‘ก.ค.ศ.’ แย้มเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ‘ออนไลน์ทั้งระบบ-ให้ครูประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ’ คาดประกาศใช้ปี’64

‘ก.ค.ศ.’ แย้มเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ‘ออนไลน์ทั้งระบบ-ให้ครูประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ’ คาดประกาศใช้ปี’64

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายประวิต เอราวรรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ปรับปรุงระบบวิทยฐานะใหม่ทั้งระบบ ก.ค.ศ. โดยก.ค.ศ.จะปรับปรุงระบบเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะศึกษานิเทศก์ เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะผู้บริหารสถานศึกษา และเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะผู้บริหารการศึกษา ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยฐานะด้วย

นายประวิต กล่าวต่อว่า โดยก.ค.ศ. มีหลักการ 4 ข้อ ในการออกแบบระบบวิทยฐานะใหม่ คือ 1.ต้องลดความซ้ำซ้อนของการประเมิน เช่น ระบบการประเมินวิทยฐานะครู ต่อไปจะรวมการประเมินเงินเดือนและประเมินวิทยฐานะเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเรียกเกณฑ์การประเมินนี้ว่า เกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Appraisal) 2.ระบบการประเมินต่อไปจะเป็นออนไลน์ทั้งหมด เพื่อให้ทันสมัยและไม่ยุ่งยาก โดยครูไม่ต้องยื่นเป็นรายบุคคล แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาจะมีหน้าที่รับผิดชอบส่งข่อมูลเข้ามา โดยผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้ถือรหัสผ่านในการกรอกข้อมูลทั้งหมด และวงรอบการประเมินจะประเมินตามวงรอบการเลื่อนเงินเดือน คือเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม 3.การประเมินต้องลงไปที่ผลการปฏิบัติงานของครู โดยต้องเห็นภาพการทำงานหน้างานจริงของครู และ4. ประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ไม่ใช่แค่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะการทำงานในอนาคตของเด็กด้วย

“ส่วนระบบการประเมิน จะประเมินความก้าวหน้า ซึ่งต่างจากเดิมที่ครูนำสิ่งที่ตนเคยทำมาสร้างเป็นผลงานของตน แต่การประเมินแบบใหม่ จะเป็นการที่ครูบอกว่า ในอนาคตข้างหน้าครูวางแผนจะพัฒนาอะไรบ้าง และ ก.ค.ศ.จะตามประเมินเป็นระยะๆ นอกจากนี้ ครูต้องทำงานตามมาตรฐานของตนด้วย เพราะต่อไป ก.ค.ศ.จะกำหนดรูปแบบการประเมินไว้ว่า ในระยะเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ครูต้องได้รับการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะของตน และเมื่อครบ 5 ปี ของการดำรงตำแหน่ง แล้วครูต้องการเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น ครูจะต้องเสนอคลิปการสอนที่ดีที่สุดของตน แผนการจัดการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ของเด็ก เข้ามาในระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ประเมินสามารถประเมินผ่านออนไลน์ได้ทันที คาดว่าจะให้เวลา 2-3 เดือนในการประเมิน หากไม่ผ่านการประเมิน ครูสามารถส่งใหม่ได้ ทั้งนี้ก็มีข้อเสนอเช่นกันว่า หากมีครูเก่งสามารถประเมินข้ามขั้นได้หรือไม่ ก.ค.ศ.จะนำไปพิจารณาต่อไป เชื่อว่าการประเมินนี้จะลดภาระครู ลดความซ้ำซ้อนของงาน ให้ครูพัฒนาตนเองได้มากขึ้น และการประเมินต่อไปจะเป็นระบบเปิด ให้ครู ผู้บริหารเข้ามาดูว่าการประเมินและตัวบ่งชี้มีอะไรบ้าง เพื่อให้ครูวางแผนพัฒนาตนเองให้เร็วขึ้น” นายประวิต กล่าว

นายประวิต กล่าวต่อว่า ก.ค.ศ.จะนำกรอบแนวคิดการประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยโรงเรียน และครู และจะนำกรอบแนวคิดนี้มาทำหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ต้องพัฒนาระบบไอทีรองรับเพื่อเชื่อมต่อกับศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) ของ ศธ.ด้วย คาดว่าปีการศึกษา 2564 จะสามารถประกาศใช้เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image