ผู้เขียน | คอลัมน์หน้า 3 มติชน |
---|
รูปแบบกระสวน ‘สาส์น’จาก‘ราษฎร’ โฉมใหม่การเมือง
กรณีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อไปส่ง “สาส์น” อันมาจาก “ราษฎร” เมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน กำลังอยู่ระหว่างการประเมิน
นักการทูตอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน จะประเมินอย่างหนึ่ง
นักการทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะประเมินอีกอย่างหนึ่ง
ดูได้จากกรรมวิธีของ “ตำรวจ”
คนที่มารับ “สาส์น” จาก “ราษฎร” ยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผลก็คือ ตู้ไปรษณีย์สีแดงถูกขนไปกองไว้ ณ สน.ชนะสงคราม
นี่ย่อมเหมือนกับเมื่อเช้าวันที่ 20 กันยายน
ถามว่าหนังสือที่ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ส่งไปยังสำนักองคมนตรีผ่านมือผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอยู่ที่ไหน
การกระทำจึงสะท้อนกระบวนการในทาง “ความคิด”
หากอ่านพาดหัวของสื่ออันเป็นกองเชียร์ของรัฐบาลก็ย่อมจะได้รับความสะใจว่า “สาส์น” ของ “ราษฎร” ยังกองอยู่ที่ สน.ชนะสงคราม
เหมือนกับ “หนังสือ” ที่ รุ้ง ปนัสยา เคยนำส่ง
ความสะใจเช่นนี้แหละที่เกิดขึ้นในห้วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงแล้วลงมือสลายการชุมนุมตอนเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม หน้าทำเนียบรัฐบาล
ตามมาด้วยการสาดน้ำในค่ำวันที่ 16 ตุลาคม ณ แยกปทุมวัน
ผลที่ตามมาในวันที่ 17 ตุลาคม แยกลาดพร้าวเป็นอย่างไร ผลที่ตามมาในวันที่ 18 ตุลาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอย่างไร
เช่นเดียวกับการส่ง “หนังสือ” ร้องเรียนในวันที่ 20 กันยายน
หากไม่เข้าใจต่อการกระทำเช่นนั้นก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจการเคลื่อนขบวนจากสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีบนถนนสาทร
และไม่เข้าใจ “สาส์น” อันมาจาก “ราษฎร”
อุบัติแห่ง “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งพัฒนายกระดับมาเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม คือปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมือง
นี่มิได้เป็นสงครามเพื่อชิง “พื้นที่” อย่างธรรมดา
ตรงกันข้าม แต่ละจังหวะก้าว แต่ละการเคลื่อนไหวสะท้อนให้เห็นนวัตกรรมใหม่ในทางการเมืองซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากอดีต
ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
นี่คือการต่อสู้ที่เริ่มต้นจากการปักธงในทาง “ความคิด” รุกคืบไปสัประยุทธ์สร้างความสั่นคลอนอย่างถึงรากโคนต่ออำนาจนำ “เก่า”
จนสามารถยึดครองพื้นที่ “ข่าว” มาได้อย่างสิ้นเชิง
จากที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวในพื้นที่ของ “สื่อเก่า” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ สถานการณ์ในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายนเป็นอย่างไร
นี่คือชัยชนะ นี่คือการเข้าไปยึดครอง
ขณะที่นักการทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่เข้าใจ
แต่นักการทูตอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน เข้าใจ
เชื่อได้เลยว่า นับวันกระสวนการเคลื่อนไหวและเสนอความคิดของ “เยาวชนปลดแอก” และ “คณะราษฎร 2563” จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติ
นี่คือธรรมชาติ อันเป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง