สสส.และภาคีเครือข่ายเดินหน้าลดจำนวนผู้สูบหรี่ในสถานประกอบการ

สสส.และภาคีเครือข่ายเดินหน้าลดจำนวนผู้สูบหรี่ในสถานประกอบการ

 

หนึ่งในสถานที่สำคัญ และหลายคนมักจะใช้ชีวิตมากที่สุดในแต่ละวันนั่นคือ สถานประกอบการหรือสถานที่ทำงานต่าง ๆ ที่เป็นอีกหนึ่งจุดขับเคลื่อนสำคัญของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ซึ่งจะต้องให้ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้อย่างจริงจัง ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับหน่วยงานเอกชน หากสามารถสร้างเครือข่ายป้องกันการสูบบุหรี่ที่เข้มแข็งได้ ก็จะช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดการสัมนา “สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ ตัวช่วยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ด้วยการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของพนักงานจากการสูบบุหรี่ โดยมีภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้านการควบคุมการสูบบุหรี่ร่วมเวทีเสวนา ได้แก่ ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตลอดจนสถานประกอบการตัวอย่าง ที่สามารถขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถทำให้พนักงานในสถานประกอบการเลิกสูบบุหรี่ได้ ได้แก่ นายปริญญา กระจ่าง หัวหน้าแผนกบุคคล บริษัท โกลบอล พลาสท์ จำกัด และนายวิโรจน์ วงศ์รักษา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด

ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานการควบคุมยาสูบในสถานประกอบการว่า ได้เริ่มขับเคลื่อนงานมาตั้งแต่ปี 2551 และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 5 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการโดยตรง ด้วยการจัดอบรม และให้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบกับสถานประกอบการขนาด 50 คนขึ้นไป ที่มีอยู่กว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ไม่ใช่งานเดียวแล้วจบ โดยมีโมเดลสถานประกอบการต้นแบบที่สามารถนำมาขยายผลต่อได้ ทำให้ มีผู้สามารถเลิกสูบบุหรี่ประมาณ 5,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีผู้บริหารระดับสูงเข้ามาให้ความร่วมมือโครงการนี้ก็มีความก้าวหน้า ทำงานได้ง่าย พร้อมมองว่าหากขับเคลื่อนได้สำเร็จ จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสวัสดิภาพด้านสุขภาพของวัยทำงานได้ ซึ่งการทำงานกับสถานประกอบการจะใช้หลักแนวคิดที่ว่า การสูบบุหรี่เป็นปัญหาต่อสถานประกอบการอย่างไร จากนั้นสถานประกอบการแต่ละแห่งก็จะจัดทำโครงการขึ้นมาแก้ไขปัญหาและดูแลจุดนี้

Advertisement

ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 5 โดยจะเริ่มพัฒนากระบวนการควบคุมยาสูบให้เกิดความร่วมมือกับระบบบริการสุขภาพ (ระบบหลัก) และหน่วยงานราชการ ซึ่งโครงการฯ พร้อมเป็นจุดเชื่อมโยงให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน เข้ามาร่วมเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในสถานประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันได้เริ่มลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ 12 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีสถานประกอบการหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น ลำพูน เชียงใหม่ เป็นต้น โดยให้สถานประกอบการร่วมดำเนินงานควบคุมยาสูบกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน คือ ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในสถานประกอบการ พร้อมส่งข้อเสนอให้หน่วยงานในจังหวัด จัดทำรายงานเพื่อส่งไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในระยะที่ 5 นี้ จะต้องมีจังหวัดที่เป็นโมเดลต้นแบบ ในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในสถานประกอบการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ขณะที่ ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การทำให้สถานประกอบการเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นกลไกหลักที่ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศลดลงได้มากขึ้น โดยได้มีการนำงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพพนักงานที่ต้องรักษามากขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงการสูบบุหรี่ทำให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทำให้ภูมิต้านทานลดลง ส่งผลให้เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ส่งผลต่อตัวผู้สูบได้มากขึ้น และร่างกายที่อ่อนแอ มีโรคประจำตัว ทำให้ติดเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ได้ง่ายเช่นกัน

ด้านตัวแทนสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมยาสูบ เช่น นายวิโรจน์ วงศ์รักษา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ระบุว่า ที่ผ่านมามีพนักงานที่เลิกสูบบุหรี่ได้เด็ดขาด 3 คน และมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 20 คน สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มอีก 2 คน โดยคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ส่วนใหญ่ คือ อยากให้สุขภาพดีขึ้นและครอบครัวร้องขอเพื่อดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์หรือเด็กในครอบครัว โดยยืนยันว่า การที่พนักงานเลิกสูบบุหรี่ได้ ส่งผลให้ผลิตภาพการทำงานดีขึ้นได้ถึง ร้อยละ 7

Advertisement

นายปริญญา กระจ่าง หัวหน้าแผนกบุคคล บริษัท โกลบอล พลาสท์ จำกัด กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา มีพนักงานเลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น 3 คน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 คน รวมเป็น 8 คน ขณะเดียวกันได้มีโครงการ แฮปปี้ มันนี่ เพื่อช่วยเหลือด้านหนี้สินให้พนักงาน โดยให้พนักงานสามารถกู้เงินกับกองทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นำเงินไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งช่วยให้พนักงานลดความเครียด ลดการพึ่งพาบุหรี่ ไม่นำเงินไปซื้อบุหรี่อีกต่อไป

ขณะที่บุคคลตัวอย่างในการเลิกบุหรี่ คือ นายไพฑูรย์ นาคศรี พนักงาน บริษัท  โกลบอล พลาสท์ จำกัด กล่าวว่า ตนเองได้สูบบุหรี่มานานเกือบ 30 ปี หลังจากการที่เข้ารับการอบรมของบริษัททำให้เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวัดค่าคาร์บอนมอนอกไซจากลมหายใจพบว่า มีค่าสูงมากกว่าพนักงานคนอื่น ๆ จึงทำให้ฉุกคิดว่า ที่ผ่านมามีสารเคมีอยู่ในปอดของตนเองเป็นจำนวนมาก ประกอบกับภรรยาตั้งครรภ์ จึงทำให้ตัดสินใจเลิกเด็ดขาด โดยการหักดิบ และเลิกบุหรี่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ จึงไม่มีผลข้างเคียงอะไรในช่วงที่เลิกบุหรี่แรก ๆ ซึ่งผลพวงจากการเลิกสูบบุหรี่ ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น และยังมีเงินเก็บในแต่ละเดือน เพิ่มขึ้นกว่า 3,000 บาท เพราะไม่ต้องซื้อบุหรี่วันละซอง โดยเงินที่ประหยัดไว้ได้นั้น ก็สามารถออมไว้สำหรับอนาคตได้ และยังมีเงินไปซื้ออาหารที่มีอาหารดี ๆ มาบำรุงครรภ์ให้กับภรรยาได้อีกด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่อยากฝากให้คนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ คือ เลิกบุหรี่ได้หรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้ามีจิตใจที่มุ่งมั่นจะทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ และไม่กลับมาสูบบุหรี่ซ้ำอีก

ส่วน นางธัญญารัตน์ พันธุ ซึ่งเป็นภรรยา กล่าวว่า หลังจากสามีได้เลิกบุหรี่แล้ว ทำให้มีเวลาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมากขึ้น จากเดิมที่ต้องรอให้สูบบุหรี่หลังจากเลิกงานก่อนเข้าบ้าน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นมากกว่าเดิม มีเงินเก็บมากขึ้น และอยากฝากไว้ว่า การสูบบุหรี่นั้นจะส่งผลต่อลูกหลานผ่านควันบุหรี่มือสอง ดังนั้น จึงอยากให้เลิกสูบเพื่อลูกหลานของเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image