เมื่อ‘ความเหลื่อมล้ำ’ถูกขีดเส้นใต้ คนจนเมือง ที่อยู่อาศัย ภาวะไร้บ้าน ทางออกใน ‘นโยบายเดียว’ ไม่มีจริง

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่อลหม่าน

ในวันที่ศัพท์ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ถูกขับเน้นและเอ่ยถึงอย่างซ้ำๆ ตั้งแต่แฟลชม็อบในรั้วมหาวิทยาลัย จนถึงชุมนุมของคณะราษฎร 2563 และ ‘ราษฎร’ ในวันนี้ที่เคลื่อนไหวนัดหมายแบบดาวกระจายทั่วทุกหัวระแหง ซ้ำยังมี ‘แกง’ (แกล้ง) ให้เจ้าหน้าที่รัฐมึนเล่น ด้วยการสับขาหลอก ไม่ไปตามนัด แต่ผลัดเปลี่ยนโลเกชั่นใหม่โดยติดตามผ่านโลกออนไลน์อย่างฉับไวนาทีต่อนาที

หนึ่งในภาพสะท้อนความไม่เท่าเทียมที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือคนยากจนที่อยู่ทน และทนอยู่ในเมืองศิวิไลซ์ ภายใต้ความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย โดยเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ‘เครือข่ายสลัม 4 ภาค’ รวมตัวเดินขบวนเนื่องใน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ 5 ตุลาคม เรียกร้องให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้คนจน หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค แถลงการณ์ความต้องการที่ให้รัฐบาลพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และให้ดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันให้กับทุกคนในสังคมไทยให้เข้าถึงที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเห็นคุณค่าของคนจนว่า มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้

การเมืองเรื่องคนจน
‘สลัม 4 ภาค’ จี้ตั้ง ส.ส.ร. แก้รัฐธรรมนูญ

Advertisement

ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เชื่อว่าการจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ต้องมีกระบวนการในการรับฟังและให้อำนาจคนในพื้นที่มีส่วนร่วมสำคัญในการกำหนดแผนพัฒนาในพื้นที่ตนเอง และต้องมีนโยบายให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ แบ่งปันที่ดิน เพื่อจัดเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย อีกทั้งต้องนำนโยบายโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินที่ภาคประชาชนผลักดันขับเคลื่อนมาใช้ในการรับรองสิทธิในที่ดินและสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องดำเนินการพัฒนาระบบสหกรณ์ โดยเพิ่มประเภทสหกรณ์ที่สอดคล้องกับการดำเนินการที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคงและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องสนับสนุนให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแต่ละจังหวัดร่วมมือกับภาคประชาสังคมทำงานในเชิงรุก

อีกทั้งรัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดบำนาญแห่งชาติเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กอย่างถ้วนหน้าและต้องดำเนินการให้ทุกคนเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงหยุดคุกคามประชาชนด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ตัวแทนภาครัฐ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ (อดีต) แรมโบ้อีสาน สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินทางเข้ารับหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค อาทิ ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้-ตะวันตก เครือข่ายสลัมพระราม 3 เครือข่ายคนไร้บ้าน เป็นต้น

Advertisement

อนุชา บอกว่า ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลยืนยันว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือ เข้าใจและจริงใจกับประชาชนที่จะรับฟังและแก้ไขปัญหาที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแก้ไขการจัดสรรที่ดินในการจัดสรรที่ดินร่วมกันและนับเป็นความภาคภูมิใจโดยยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำชับและมีความห่วงใยคุณภาพชีวิตในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอาชีพและสิทธิที่สมควรจะได้รับ โดยในฐานะ ส.ส. และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และคนต่างจังหวัดทราบดีถึงกับความแตกต่างความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงสร้างแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำการเมืองเพื่อให้มีโอกาสและชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนภาพตามรัฐธรรมนูญ

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘นโยบายเดียว’
ไม่ใช่คำตอบ

ย้อนกลับไปก่อนถึงวันที่อยู่อาศัยโลก เว็บไซต์ penguin homeless.com ภายใต้ แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว) หัวเรือใหญ่ในโครงการ ‘ศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม’ (Development of vulnerability indicator of homelessness) ในตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ตอนมาทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้านใหม่ๆ ก็คิดแบบเสื้อตัวเดียว ใส่ทุกคน มองว่าต่อให้มีปัญหาหนักขนาดไหน ถ้ามีรายได้ดีขึ้นมาก็จะหลุดจากภาวะไร้บ้านได้ แต่พอทำไปสักพักหนึ่ง จึงรู้ว่ามีความซับซ้อนของปัญหาค่อนข้างเยอะ คิดว่าภาครัฐไม่สามารถใช้นโยบายเดียวแก้ได้ ไม่ได้จบที่การฝึกอาชีพและสร้างรายได้”

ความคิดเห็นข้างต้นเน้นย้ำถึงภาครัฐว่านโยบายเดียวกันไม่อาจใช้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนในด้านที่อยู่อาศัยให้จบได้แบบฉีกซองเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ผศ.ดร.พีระได้ลงพื้นที่สำรวจ สอบถาม และพูดคุยกับทั้งคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการก้าวสู่ภาวะไร้บ้านใน 2 เมืองใหญ่ คือกรุงเทพมหานคร และขอนแก่น เพื่อพัฒนาโมเดล หรือ ‘แบบจำลอง’ ทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้คน 1 คนเปลี่ยนสถานะไปสู่คนไร้บ้านอย่างเต็มตัว

“โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อดูพัฒนาการชี้วัดโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ว่าระหว่างคนไร้บ้านกับคนเปราะบาง อะไรคือเส้นแบ่ง โดยมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลองที่มีความสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลคน 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่เป็นคนไร้บ้านอยู่แล้ว และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนเปราะบาง คือคนที่มีความเสี่ยง มีอาชีพไม่มั่นคง มีปัญหาต่างๆ เราทำแบบสอบถาม เก็บรายละเอียด ตั้งเป้าไว้ 300 คน คนไร้บ้านครึ่งหนึ่ง คนเปราะบางครึ่งหนึ่ง เพื่อเอาคาแร็กเตอร์ของเขามาเปรียบเทียบกัน

สำหรับคนไร้บ้าน เราเก็บข้อมูลทั้งจากกลุ่มที่อยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้าน 2 แห่งใหญ่ๆ ของกรุงเทพฯ คือ ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ที่บางกอกน้อยและที่รังสิต รวมถึงพื้นที่สาธารณะด้วย ไม่ว่าจะเป็นท่าน้ำนนท์ และหัวลำโพง ส่วนที่ขอนแก่น เก็บข้อมูลจากศูนย์พักคนไร้บ้าน และในที่สาธารณะตามตัวเมืองด้วย”

จากการทำวิจัยดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ มองเห็นข้อสังเกตน่าสนใจระหว่างรวบรวมข้อมูล โดยระบุว่า การที่คนคนหนึ่งกลายเป็นคนไร้บ้าน คนคนนั้นต้องมี 2 เงื่อนไขที่ทับซ้อน ได้แก่ ครอบครัวและเศรษฐกิจ

“หลักๆ ถ้ามองในมุมทางเศรษฐศาสตร์ คือ ปัญหารายได้เป็นหลัก แต่ต้องมีปัญหาที่ทับซ้อนอีกหนึ่งปัญหา คือ ปัญหาครอบครัว จึงอาจกล่าวได้ว่า คน 1 คน การจะกลายเป็นคนไร้บ้าน เป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีปัญหาซ้อนกัน 2 อย่าง คือ 1.ปัญหาทางรายได้ หรือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ 2.ปัญหาทางครอบครัว ทั้ง 2 ปัญหานี้ ต้องซ้อนกันอยู่ หรือมีพร้อมๆ กัน ถึงจะบีบให้คน 1 คนกลายเป็นคนไร้บ้านได้ ถ้ามีเพียงปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่อีกด้านยังเข้มแข็ง เขาจะยังไม่เป็นคนไร้บ้านในทันที เช่น ถ้ามีปัญหาในครอบครัว แต่ยังทำงานได้ ก็แค่ออกจากครอบครัวไปหาบ้านเช่า ในขณะเดียวกัน ถ้าตกงาน แต่ครอบครัวเข้มแข็ง ยังกลับไปขอความช่วยเหลือจากครอบครัวได้ ก็ยังไม่เป็นคนไร้บ้านในทันที”

ด้วยเหตุนี้คนไร้บ้านคือดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนึ่ง

อาชีพ ‘ว่างงาน’ กับคนไร้บ้าน ‘ต่างวัย’

ท่ามกลาง 2 เงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้ว ผศ.ดร.พีระ ยังระบุด้วยว่า จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้าน พบว่า ‘ปัญหานำ’ ของคนไร้บ้านที่ ‘อายุน้อย’ คือต่ำกว่า 20 ปี จนถึง 40 ปี กับคนไร้บ้านที่ ‘อายุมาก’ คือ 40 ปีขึ้นไป มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มที่อายุเยอะ ส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้านเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจนำ ตรงข้ามกับกลุ่มอายุน้อย

“กล่าวโดยง่ายคือ ตอนที่เขาอายุน้อย ยังไม่เป็นคนไร้บ้าน เพราะมีงานทำ แต่มีความเปราะบางทางครอบครัว อยู่ตัวคนเดียว เมื่อวันหนึ่งอายุมากขึ้น อาจทำงานแบบเดิมไหว เช่น เดิมรับจ้างขนของในตลาด ซึ่งไม่ใช่งานที่พัฒนาทักษะให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอเจ็บป่วย หรือมีอายุมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักเหมือนเดิมไหว ทำให้ขาดรายได้ จึงต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน จริงๆ แล้ว เขาอาจมีครอบครัวแต่ไม่อยากกลับ หรือกลับไม่ได้

ในขณะที่กลุ่มอายุน้อย จะสลับกัน คือ เป็นคนไร้บ้านด้วยปัญหาครอบครัวนำ เนื่องจากออกจากบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ความรู้และการพัฒนาทักษะยังมีไม่พอ งานที่ทำได้จึงเป็นระดับใช้แรงงาน รายได้ไม่สูง ทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะบ้านก็กลับไม่ได้ รายได้จากการทำงานก็ไม่มากพอที่จะให้หลุดจากภาวะไร้บ้าน เราจะเห็นความแตกต่างของ 2 กลุ่มนี้ค่อนข้างชัดเจน”

นี่คือข้อสังเกตสำคัญจากผู้ลงพื้นที่วิจัย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง นั่นคือ ‘กลุ่มคนเปราะบาง’ ที่ถึงวันนี้จะยังมีที่อยู่อาศัย แต่ก็เข้าข่าย ‘เสี่ยง’ ที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นคนไร้บ้าน นั่นเพราะการงานที่ไม่มั่นคง รายได้น้อย ตกงานเมื่อไหร่ มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะอยู่ในภาวะไร้บ้าน โดยอาชีพฮิตอันดับ 1 ของทั้งคนไร้บ้านและคนเปราะบางคือ รับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้แรงงาน หาเช้ากินค่ำ ส่วนที่ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ ‘อาชีพว่างงาน’

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรายได้เฉลี่ยของคนไร้บ้าน คือ 4,700 ต่อเดือน ส่วนคนเปราะบาง ตกราว 8,000 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มนี้ยังไม่เป็นคนไร้บ้าน

“ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือช่วงโควิด อาชีพท็อปฮิตอันดับ 2 ของคนเปราะบางคือ ว่างงาน บางคนเพิ่งมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะเคยทำงานห้าง พอห้างปิด ถูกเลิกจ้าง บางคนอาจมีบ้านต่างจังหวัด แต่คิดว่าจะยังไม่กลับ เลยกลายเป็นคนไร้บ้าน ยิ่งถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหามาก”

ทั้งหมดนี้ คือข้อสังเกตที่น่าสนใจและรับฟังอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับภาครัฐ ส่วนจุดมุ่งหมายของโครงการวิจัยซึ่งการประมาณการจะช่วยให้เห็นทิศทางเพื่อหาแนวทางรับมือให้ได้นั้น อยู่ระหว่างการนำข้อมูลทั้งหมดไปใส่ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งจะดำเนินการต่อไป โดยคาดว่าโครงการวิจัยนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2564

“หากได้ตัวแบบจำลองความเสี่ยงในการเป็นคนไร้บ้านแล้วอาจปรับให้ใช้งานง่ายขึ้น แล้วมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย รวมทั้งภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนเปราะบางใช้ในการประเมินความเสี่ยงว่าคนนี้เสี่ยงมากหรือน้อย ความช่วยเหลือควรเข้าไปในด้านใด ตัวแบบจำลองน่าจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้
และการที่มีแบบจำลองใช้ในการเตือนว่าจะเกิดภาวะไร้บ้าน จะเป็นการเตือนสังคมให้เห็นว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ อาจมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้ป้องกันได้อย่างทันท่วงที”

เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ ในภาพชีวิตของคนที่มีลมหายใจในนาม ‘ประชาชน’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image