เดินหน้าชน : ปรากฏการณ์ม็อบ โดย นายด่าน

การออกมาชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรทำให้เห็นแนวคิด วิธีการต่อสู้ของม็อบรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา นักเรียน และประชาชนวัยหนุ่มสาว ที่มีมุมมองความคิดต่างจากคนรุ่นเก่าๆ

จนผู้ใหญ่อาจจะตามไม่ทันยุค ทันเจนของพวกเขา ยุทธวิธีการต่อสู้เรียกร้องยังแตกต่างจากม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่เราเคยเห็นกันในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นหลายอย่างนอกจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างแรก ช่องทางการสื่อสารกันผ่านทางโซเชียลมีเดียของม็อบคณะราษฎร หรือ “กลุ่มราษฎร” เป็นช่องทางที่ทรงอานุภาพยิ่ง

Advertisement

ในการแพร่กระจายข่าวสารผ่านเพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การติดต่อผ่านทางทวิตเตอร์หลากหลายแอคเคาต์

รวมทั้งการตั้งกรุ๊ปผ่านแอพพลิเคชั่น “telegram” หรือเทเลแกรม

แอพพ์แชตที่ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.2013 โดย Pavel Durov และ Nikolai Durov สองพี่น้องชาวรัสเซีย

Advertisement

ปัจจุบันมียอดใช้งานทั่วโลกต่อเดือนสูงถึง 400 ล้านคน สามารถสร้างกลุ่มแชตขนาดใหญ่ที่รองรับได้สูงสุดถึง 200,000 คน

เชื่อว่าหลายคนเพิ่งจะรู้จัก telegram ก็จากการชุมนุมคราวนี้

อย่างที่สอง การชุมนุมคราวนี้ยังมีคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารกันหลายคำ เช่น แกงเทโพ ที่มาจาก 3 คำ คือ แกง หมายถึงแกล้ง เท หมายถึง ทิ้ง โพ หมายถึง โปลิส หรือตำรวจ การเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเพื่อแกงเจ้าหน้าที่ หรือรัฐบาล

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนมุมมอง สะท้อนตัวตนของม็อบคนรุ่นใหม่

จากนี้ต้องจับตาการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม ต่อเนื่องไปวันอังคารที่ 27 ตุลาคม ระดมความคิดเพื่อหาทางออก การเล่นเกมเตะถ่วงยิ่งจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายกว่าเดิม

ขอหยิบยกความเห็นจาก นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า การแก้ปัญหาระยะสั้นในการเปิดประชุมสภา ควรมีวิธีที่จะพูดคุยเพื่อหาทางออก ด้วยการงดการกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะถ้าเริ่มกล่าวโทษปัญหาจะไม่จบ และเสียเวลาอันมีค่า สิ่งแรกในการเปิดประชุมขอให้มีความเห็นในเชิงบวก ถ้าเป็นไปได้พยายามพูดในสิ่งที่ทำได้จริง แล้วถ้าจะเสนอแนะในเชิงบวกก็ขอให้บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้ชุมนุมจะทำอะไรได้บ้าง ในการประชุมสภาเชื่อว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับฟังความเห็นที่หลากหลาย

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคู่ขนานกับสิ่งที่รัฐบาลยื่นเงื่อนไข จากนั้นช่วยกันประเมินเพื่อให้ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดร่วมหรือจุดที่ยังเห็นต่าง จากนั้นให้ผู้เห็นต่างมีโอกาสมาพูดคุยโดยตรงมากขึ้น

ทั้งรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมต้องถอยคนละก้าว เพื่อให้ประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image