‘สุเทพ’ ย้ำผู้บริหารขับเคลื่อนอาชีวะยกกำลังสอง คุณภาพนำปริมาณ

‘สุเทพ’ ย้ำผู้บริหารขับเคลื่อนอาชีวะยกกำลังสอง คุณภาพนำปริมาณ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ โรงแรม เจ.พีเอ็มเมอรัลด์ จ.ยโสธร นาย สุเทพ   แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุม สัมมนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อขับเคลื่อนอาชีวศึกษาประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2564 ว่าในการขับเคลื่อนอาชีวะยกกำลังสอง สร้างคุณภาพ นำปริมาณ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม จากการถอดรหัสนโยบาย การศึกษากำลังสอง ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยอาชีวศึกษาจะเพิ่มความเข้มข้นในทุกมิติ  คือ ผู้เรียน ครู ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ และสถานศึกษา สู่การพัฒนาสถานศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง excellent Center ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), และ ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) ในการก้าวไปเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์   จำนวน 100 แห่ง ในกรอบการขับเคลื่อนปี 2564

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า  ขอให้สถานศึกษาทำในสิ่งที่ถนัด สร้างในสาขาที่เชี่ยวชาญ สู่ความเป็นเลิศ และทบทวนถึงที่มาของหลักการและเจตนารมย์การจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละประเภท ในสังกัดเช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง(วช.) เพื่อการจัดการศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับประชาชน ทั้งในด้าน Re-skills Up-skills  New-skills ระยะสั้น  ประเภท วิทยาลัยการอาชีพ(วก.) หลักการ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาครองรับการศึกษาสายวิชาชีพ พื้นฐานวิชาชีพที่สอดคล้องกับบริบทสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทุกสาขาวิชาโดยตอบโจทย์ในพื้นที่นั้นๆ  วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยี(วษท.) จัดการเรียนการสอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและนำเทคโนโลยี มาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร

“โดยในส่วนของสอศ.จะดำเนินการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยสนับสนุน แก้ปัญหา เช่นการคิด การจัดสรรงบประมาณ การลงทุน บริหารและการจัดการ ให้สถานศึกษาให้สามารถดำเนินการไปสู่ HCEC เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง หากไม่เปิดสอน ระดับปวช.และปวส.จะต้องดำเนินการการบริหารจัดการอย่างไรที่ไม่ใช้จ่ายแบบงบประมาณรายหัวผู้เรียน นำแนวคิดการใช้วิทยากรหรือครูผู้สอนระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาชีพเข้ามาเป็นครูผู้สอน และ เกลี่ยอัตราผู้สอนครูประจำที่มีอยู่ ไปในส่วนของวิทยาลัยเทคนิค หรือวิทยาลัยการอาชีพ หรือวิทยาลัยที่ขาดแคลนครู ทดแทนในส่วนครูจ้างสอน โดยเฉพาะในวิทยาลัยขนาดใหญ่” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนได้นำแนวคิดการปลดล็อคเพื่อสร้าง Win Win ให้กับสถานศึกษา และสถานประกอบการ ทั้งด้านกรอบงบประมาณการจัดสรร และการลงทุนของสถานประกอบการ เช่นภาษีในเรื่องของการจัดการศึกษา การนำอุปกรณ์การจัดการศึกษาหรือการลงทุนในการสร้างโรงงานในโรงเรียน ด้านการปรับเปลี่ยน พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องจัดการอาชีวศึกษารูปแบบทวิภาคีอย่างเข้มข้น ใช้หลักการ 4 on  ทั้ง1.online  2.on air 3.on demand และ4.on site ทางด้านสมรรถนะของวิชาชีพ ผู้เรียนต้องเพิ่มเติมและมีความพร้อมทางด้านภาษา ในภาษาที่สอง และสาม เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ รวมถึงทักษะด้าน Digital และเทคโนโลยีต่างๆ และ ด้านการเปิดกว้าง ในการตั้งห้องเรียนอาชีพในมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายโดยจัดทำเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐานและสามารถเก็บเป็นเครดิตเมื่อเข้าสู่การเรียนในระดับอาชีวศึกษา กำหนดเป้าหมาย เป็นหนึ่งวิทยาลัย หนึ่งเอกชนหรือสถานประกอบการ และหนึ่งโรงเรียนมัธยม แชร์ทรัพยากรร่วมกันในการจัดการศึกษา

Advertisement

“ในส่วนของอาชีวศึกษาเอกชนก็จะดำเนินการควบคู่กันไปอาชีวศึกษาภาครัฐ ส่วนในประเด็นของนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการแสดงออกทางความคิดเห็นต่าง ๆ ก็เปิดกว้างผ่านช่องทางการสื่อสาร ซึ่งเรียกว่าองค์การวิชาชีพของนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีอยู่ในสถานศึกษาทุกแห่งของอาชีวะ พร้อมกันนี้ ขอให้สถานศึกษาทุกแห่ง ยังคงตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานศึกษาทุกแห่งการ์ดอย่าตก” นายสุเทพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image