พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเมื่อใช้มีดไร้คมผ่าตัดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเมื่อใช้มีดไร้คมผ่าตัดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยได้เห็นข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ในโรงเรียนอยู่บ่อยครั้งจนดูเหมือนจะรู้สึกคุ้นชิน ทั้งข่าวที่เด็กนักเรียนใช้ความรุนแรงทำร้ายกันเอง หรือข่าวที่ครูทำโทษเด็กนักเรียนโดยใช้ความรุนแรงในโรงเรียนต่างๆ และโดยเฉพาะข่าวความรุนแรงที่ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนอนุบาลยิ่งทำให้สังคมไทยตระหนักและเห็นถึงปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ใช้เป็นกฎหมายหลักในการป้องกันและจัดการปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนใช้บังคับอยู่แล้ว แต่ทำไมปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนถึงยังเกิดขึ้นโดยตลอดต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

จนน่าสนใจที่จะตั้งคำถามต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ว่ามีกระบวนการและมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันและจัดการปัญหาความรุนแรงที่กระทำต่อเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ และควรจะทำอย่างไรถึงจะทำให้สังคมไทยมีกฎหมายป้องกันและจัดการปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

หากพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในหลายๆ เรื่อง ทั้งการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม ป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแล้ว จะพบว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งในการป้องกันความรุนแรงด้วยการป้องกันไม่ให้เด็กถูกทารุณกรรม แต่ก็มีวัตถุประสงค์อื่นๆ ในการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติของเด็กรวมอยู่ด้วย ไม่ได้มุ่งใช้บังคับเฉพาะเจาะจงกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่นักเรียนถูกกระทำในโรงเรียนเท่านั้น ที่อาจทำให้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพียงพอในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ที่ปัจจุบันมีความซับซ้อน ความรุนแรงและการขยายตัวของปัญหามากขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ อีกทั้งบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ มุ่งใช้บังคับกับเด็กเป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งใช้บังคับเฉพาะเจาะจงกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเท่านั้น

Advertisement

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 หมวด จะพบว่า ไม่มีบทบัญญัติในหมวดใดเลยที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่กระทำต่อเด็กนักเรียนในโรงเรียนเป็นการเฉพาะ มาตรา 65 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาว่า จะต้องกระทำเท่าที่สมควรเพื่ออบรมสั่งสอนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งก็คือ ระเบียบกระทรวงศึกษาฯว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ก็ไม่ได้มีที่มาจากความต้องการป้องกันความรุนแรงที่กระทำต่อเด็กนักเรียนในโรงเรียน แต่มีที่มาจากมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งหากฝ่าฝืนระเบียบอาจต้องถูกอบรมสั่งสอนหรือถูกลงโทษ แต่การลงโทษจะต้องกระทำเท่าที่สมควรเพื่ออบรมสั่งสอนตามระเบียบที่กำหนด ดังจะเห็นได้จากการที่บทบัญญัติของมาตรา 64 และมาตรา 65 ดังกล่าว อยู่ในหมวด 7 ว่าด้วยการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา

หากประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงที่กระทำในโรงเรียนบังคับใช้เป็นการเฉพาะ น่าจะทำให้มีกฎหมายเพื่อป้องกันแก้ไขและขจัดความรุนแรงในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งกฎหมายนี้อาจจะกำหนดคำนิยามและประเภทของความรุนแรงในโรงเรียน กำหนดมาตรการในการป้องกันความรุนแรงประเภทต่างๆ และระหว่างบุคคลต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน และกำหนดกระบวนการและบุคคลที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการระงับยับยั้งและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจผู้ถูกกระทำ มาตรการเยียวยาและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาตรการดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญา และกำหนดบทลงโทษที่มีความเหมาะสม
กับการป้องกันระงับยับยั้งปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ที่อาจคำนึงถึงอายุของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำและพฤติการณ์ความร้ายแรงของการกระทำรุนแรงประกอบ ซึ่งน่าจะทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่กระทำต่อเด็กนักเรียนในโรงเรียนมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม

สำหรับประเทศฝรั่งเศสมีบทบัญญัติเรื่องความรุนแรงที่กระทำในโรงเรียนบังคับใช้เป็นการเฉพาะ โดยบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายการศึกษา (Code de l’ducation) ที่มีบทบัญญัติในเรื่องการป้องกันแก้ไขและขจัดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนรวมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นความรุนแรงที่กระทำระหว่างเด็กนักเรียนด้วยกันเอง ครูกระทำต่อนักเรียน หรือนักเรียนกระทำต่อครูในโรงเรียน โดยอาจเป็นความรุนแรงที่กระทำทางกาย ทางวาจา การคุกคามข่มขู่ การคุกคามทางเพศ ความรุนแรงที่กระทำผ่านสังคมออนไลน์หรือผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ พัฒนาการด้านการเรียน ผลการเรียน และคุณภาพชีวิต เป็นต้น โดยประมวลกฎหมายการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน บุคคลต่างๆ ที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรง และการเยียวยาผล
กระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการเยียวยาผลกระทบทางจิตใจ

Advertisement

ซึ่งประเทศไทยอาจนำเอาบทบัญญัติเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่กระทำในโรงเรียนในประมวลกฎหมายการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสที่มีความเหมาะสม มาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเป็นการเฉพาะ และให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสภาพสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม
สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image