ให้เห็นกับตา และเชื่อมั่น แก่งกระจาน สมควรเป็นมรดกโลก??

ให้เห็นกับตา และเชื่อมั่น
แก่งกระจาน สมควรเป็นมรดกโลก??

สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 43 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อกลางปี 2562 ซึ่งในตอนนั้น ประเทศไทยได้นำเสนอให้ พื้นที่ป่าแก่งกระจาน เป็นพื้นที่มรดกโลกแห่งใหม่ ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ประเทศไทยนำส่งเอกสารเพิ่มเติม

ในเมื่อยังมีคำถามมากมาย สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของพื้นที่ป่าแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอมรดกโลกและการขอสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับชุมชนที่อยู่ในเขตและนอกเขตอุทยานแห่งชาติ โดยการเข้าร่วมประชุมหมู่บ้านและชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของงานสำรวจการครอบครองที่ดินในป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ตามมาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติในแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้บังคับใช้

Advertisement

เมื่อพ้นระยะเวลาหนึ่งและรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ปัญหาชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปัจจุบัน โดยเฉพาะชนชาติกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บ้านบางกลอย ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากหน่วยราชการต่างๆ จนทำให้เกิดรายได้ของชุมชนจากการค้าสินค้าเกษตร จัดการท่องเที่ยวและบริการได้มากขึ้น การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สุขศาลาพระราชทาน ระบบน้ำโซลาร์เซลล์ที่สามารถปั๊มน้ำได้ตลอดเวลา ทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนามากขึ้น

Advertisement

 

ชุมชนส่วนใหญ่ได้รับการจัดการที่ดินจะเป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวที่อพยพมาอาศัยอยู่กับญาติตั้งแต่ช่วงแรก กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อด้วยการใช้พื้นที่ทำกินที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรผักผลไม้ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้นให้เป็นรายได้ของชุมชน ที่ดินที่ได้รับการตรวจสอบจัดการตามกฎหมายสามารถตกทอดถึงลูกหลานได้แต่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ทางที่ดิน มีความมั่นคงมากขึ้น

ข้อมูลดังกล่าวนี้จะถูกนำส่งให้คณะกรรมการมรดกโลกรับทราบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาอีกครั้งในปี 2564 ซึ่งจะมีการประชุมกันที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ราวกลางปี 2564

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

นายประเสริฐ ศิรินภาพร

 

 

โดยระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้เเทนไทยในคณะกรรมการมรดกโลก พร้อมด้วย นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ ต้อนรับคณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมกรรมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน จัดโดย สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีคณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย กัวเตมาลา โอมาน บาห์เรน สเปน ไนจีเรีย รัสเซีย และบราซิล โดยมุ่งหวังให้รัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกได้ทราบถึงสภาพพื้นที่จริง และการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อปกป้องและคุ้มครองคุณค่าความโดดเด่นของพื้นที่ เเละเเสดงให้เห็นถึงความพยายามของราชอาณาจักรไทยในการดำเนินการเพื่อผลักดันให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ผ่านตัวแทนพื้นที่คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรม จากกระทรวงการต่างประเทศ เเละกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช

 

นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ราชอาณาจักรไทยตระหนักถึงคุณค่าความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จึงได้นำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้กับคณะทูตานุตทูตรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนได้เห็นสภาพพื้นที่ และความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานที่อยู่ระหว่างการนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งราชอาณาจักรไทยโดยหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้อง และคุ้มครองคุณค่าความโดดเด่น และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การจัดอบรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากร และยังได้ดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการบุกรุก ทำลายป่า และร่วมกันในการอนุรักษ์ ปกป้อง และคุ้มครอง พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลังสืบไป ซึ่งการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ของไทย เพื่อเป็นการยืนยันให้กรรมการมรดกโลก ได้เห็นข้อเท็จจริง.  ประกอบการนำส่งเอกสาร การขอขึ้น ทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลก ที่ไทยได้นำส่งไปแล้วเมื่อต้นปี 2563 ทั้งนี้การพิจารณาแห่งมรดกโลกภายใต้อนุสัญญา จะมีขึ้นอีกครั้ง ในการประชุม รัฐภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญามรดกโลก ครั้งที่ 44 ในกลางปีหน้า และประเทศไทยได้รับคำชื่นชมในการจัดกิจกรรมตลอดทั้ง3วัน

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสาธารณรัฐประชาชนจีน กลางปี 2564 เพื่อตัดสินว่า 1 ในมรดกโลกแห่งใหม่ จะใช่กลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทย หรือไม่นั้น ถือว่ามีความหวังอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image