกษาปฐมวัยก็คือ “การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี
บริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวมบนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยความรัก ความเอื้ออาทรและความเข้าใจของทุกคนเพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เกิดคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ”

ตัวเลขของประชากรไทยทั้งประเทศจากสำนักทะเบียน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 66,558,935 คน โดยมีตัวเลขของเด็กๆ ทั่วเมืองไทยเราในวัยแรกเกิด-14 ปี มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน หรือ 16.9% ขณะเดียวกันมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในจำนวน 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% และวัยแรงงาน (15-59 ปี) ในจำนวน 43.26 ล้านคน หรือ 65% ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นถึงตัวเลขดังกล่าวถึงจำนวนวัยเด็กกับวัยผู้สูงอายุมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน การศึกษาระดับปฐมวัยที่ต้องรับผิดชอบในคุณภาพชีวิตของเด็กในสังคมไทยเราก็มีทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข

สิ่งสำคัญยิ่งก็คือหัวหน้าของรัฐบาลที่จักต้องเอาใจใส่ในคุณภาพของเด็กๆ มากกว่าความอยู่รอดในทางการเมืองอำนาจ ผลประโยชน์ พรรคพวกเพื่อนฝูง สิ่งใดที่ได้รับการเอาใจใส่ในระดับแรกๆ

รัฐบาลไทยเราในขณะนี้ได้มีเงินอุดหนุนเด็ก (600 บาทต่อเดือน) โดยมีผู้ส่งคำขอเงินอุดหนุน 1,827,303 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,291,540,000 บาท โดยมีการจ่ายตรงงวดในจำนวน 1,827,303 รายเป็นจำนวนเงิน 1,096,381,800 บาท และมีการจ่ายตกเบิกในจำนวน 325,345 ราย ในจำนวนเงิน 195,158,200 บาท ในหลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้มีการจัดการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายดูเสมือนเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นว่าโรงเรียนเอกชนจำนวนหนึ่งที่จัดการในเรื่องคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อให้ลูกของเขาเป็นคนเก่งทั้งภาษา การคิดคำนวณ ศิลปะ กีฬาและการเป็นเด็กดี คนดีตามที่คาดหวัง กรณีของครูพี่เลี้ยงที่ได้ทำร้ายเด็กในบริบทต่างๆ จักเป็นกรณีตัวอย่างที่เจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงทั้งระบบคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม…

พฤติกรรมของเด็กเล็กๆ ในสังคมไทยที่พบเห็นได้ก็คือบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะมีโทรศัพท์มือถือไว้ติดตัวทั้งการดูการ์ตูน เล่นเกม ท่องโลกในสังคมออนไลน์ได้อย่างเสรี เด็กหลายคนมีความรู้ทักษะในการใช้เทคโนโลยีดีกว่ารุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พฤติกรรมของเด็กไทยวันนี้ถูกกล่าวขานทั้งรูปธรรมและนามธรรมทางด้าน กิริยามารยาท ประเพณีวัฒนธรรม การอ่อนน้อมถ่อมตน การวางตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ เด็กเยาวชนหลายคนให้คำพูดที่หยาบคายและรุนแรงต่อบรรพบุรุษ บางคนมิได้ใส่ใจในการเรียนเท่าที่ควร เล่นการพนัน ติดยาเสพติด มีชีวิตคู่เป็นผัวเมียนักศึกษา ปัญหาการทำแท้ง เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถูกออกนอกระบบการศึกษา เด็กแว้น หลายคนกลายเป็นยุวอาชญากรต้องโทษในทัณฑสถานอยู่ทั่วเมืองไทย

ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราในขณะนี้หลายคนมองถึงคุณภาพชีวิตของบุตรหลานตนในลักษณะของรถบนถนนมีการสวนทางกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบทในทางการเมืองเด็กเยาวชนส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ อนาคตของเขาในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็มองเขาเหล่านั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมา ที่ไม่เคารพต่อหลักกฎหมายของบ้านเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมในที่สาธารณะในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิท-19

คำถามหนึ่งก็คือเด็กเยาวชนเหล่านั้นมีการเลี้ยงดู ปลูกฝังระบบจริยธรรม กฎหมายของบ้านเมืองทั้งจากครอบครัวและสถาบันการศึกษาเป็นเช่นไร

เด็กเล็กระดับปฐมวัย ในสังคมไทยเราควรเป็นเช่นไรนอกจากสถานศึกษาได้มอบให้ทั้งการฟังนิทาน การร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง การวาดเขียน การปั้น การฉีก การตัดปะ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ บรรยากาศของการเลี้ยงดูควรมอบทั้งความรัก ความอบอุ่น ความไว้วางใจ ความมั่นคงในทางอารมณ์ ศีลธรรมคุณธรรมและจริยธรรม โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ไว้บันทึกสุขภาพของแม่และเด็กไทยทั้งประเทศ…

วันเวลาแห่งอนาคตข้างหน้าเราท่านที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ วิชาชีพสาขาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) รวมถึงรัฐบาลที่ต้องมีความจริงใจอย่างแท้จริง ต่างต้องร่วมมือร่วมใจกันด้วยใจที่บริสุทธิ์ เล็งเห็นถึงผืนผ้าขาวที่จะถูกสังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ความเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม เงินนิยมเข้าครอบงำอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับความทุกข์ของชีวิตจักมองบรรพบุรุษในอดีตกาลเป็นเช่นไร…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image