ไทย ผนึกกัมพูชา-เวียดนาม หนุนระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งด้านใต้

ที่อาคาร CW Tower สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และภาคีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ CVTEC (Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor Conference) เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือเชื่อมโยงการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและไมซ์ ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งด้านใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) ภายใต้สถานการณ์ COVID-19

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังส่งมอบแผนงานยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ โครงการ CVTEC แก่ภาคีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ว่า เป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งด้านใต้ ให้มีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีความต่อเนื่อง และอำนวยประโยชน์แก่เศรษฐกิจของทั้งสามประเทศได้อย่างแท้จริง

โดยโครงการ CVTEC เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งด้านใต้ของประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนาม ด้วยการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพ การเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุน ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและไมซ์ ด้านการพัฒนาบุคลากร ในภาคบริการ ตลอดแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งด้านใต้ (Southern Coastal Sub-Corridor) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ของไทย จังหวัดเกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกป ของกัมพูชา และจังหวัดเกียนยาง-กาเมา ของเวียดนาม

” สภาหอการค้าฯตระหนักถึงความสำคัญของโครงการ CVTEC ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และเพิ่มพูนศักยภาพด้านเศรษฐกิจของทั้งสามประเทศ สร้างความพร้อมและส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมด้านการค้า การลงทุน ด้านโลจิสติกส์ ด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ ในงานจะช่วยสร้างความตื่นตัวและกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่ นอกจากภาคีพันธมิตรจะร่วมรับมอบแผนยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันไปในแนวทางเดียวกันแล้ว ยังประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมองกำหนดแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนโครงการ CVTEC อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เชื่อมั่นว่าโครงการ CVTEC จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิด กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวของไทย กัมพูชาและเวียดนามให้มากเพิ่มขึ้นด้วย ” นายกลินท์ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ โครงการ CVTEC ได้ดำเนินต่อมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ซึ่งหน่วยงานทางภาครัฐและเอกชน ได้ประสานทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันโครงการ CVTEC ให้เกิดขึ้นได้จริง โครงการ CVTEC ไม่เพียงแต่จะกระจายโอกาสในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงที่เคยกระจุกตัวเท่านั้น ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นช่องทางการสร้างงานและการพัฒนาภูมิภาค ที่สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญอย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) จังหวัดตราด พร้อมทั้งยังสามารถพัฒนาให้เชื่อมโยงกับ Belt and Road Initiative (BRI) โดยเฉพาะเส้นทาง สายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) และยังส่งผลถึงกิจกรรมการค้าในพื้นที่ชายแดน อันจะนำไปสู่ การขยายผลความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ด้วยการเปลี่ยนธุรกิจ ภาคบริการแบบดั้งเดิมเป็น High Value Services ยกระดับธุรกิจบริการที่มีศักยภาพมาสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย creative economy และเพิ่มคุณค่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยโครงการนำร่องด้าน การท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการผลักดัน คือ การเปิดเส้นทางเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวชายฝั่งระหว่างสามประเทศ ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมไมซ์ ที่จะได้รับรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเข้าร่วมงานประชุม หรืองานจัดแสดงสินค้า รวมถึงรายได้จากการลงทุน การจัดงานแสดงต่าง ๆ นอกจากนี้ การจัดงานไมซ์ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในพื้นที่อีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image