ธนาคารกรุงเทพ จับมือ ประพันธ์สาส์น ติวเข้มนักวิจารณ์ตัวน้อย อบรมค่ายวรรณกรรมผ่าน Zoom

ธนาคารกรุงเทพ จับมือ ประพันธ์สาส์น ติวเข้มนักวิจารณ์ตัวน้อย อบรมค่ายวรรณกรรมผ่าน Zoom

เช้าวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ฝนพรำตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง กระนั้น สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ยังคงเตรียมต้อนรับน้องๆ จากหลากสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษาราว 10 คน จาก 40 คน ที่ได้รับทุนรางวัลโครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” รายละ 20,000 บาท โดยการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

เป็นครั้งแรกที่การจัดค่ายอบรมวิจารณ์วรรณกรรมปรับรูปแบบเป็น Versual Workshop ผสมผสานระหว่าง On Ground กับ Online ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom เพื่อการเข้าถึงเยาวชนในทุกพื้นที่ได้มากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เฝ้าระวังไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันก็ยังคงวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เยาวชนมีความรู้และสร้างสรรค์งานวรรณกรรม

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการผ่านทาง Zoom ว่า ธนาคารกรุงเทพอยากสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ได้ใช้ค่ายนี้ฝึกทักษะการอ่าน สามารถสังเคราะห์ความคิดจากการจับประเด็นต่างๆ และแสดงออกเป็นความเห็น ซึ่งกระบวนการต่างๆ หรือทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากในโลกสมัยใหม่

Advertisement

“จะเห็นว่าทุกวันนี้เรามีข้อมูลมากมายไม่ว่าผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งอื่นๆ แต่สำคัญคือ คนเรามักจะรีบให้ความเห็นหรือมีรีแอ๊กชั่น ซึ่งบางครั้งอาจขาดข้อมูลที่ครบถ้วนหรือไม่ได้มองแง่มุมต่างๆ

“ฉะนั้นกระบวนการอ่านเขียนเรียนรู้ที่เราจัดเวิร์กช็อปครั้งนี้จะเป็นการช่วยฝึกทักษะการอ่าน เสริมสร้างทักษะด้านความคิด และเพิ่มทักษะการแสดงความคิดเห็นโดยการเชื่อมโยงสิ่งที่อ่าน สิ่งที่สังเคราะห์ และสิ่งที่แสดงออกเพื่อเป็นความเห็นต่าง ซึ่งถ้าเราฝึกบ่อยๆ ก็จะมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะต่างๆ ในการสื่อสารที่ดีขึ้น”

ขณะที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 กล่าวถึงความสำคัญของการจัดค่ายอบรมการวิจารณ์วรรณกรรมว่า การวิจารณ์ช่วยส่งเสริมให้เกิดสังคมประชาธิปไตย บ้านเมืองไหนที่มีคนวิจารณ์แบบมีเหตุผลบ้านเมืองนั้นก็สงบ

Advertisement

“อยากให้งานวิจารณ์มีพัฒนาการ เราต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องของการวิจารณ์และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เพียงแต่ในค่ายนี้จะเป็นการวิจารณ์วรรณกรรม เอาวรรณกรรมเป็นตัวทดลอง เมื่อเขาสามารถแสดงการวิจารณ์ได้ ความเป็นประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นพื้นฐาน” และว่า

ในสื่อออนไลน์มีการวิจารณ์ แต่ก็เป็นการวิจารณ์อย่างไม่มีหลักการ อยากพูดอะไรก็พูด อยากว่าอะไรก็ว่า เราจัดค่ายอบรมขึ้นต้องการให้สิ่งนี้มีอยู่ ถ้าเราสามารถปูเรื่องนี้ไปกับการวิจารณ์วรรณกรรมได้ มันจะติดตัวเด็กไป เด็กจะรู้ว่าเวลาจะวิพากษ์วิจารณ์ใครต้องมีเหตุผล ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการอ่านการเขียนไปในตัว เพราะเราจะวิจารณ์ต้องอ่านก่อน เมื่อมีคนอ่านมาก คนเขียนก็ต้องพยายามเขียนเพื่อให้คนอ่านอีก มันก็จะพัฒนาไปด้วยกันทั้งการอ่านและการเขียนทั้งสองฝ่าย วงการอ่านการเขียนก็จะพัฒนา

ทางด้าน จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ อีกหนึ่งวิทยากรของค่าย ให้ทรรศนะว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเรียนรู้การวิจารณ์ (วรรณกรรม) เป็นเรื่องของทรรศนะวิจารณ์ เรื่องของระบบคิดให้เข้าใจว่าเราจะมองโลกอย่างไรมากกว่า

“ปัจจุบันพื้นที่ในการวิจารณ์มันเปลี่ยน นิตยสาร หนังสือพิมพ์ที่เคยเป็นพื้นที่หลักน้อยลง แต่สิ่งที่เราเห็นมากคือการวิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์คือ การที่ไม่มีการคัดกรองโดยกองบรรณาธิการที่เป็นระบบ หลายคนเปิดเว็บเพจเป็นผู้วิจารณ์และนำเสนอ”

กับประเด็นจรรยาบรรณของผู้วิจารณ์นั้น จรูญพรบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญ บางคนวิจารณ์เอามัน ซึ่งส่วนมากจะเห็นในการวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าพื้นที่ของสื่อจะเป็นอะไรก็ตามในแง่ของคนที่ทำงานวิจารณ์เราเรียกร้องการวิจารณ์ที่เข้มข้น บ้างแค่เล่าเรื่องให้ฟังและบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งมันอาจจะน้อยเกินไป ควรมีการพูดถึงแง่มุมต่างๆ ใช้การตีความ การวิเคราะห์ หรือเอาบริบทต่างๆ มาประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวเรื่องมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาการวิจารณ์มันดีขึ้น ฉะนั้นในค่ายจะมีเรื่องของการคิด การเขียน ถ่ายทอดเป็นในแง่ของความคิด การนำเสนอ รวมทั้งการเลือกใช้ภาษา

อีกวิทยากร วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เจ้าของรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง พ.ศ.2560 กล่าวว่า งานวิจารณ์คือการพูดถึงหรือนำเสนองานชิ้นนั้นๆ มีระดับตั้งแต่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งนี่คือสิ่งที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย แต่ค่ายอบรมอยากทำให้มันไปไกลกว่าแค่แสดงความรู้สึก

ตัวอย่างเช่น การแนะนำหรือพูดถึงงานชิ้นนั้นๆ เรียกว่า “การรีวิว” เพราะคนอ่านบางทีหยิบไม่ถูก นักวิจารณ์ก็ช่วยในการชี้นำ ระดับต่อมาคือ การลงลึกไปถึงการตีความที่เรียกว่า “การชำแหละ” ผ่านกรอบทฤษฎีการวิจารณ์ ซึ่งต้องเรียนรู้ และค่ายอบรมนี้จะสอนสิ่งนี้ คือ สอนกรอบทฤษฎีการวิจารณ์

สำหรับการวิจารณ์งานสารคดี ที่เรียกว่า Non Fiction จะต่างจาก Fiction ความที่มันเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนเขียนมาอย่างตรงไปตรงมา เราจะไม่อาศัยการตีความ หลักการวิจารณ์จึงต้องอาศัยความถูกต้อง ชัดเจน เป็นประโยชน์ ต้องดูว่าผู้เขียนทำข้อมูลมาถูกมั้ย อ่านแล้วได้รสรื่นรมย์มั้ยเพราะนี่คือหัวใจของสารคดี ต้องได้ความรู้และความบันเทิง ซึ่งในความเป็นจริงยังมีองค์ประกอบที่ลึกไปกว่านี้อีก เช่น เรื่องของวรรณศิลป์ เป็นต้น แต่ค่ายอบรม 3 วัน ก็จะสอนประมาณนี้

“ความคาดหวังคืออยากสร้างนักวิจารณ์ ปัจจุบันมีคนอยากเป็นนักเขียนเต็มไปหมด แต่ถามหานักวิจารณ์แทบจะหาไม่เจอ เป้าหมายของค่ายอบรมการวิจารณ์วรรณกรรมจึงเพื่อสร้างนักวิจารณ์ ผมเป็นทีมงานคนหนึ่ง สอนนักเขียน 40 คน ก็อยากให้เกิดบ้างสัก 10-20% ก็ยังดีเพื่อจะมีนักวิจารณ์ไปทำงานต่อ” วีระศักดิ์บอก

จากวิทยากรมาฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการอบรม นางสาวพิฐชญาณ์ นันทจรัสวิจิตร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ชั้นปีที่ 4 คณะ BBA-Finance บอกว่า ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6 แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่จริง แต่ก็สัมผัสได้ถึงความสนุกสนาน ความเป็นกันเอง และความรู้เนื้อหาการวิจารณ์ที่เข้มข้นตลอดทั้งสามวัน

“ขอขอบคุณ อ.ชมัยภร, อ.วีระศักดิ์, อ.จรูญพร ที่มอบความรู้ เล่าประสบการณ์งานเขียน และสอนพวกเราเกี่ยวกับการวิจารณ์ในหลากหลายรูปแบบ เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน และจะนำสิ่งที่เรียนรู้จากค่ายไปปรับใช้กับงานวิจารณ์หรืองานด้านการเขียนอย่างแน่นอน”

เช่นเดียวกับ นายสุรินทร์สรร สายยศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจอมพระประชาสรรค์ ที่บอกว่า ขอบคุณสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและธนาคารกรุงเทพ ที่มอบโอกาสที่ล้ำค่าให้ ตนเองเป็นเพียงนักเรียนมัธยมที่ชอบอ่านหนังสือและใฝ่หามุมมองความคิดต่างผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ บนโลกออนไลน์

“การได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้รับประสบการณ์ดีๆ มากมาย ได้เปิดโลกทัศน์ใบใหม่จากนักวิจารณ์และนักเขียนชั้นครู รวมทั้งศิลปินแห่งชาติที่ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากชีวิตจริงของผมเหลือเกิน ขอบคุณที่มอบโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้สู่การเป็นนักวิจารณ์ที่ดี สอนให้ผมได้รู้เทคนิคการอ่าน เขียน วิเคราะห์ จัดเรียงลำดับความคิด โดยวิจารณ์และวิพากษ์ด้วยการใช้ภาษาที่สวยงาม รู้จักแก่นของวรรณกรรม”

นอกจากนี้ยังได้มิตรภาพดีๆ สังคมใหม่ๆ จากพี่ๆ ที่ได้รับทุนเช่นเดียวกัน ได้รับรู้แลกเปลี่ยนมุมมอง และจะใช้ความรู้ที่ได้รับนำไปต่อยอดเป็นนักวิจารณ์ที่ดีในอนาคต

ส่วนอีกหนุ่มผู้รับทุนมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายกฤษณะ ชนะภัย บอกว่า การได้ร่วมโครงการครั้งนี้คือประสบการณ์ที่เปิดโลกแห่งการวิจารณ์วรรณกรรมของตนเองให้กว้างขึ้น

“การได้รู้จักความหลากหลายของงานวิจารณ์วรรณกรรม และกระบวนการทำงานวิจารณ์ที่เป็นระบบของผู้วิจารณ์แต่ละคน ผ่านการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ จนเกิดเป็นบทวิจารณ์ที่มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้วิจารณ์ ล้วนเป็นสิ่งที่ล้ำค่า รวมทั้งมิตรภาพจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ต่างชั้นปี ต่างสาขา ต่างสถาบัน ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งระดมความคิด ร่วมอภิปราย ตอบคำถาม เห็นความมุ่งมั่นในการทำงานของแต่ละคนที่ตั้งใจทำงาน และมีความเป็นนักวิจารณ์ที่ดี”

ระยะเวลา 3 วันของการได้ทำกิจกรรมร่วมกันของทั้ง 40 ชีวิต เรียนรู้สิ่งใหม่กับเพื่อนใหม่และโลกใบใหม่ กับนักเขียนนักวิจารณ์ตัวจริง แม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่อย่างน้อยความรู้จากค่ายนี้ยังสร้างความรู้ความเข้าใจ รู้จักสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาก่อนแสดงความคิดเห็น เพราะการวิจารณ์เป็นหลักพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่แค่การพูดหรือเขียนอะไรก็ได้อย่างใจคิด

จิรายุ วัฒนประภาวิทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image