คิดเห็นแชร์ : อีกตัวอย่างในการพัฒนาไฟฟ้า ในพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกลในเมียนมา

เดือนที่แล้วผมได้ยกตัวอย่างการพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลในประเทศอินโดนีเซีย วันนี้จะขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ประเทศเมียนมา หรือพม่า เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ที่ระบบไฟฟ้าแห่งชาติตามวิถีปกติของเขาก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงอยู่แล้ว แต่เหตุใดเขากลับมีกลไกที่ขับเคลื่อนการบริการไฟฟ้าทั่วถึงให้แก่ชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศพม่า ปัจจุบันมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ของทั้งประเทศมีประมาณเพียง 3,500 MW ขณะที่กำลังการผลิตติดตั้งอยู่ประมาณ 5,000 MW มีทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ อัตราการเข้าถึงระบบไฟฟ้า (Electrification Rate) ของพม่า มีเพียง 35% ขณะที่อีก 65% ของประชากรยังต้องใช้ไฟฟ้าแบบปั่นกันเอาเองอยู่ หรือซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนที่ใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าและมีราคาแพงมากๆ

โดยสถิติแล้ว ในพม่า มีหมู่บ้านรวมประมาณ 60,000 กว่าหมู่บ้าน แต่มีเพียง 20,000 กว่าหมู่บ้านเท่านั้น ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของ ESE (หรือ Electricity Supply Enterprise หรือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไฟฟ้าพม่า) ได้

แต่ปัจจุบันทางพม่าได้วางแผนจะลดการเหลื่อมล้ำทางพลังงานไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายไปให้ถึง 99% (แบบไทย) ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปี ข้างหน้า (…จาก 35% !! นะครับ)

Advertisement

ดังนั้น ตามแผนไฟฟ้าแห่งชาติของพม่าหรือ National Electrification Plan (NEP) จึงได้กำหนดเป้าหมายโดยการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน (อันนี้ ไทยเรา ไม่มีนะครับ) ไว้ดังนี้ :

1.การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพม่า (ESE : Electricity Supply Enterprise) จะต้องวางเสา-พาดสายไฟฟ้า เชื่อมต่อครัวเรือนใหม่ต่างๆ ที่ยังไม่เคยได้เชื่อมต่อประมาณ 500,000 ครัวเรือนต่อปี เป็นเวลา 10 ปีต่อเนื่อง

2.กรมเร่งรัดพัฒนาชนบท (Department of Rural Development) จะต้องเก็บสแปร์ให้หมู่บ้านตามพื้นที่ห่างไกลและเกาะต่างๆ มีไฟฟ้าใช้ด้วยระบบ “Mini-Grid” โดยหนึ่งระบบอาจประกอบด้วยการผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้ระบบลักษณะนี้สามารถจ่ายไฟให้ครัวเรือนตามเกาะต่างๆ ได้ให้ถึง 300 ครัวเรือน/ระบบ และมีกลไกการให้ชุมชนร่วมกำหนดค่าไฟไม่ให้แพงเกินไปด้วย
(ดูรูปประกอบ)

Advertisement

ระบบของพม่าได้รับการช่วยเหลือในการวางแผนและออกแบบระบบจากธนาคารโลก (World Bank) โดยได้มีการออกกฎหมายที่ชื่อว่า “Electricity Law 2014” ซึ่งกำหนดให้ระบบไฟฟ้าใดๆ หากมีขนาดต่ำกว่า 30 MW ที่เป็นระบบ off-grid นั้น มอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถพิจารณาลงทุนเองได้ หรือเปิดร่วมทุนกับเอกชนและชุมชนได้ ซึ่งในรอบ 2-3 ปี ก็มีการตื่นตัวจากภาคเอกชนของต่างชาติรวมทั้งไทยที่เข้าไปลงทุนในพม่าอย่างมากมายด้วยครับ

ผมคิดว่ามีบางเรื่องที่ทางไทยเราคงต้องมองดูพม่าบ้างแล้วล่ะครับ อย่างน้อยใน 3 ประเด็นที่เขานำหน้าเราไปแล้ว คือ 1.มีแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน 2.มีกฎหมายรองรับทำให้กำหนดบทบาทของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ และ 3.เปิดให้มีการส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนร่วมลงทุนได้ครับ ทั้ง 3 เรื่องนี้ประเทศไทยน่าจะเลียนแบบบ้างนะครับ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image