รัฐบูม 5 จี ‘อีอีซี’ กระตุ้นลงทุนปี ’64

ภาพประกอบ 5G

รัฐบูม 5 จี ‘อีอีซี’ กระตุ้นลงทุนปี ’64

สเต็ปการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้การบอกเล่าจาก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังที่มีให้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ กระตุ้นการจ้างงาน เพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่ม และลำดับถัดไปคือการกระตุ้นการลงทุน

โดยเฉพาะพื้นที่ “ไฮไลต์” ของไทยคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับการลงทุนประเทศควบคู่ไปกับการลงทุนของภาครัฐและการส่งออก

เพื่อทดแทนการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรง ทำให้ไทยเองก็ยังวางใจไม่ได้การเปิดรับนักท่องเที่ยวจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างมาก

ล่าสุด การขับเคลื่อนด้านการลงทุนของไทยเริ่มขยับ เห็นได้จากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสื่อสารต่างๆ และเทคโนโลยี 5จี ในอีอีซีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันระบบ 5จี จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก

ดังนั้น การที่ไทยได้เปิดประมูลระบบ 5จี ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะทำให้ไทยก้าวหน้าในด้าน 5จี มากที่สุดในภูมิภาคนี้

และจะเป็นแรงดึงดูด “อุตสาหกรรมไฮเทค” ที่สำคัญให้เข้ามาอยู่ในไทย รวมทั้งยังจะเกิด “ธุรกิจสตาร์ตอัพ” ใหม่ๆ ขึ้นมา จะเป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหม่ และ “สมาร์ทปาร์ค” ในอีอีซี

Advertisement

ที่ผ่านมาบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดีอีเอส ได้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 5จี

ซึ่งทีโอทีประมูลได้คลื่นความถี่ 26 กิกะบิต เป็นความถี่ระดับสูง ครอบคลุมตึกสูงและพื้นที่เฉพาะ เหมาะกับการใช้ในพื้นที่โรงงานและอาคารต่างๆ

ขณะที่ กสท ประมูลได้ความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เหมาะกับพื้นที่วงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ

ล่าสุด ทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างการควบรวม ทำให้มีศักยภาพสูงในการเจาะตลาด 5จี ในทุกระดับ และมีความเสถียรสูงสุด รองรับการลงทุนในเทคโนโลยี 5จี ในอนาคต

รัฐมนตรีดีอีเอสยังให้ข้อมูลว่า ในอาเซียนประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำมากที่สุดคือ สิงคโปร์ แต่ในด้านการวางโครงข่าย 5จี ยังช้ากว่าไทย เพราะสิงคโปร์มีเพียง 2 บริษัทที่ประมูลคลื่น 5จี ได้ คาดว่าต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการวางระบบโครงข่ายให้ครอบคลุมทั้งเกาะสิงคโปร์

ขณะที่ไทยได้เดินหน้าอย่างชัดเจนในการนำร่องวางระบบ 5จี ซึ่งจะทำให้ภายใน 1 ปี พื้นที่อีอีซีจะใช้ 5จี ได้ ทำให้ไทยมีความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งอื่นๆ

ดังนั้น การลงนามความร่วมมือกับอีอีซีจึงทำให้ไทยมีความโดดเด่นในเรื่องการลงทุนเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันเงื่อนไขดึงดูดการลงทุนได้เปลี่ยนไป จากเดิมไทยใช้จุดเด่นในเรื่องขนาดพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานราคาถูก

แต่ปัจจุบันจุดเด่นนี้สู้ไม่ได้ ไทยจึงปรับตัว มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง นักลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านี้จะมองในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเทคโนโลยีระดับสูงได้

ดีอีเอสจึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เร่งวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5จี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องใช้ระบบ 5จี ดำเนินงานจะทำให้ไทยมีจุดเด่นเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่นๆ ในลักษณะการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ

“เทคโนโลยี 5จี เป็นนวัตกรรมสำคัญจะช่วยสนับสนุน และขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัล ให้กว้างขวางและครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ จะจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

รวมทั้งสามารถปรับใช้ในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข ให้เข้าถึงการบริการรักษาการวินิจฉัยโรคแม่นยำ ด้านการเกษตร เพาะปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีมูลค่าสูง เก็บรักษาได้ยาวนาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ซึ่งบริการ 5จี จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ชุมชนครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างโอกาส ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีดีอีเอสระบุ

ด้าน คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาธิการอีอีซี) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่นำร่องในการวางโครงข่ายระบบ 5จี คือ 1.อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะในอนาคต อาทิ ระบบตรวจรถเข้าออก ระบบรักษาความปลอดภัย และการจราจร 2.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยทีโอทีจะเข้าไปวางโครงข่ายท่อร้อยสายไฟเบอร์ออปติกเสาส่งสัญญาณ 5จี และระบบอื่นๆ

โดยหลังจากนี้จะใช้เวลา 3 เดือนในการศึกษาในรายละเอียดแนวเส้นทางการวางท่อและเสาส่งสัญญาณ จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างทันที ซึ่งจะช่วยรองรับผู้ประกอบการในนิคมฯ ธุรกิจด้านการแพทย์ และจะมีการตั้งศูนย์รวมสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพ

เลขาธิการอีอีซียังเปิดแนวคิดสำคัญว่า เร็วๆ นี้เตรียมจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษ 5จี อ.บ้านฉาง เป็นพื้นที่นำร่อง ครอบคลุมระบบ 5จี ระยะกว่า 10 ตารางกิโลเมตร และจะขยายไปพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต โดยจะเข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตนี้ อาทิ เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติ สิทธิการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย และใบประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับ 5จี

รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทย โดยระบบ 5จี นอกจากเพิ่มศักยภาพในโรงงานยังกระตุ้นธุรกิจบริการชั้นสูง อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบคลาวด์ ไอโอทีเซ็นเตอร์

ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งจากสหรัฐและจีนสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5จี รวมไปถึงธุรกิจบริการและการพัฒนาวิจัย 5จี

“การพัฒนาโครงข่าย 5จี ในพื้นที่อีอีซีมีความสำคัญ เพื่อรองรับการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่คิดเป็น 50%

รวมทั้งจะดึงนักลงทุนด้านดิจิทัลรายสำคัญของโลกมาลงทุนในไทย คาดว่าจะชัดเจนปลายปีนี้ โดยโครงข่ายเหล่านี้จะรองรับการลงทุนในปี 2564 เรียกว่าเป็นปีแห่งการลงทุนที่แท้จริง ควบคู่ไปกับการค้าการส่งออก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะการฟื้นตัวได้จริง ปี 2565 เพราะปี 2564 ไทยและทั่วโลกยังอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” เลขาธิการอีอีซีทิ้งท้าย

การกระตุ้นลงทุนปลายปีนี้ต่อเนื่องปีหน้าภายใต้เครื่องมือสำคัญคือ 5จี เป็นอีกความพยายามของภาครัฐ

ส่วนจะดึงเม็ดเงินได้จริง หรือแค่ขายฝัน ต้องติดตาม!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image