‘ไม่มีที่ไหนเหมือนคลองสาน’ จับตาทุกวันของความเปลี่ยนแปลง

‘ไม่มีที่ไหนเหมือนคลองสาน’ จับตาทุกวันของความเปลี่ยนแปลง
โมเดลจำลองพื้นที่คลองสาน

ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงแต่อย่างใด สำหรับความเปลี่ยนแปลงอย่างว่องไวที่เกิดในชุมชนฝั่งธนบุรีจากการมาถึงของรถไฟฟ้าและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ “คลองสาน” ที่มีพัฒนาการทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับว่ามองจากมุมไหน และใครคือเจ้าของสายตา

“ไม่มีพื้นที่ไหนที่โดดเด่นเหมือนคลองสานแล้ว สะดวกทั้งการเดินทางทางบกและทางน้ำ มีพื้นที่ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีวันที่จะเงียบเหงา ความเจริญริมแม่น้ำ ขยายตัวขึ้นมาก เพราะเสน่ห์ความเป็นเมืองเก่าที่สร้างใหม่ไม่ได้ โอกาสทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจคลองสานจึงมีศักยภาพที่พร้อมมาก”

อาจารย์ไมเคิลปริพล ตั้งตรงจิตร

เป็นความเห็นของ อาจารย์ไมเคิลปริพล ตั้งตรงจิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีต่อคลองสานอันเป็น 1 ใน 10 “ย่านนวัตกรรม” ตามโครงการภายใต้นโยบายและการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่ง มจธ. เข้าไปศึกษา วิจัย สร้างเครือข่าย ต่อยอดการทำงาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพของคลองสาน ตั้งแต่ พ.ศ.2560 ด้วยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเมือง สร้างเศรษฐกิจและนวัตกรรม

“สิ่งที่ชุบชีวิตคลองสาน คือ ระบบขนส่งมวลชน ที่สามารถเชื่อมคลองสานไปยังเขตเศรษฐกิจ สาทร สีลม สุขุมวิท ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที และยังเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ เชื่อมจุดสำคัญในฝั่งพระนครเกือบทั้งหมด คลองสานจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของฝั่งธนบุรี นอกจากนี้การคมนาคมโดยรถไฟฟ้ายังทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่คลองสานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และทั้งหมดสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ทั้งทางเรือ รถไฟ และการเดินเท้า

Advertisement

“จุดเด่นย่านคลองสานคือเป็นเมืองเชื่อมต่อกันหมด เช่น คนฝั่งพระนคร สามารถเดินทางท่องเที่ยวด้วยการลงรถไฟฟ้าที่สถานีอิสรภาพ ก็สามารถเดินเที่ยวชมวัดในย่านเมืองเก่าฝั่งธนบุรี ได้ เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร โบสถ์คริสต์ วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และสามารถเดินท่องเที่ยวต่อไปยัง วัดอนงคารามวรวิหาร, ท่าดินแดง, ล้ง 1919, The Jam Factory

บรรยากาศลงพื้นที่คลองสาน โดย มจธ.

“หรือ คนฝั่งธนบุรี สามารถลงเรือข้ามไปฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ โดยลงที่สถานีสนามไชย เที่ยวชม วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ท่าเตียน ท่าราชวรดิฐ วัดสุทัศน์ หาของอร่อยรับประทานแถวศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นต้น”

ส่วนการรักษาวัฒนธรรมเก่าของชุมชนในย่านนี้ อาจารย์ไมเคิลปริพลมองว่า สิ่งหนึ่งคือความเป็นเมืองที่แน่น บ้านเรือนอยู่ติดๆ กันทั้งวัด ชุมชน สามารถเดินต่อเนื่องเชื่อมกันไปได้หมด ไม่มีถนนใหญ่ตัดผ่าน

Advertisement

ปรับปรุงตึกร้าง ต่อยอดธุรกิจ แชร์ทรัพยากร

ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องท่องเที่ยวที่พูดถึงกันบ่อยๆ แต่ความที่ย่านนี้ยังมีตึกแถวเก่าที่ยังร้างในรัศมีไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้ามากนัก อีกสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือการต่อยอดทางธุรกิจ ไม่ปล่อยให้เกิดภาพความเสื่อมโทรมในพื้นที่ แนวความคิด Creative Sharing Space จึงเกิดขึ้น

ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี

ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ.ในฐานะหัวหน้าโครงการย่านนวัตกรรมคลองสาน ระบุว่า โครงการต่อยอดธุรกิจด้วยแนวคิดข้างต้น อยู่ระหว่างขอทุนเพื่อทำแอพพลิเคชั่นเก็บข้อมูล และพูดคุยกับเจ้าของอาคารต่างๆ เพื่อแนะนำ ให้ข้อมูล ในเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ ให้เกิดการเช่าหรือขาย จุดประสงค์อยากให้เกิดการเช่า เพราะการเช่าจะเป็นการแชร์ทั้งทรัพยากรและรายได้ให้เจ้าของเดิม และคนลงทุนใหม่

“จากการพูดคุยกับกลุ่มสตาร์ตอัพ มีความนิยมที่จะใช้พื้นที่ที่ใกล้กับรถไฟฟ้า ไม่เน้นเรื่องที่จอดรถ ไม่เน้นเช่าอาคารสำนักงาน และนิยมพื้นที่ที่เป็นตึกเก่าเอามาปรับปรุงเพื่อสร้างแบรนด์ให้เข้ากับความเป็นตัวตนของธุรกิจของเขา ซึ่งตึกเก่าย่านคลองสานตรงใจและตอบโจทย์ อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบโจทย์การสร้างพื้นที่นวัตกรรมและการพัฒนาเมือง การสร้างเครือข่ายในพื้นที่ให้เข้มแข็งก็เป็นส่วนสำคัญในพื้นที่นวัตกรรมย่านคลองสาน

ผลจากการทำงานร่วมกับชุมชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ จึงเกิดเป็นเครือข่ายคลองสาน เช่น สำนักงานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานเอกชน เช่น ไอคอนสยาม ล้ง 1919 แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น สิงห์เอสเตท เป็นต้น

จนกระทั่งเกิด คลองสานเฟส 2019 เทศกาลปล่อยของย่านคลองสาน ตอน เดินดูหนัง-นั่งดูน้ำ เมื่อต้นปี 2562 ซึ่งพื้นที่คลองสานในอดีต มีโกดังเก็บพืชผลทางการเกษตร และยังมีกลุ่มธุรกิจยาขนาดเล็กและกลุ่มเครื่องหนังที่ทำธุรกิจในลักษณะขายส่งในพื้นที่นี้อีกด้วย กลุ่มธุรกิจเครื่องหนังในพื้นที่เริ่มต่อยอดธุรกิจเอง มีโรงเรียนสอนทำเครื่องหนัง มีโรงแรมที่พักแบบโฮสเทล และในงานคลองสานเฟส 2019 เขาก็ทำ Walking Tour ถนนเครื่องหนังด้วย” ดร.กัญจนีย์กล่าว และย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ เจ้าของพื้นที่ต้องมีส่วนในการวางแผนพื้นที่ สร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของให้กับชุมชนเนื่องจากจะเป็นทางอนุรักษ์พื้นที่ที่ดีที่สุด ในฐานะสถาบันการศึกษาก็มีหน้าที่ไปให้ข้อมูล

รุกคลอง น้ำท่วม ฝุ่นจิ๋ว โจทย์ใหญ่ ‘วันนี้’ ถึง 100 ปีข้างหน้า

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ย้ายต้นไม้ เตรียมปรับปรุงทางเดินเท้า

แน่นอนว่า ท่ามกลางความเจริญที่รุดหน้า ผลกระทบก็ตามมา ทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ การรุกล้ำลำคลองและเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากเขตคลองสานมีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาหลายกิโลเมตร โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมจากการหนุนของน้ำทะเล หรือการเพิ่มของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) หรือ Storm Surge (คลื่นที่หนุนจากพายุฝน) ในอนาคตเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้และเป็นปัญหาใหญ่ ที่เครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่คลองสานก็รับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและมีการพูดคุยในเรื่องนี้

น้ำเน่าท่วมขังปัญหาอมตะ

ดร.กัญจนีย์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ได้ใช้เครือข่ายการประชุมจากเวทีนักวิชาการนานาชาติ มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูล โอกาสที่จะเกิดและการแก้ปัญหา โดยหารือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น รวมถึงกลุ่ม บริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ เช่น AECOM Thailand กลุ่มธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา และกลุ่ม DTGO พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไอคอนสยาม โดยกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ เหล่านี้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีการเตรียมป้องกันไว้แล้ว เช่น ห้างสรรพสินค้าและคอนโดที่สร้างใหม่มีความสูง จึงอาจกระทบน้อย แต่ธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้หากพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ จึงพยายามผลักดันให้มีการพูดคุยในระดับชาติมากขึ้น

“การคาดการณ์ในอีก 50-100 ปีข้างหน้าหากปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการยกตัวของน้ำทะเล (Storm Surge) ขึ้นได้ มีการทำแบบจำลอง (scenario) กรณีเกิด Storm Surge หรือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) ว่าระดับน้ำท่วมจะสูงกี่เมตร มีพื้นที่ใดบ้างที่น้ำจะท่วม และหากยอมรับความเสี่ยงจะปล่อยให้ท่วมได้แค่ไหน เป็นต้น

“นอกจากน้ำท่วมแล้วยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ทางทีม มจธ.กำลังเก็บข้อมูลว่าลมในระดับ Street Level ช่วยลด PM2.5 ได้หรือไม่ และลมที่ผ่านคลองสามารถลดผลกระทบเกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island) หรือระบายมลพิษทางอากาศได้เร็วขึ้นหรือไม่ โดยเป็นงานวิจัยที่เริ่มเก็บข้อมูลใน 4 เขต ได้แก่ คลองสาน ธนบุรี จอมทอง และทุ่งครุ ภายในสองถึงสามเดือนนี้จะมีสรุปเบื้องต้นว่าผลเป็นอย่างไร

“หากผลออกมาว่าช่วยลดผลกระทบเกาะความร้อนเมือง โดยเป็นแนวกระจายความเย็น จากพื้นที่สีเขียวและน้ำ (Cool Spot) ในเมือง รวมทั้งมลพิษทางอากาศ อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่การรักษาสภาพความเขียวของเมืองและพื้นที่คลองไว้ ไม่ให้ถูกรุกล้ำหรือทำลายมีความหมายสำหรับทุกคนในเมือง” ดร.กัญจนีย์กล่าว

ศูนย์ราชการมหาดไทย โปรเจ็กต์ใหญ่ที่ต้องจับตา

ขยับเวลามาใกล้กว่านั้น คลองสานที่มีความเปลี่ยนแปลงในทุกเมื่อเชื่อวัน ยังกำลังเผชิญความแปรเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกหน หลังการมาถึงของห้างใหญ่และรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยเมื่อ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้แก้ไขสถานที่สร้างศูนย์ราชการของกระทรวงมหาดไทย จากเดิมข้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นการใช้ที่ดินราชพัสดุ แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน จำนวน 18 ไร่ ด้วยงบประมาณ 5,574 ล้านบาท รวม 6 กรมในสังกัดมหาดไทย

แบบจำลองศูนย์ราชการมหาดไทย ที่จะสร้างในย่านคลองสาน

ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ อย่าง เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า โปรเจ็กต์ที่ว่านี้ ย่อมกระทบต่อพี่น้องประชาชนในเขต ทั้งคนที่อาศัยอยู่แถบนั้นและคนที่ต้องสัญจรไปมาผ่านย่านเจริญนคร สะพานตากสิน อีกทั้งยังจะมีข้าราชการประจำกว่า 7,800 คน ที่จะต้องเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นอย่างมาก

ลักษณะชุมชนย่านคลองสาน
ชุมชนอู่ใหม่ติดพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ราชการมหาดไทย

ย้อนไปก่อน ครม. เคาะโครงการ เท่าพิภพ เคยเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ วัดเศวตฉัตรราชวรมหาวิหาร ชาวบ้านที่มาแสดงความคิดเห็นในวันนั้น ส่วนใหญ่มาจาก “ชุมชนอู่ใหม่” ซอยเจริญนคร 23 ชุมชนเก่าแก่ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้าง

“ประธานชุมชนได้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมถึงข้อกังวลของชาวบ้านว่าจะถูกเวนคืนที่หรือไม่ ตัวแทนจากกระทรวงได้ตอบในที่ประชุมแล้วว่า จะไม่มีการเวนคืนที่แต่อย่างใด จะใช้เฉพาะอาณาเขตของที่ราชพัสดุเท่านั้น

“ส่วนกรณีที่เกิดความเสียหายจากการก่อสร้าง มีการกำหนดวงเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายเบื้องต้นระหว่างรอเคลมประกันไว้ 15 ล้านบาท หลังเลิกประชุม ผมเลยถือโอกาสลงพื้นที่ไปดูบริเวณที่จะก่อสร้าง

“แต่เนื่องจากเป็นที่ราชพัสดุล็อกไว้เข้าไปไม่ได้ จึงเดินเลาะเข้าไปในซอยเจริญนคร 23 ที่ท้ายซอย ผมพบคุณลุงที่ได้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมเหมือนกัน ผมจำแกได้เลยขอเข้าไปดูหลังบ้านแกที่ติดกับพื้นที่ก่อสร้าง จึงได้ไปเห็นพื้นที่อู่ต่อเรือ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุมชน และนอกจากนี้ยังมีหลุมหลบภัยด้วย ที่มีเพราะลุงเล่าว่าที่ตรงนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการทิ้งระเบิดสมัยนั้น”

อย่างไรก็ตาม ส.ส.เท่าพิภพยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนให้ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะหลายๆ อย่างยังไม่ลงตัว รายงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยบริษัทที่เข้ามาทำเรื่องความเห็นจากคนในพื้นที่จะมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงรายงาน ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีก 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ และจะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่ต้องร่วมจับตา ‘คลองสาน’ ในวันพรุ่งนี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image