กฎหมายคู่ชีวิต
1.ทุกท่านคงรู้จักคุ้นเคยกับคำว่า “คู่สมรส” กับ “คู่ชีวิต” กันอย่างดีแล้ว ปัจจุบันคำสองคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกันคือหมายถึงสามีภริยา แต่ในอนาคตอันใกล้คำสองคำนี้ จะมีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากกฎหมายคู่ชีวิตผ่านความเห็นชอบของ รัฐสภาประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย โดย “คู่สมรส” จะหมายถึงชายกับหญิงที่จดทะเบียนสมรสกัน เพื่ออยู่กินด้วยกันเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย ส่วน “คู่ชีวิต” หมายถึงชายกับชายหรือหญิงกับหญิงที่จดทะเบียนคู่ชีวิตกัน เพื่ออยู่รวมกันเป็นครอบครัวช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามกฎหมาย
2.กฎหมายคู่ชีวิตเริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่กระทรวงยุติธรรมโดยข้อเสนอของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ตั้งคณะกรรมการทำการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ขึ้น โดยอาศัยหลักการของกฎหมายต่างประเทศทั้งระบบ Civil และ Common Law เพื่อให้สิทธิบุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิตกันได้ เมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตกันแล้วบุคคลทั้งสองมีสิทธิและหน้าที่ทำนองเดียวกันกับสามีภริยา ที่จดทะเบียนสมรสกัน คณะรัฐมนตรีส่งร่างพระราชบัญญัตินี้ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จำนวน 8 คน โดยมีศาสตราจารย์ พิเศษ ประสพสุข บุญเดช เป็นประธานเพื่อพิจารณาในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ใช้เวลาตรวจพิจารณาประมาณ 1 ปี จนถึงวันที่ 9 มีนาคม 2563 จึงพิจารณาแล้วเสร็จ ส่งร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ที่ตรวจแก้แล้วกลับคืนให้คณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวิปรัฐบาล เพื่อนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
3.ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 บรรพ 5 (ครอบครัว) และบรรพ 6 (มรดก) ให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถทำการหมั้น ทำการสมรส และรับมรดกกันได้เช่นเดียวกับ บุคคลต่างเพศกัน
ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัตคู่ชีวิต พ.ศ. ….ภายในปี 2563
4.กฎหมายคู่ชีวิตมีหลักการและเหตุผลเพื่อให้บุคคลเพศเดียวกัน โดยกำเนิดมาก่อตั้งครอบครัวโดยการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกัน เมื่อเป็นคู่ชีวิตกันแล้วคู่ชีวิตมีสิทธิ และหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสที่ต่างเพศกัน โดยกฎหมายมีบทบัญญัติ 46 มาตรา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว อีก 5 มาตรา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมการสมรสซ้อนกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตให้เป็นโมฆะ เพิ่มเติมเหตุ ฟ้องหย่าในการมีภริยาน้อยหรือมีคู่ชีวิต หรือกระทำหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่น เพื่อสนองความใคร่เป็นอาจิณให้เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ และเพิ่มเติมให้บุคคลที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพ หากจดทะเบียนคู่ชีวิตหมดสิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพด้วย
5.เพื่อให้การเป็นคู่ชีวิตมีผลเช่นเดียวกับสมรส โดยไม่ต้องมีบทบัญญัติเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต
หนี้สินของคู่ชีวิต การแบ่งทรัพย์สินของคู่ชีวิต เมื่อเลิกการเป็นคู่ชีวิต กฎหมายคู่ชีวิตจึงมีบททั่วไปที่เป็นบทกวาดในร่างมาตรา 15 กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้คู่ชีวิตที่เป็นชายทั้งสองคน หรือเป็นหญิงทั้งสองคนนี้ไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นสามี หรือเป็นภริยาเหมือนเช่น คู่สมรส คงมีสถานะ เพียงเป็นคู่ชีวิตทั้งสองคนเท่านั้น นอกจากนี้ คู่ชีวิตไม่มีสิทธิและหน้าที่เหมือนเช่น สามีหรือภริยาตามกฎหมายอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคู่ชีวิตโดยชัดแจ้ง เช่น ตามกฎหมายสัญชาติ กฎหมายชื่อบุคคล เป็นต้น
6.กฎหมายคู่ชีวิตไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร สิทธิและหน้าที่ของบิดา มารดา และบุตร เพราะโดยสภาพคู่ชีวิตไม่อาจมีบุตรได้ หากคู่ชีวิตที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ระหว่างการเป็นคู่ชีวิตโดยการผสมเทียม บุตรที่เกิดมาต้องถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วย กฎหมายของหญิงที่ให้กำเนิดแต่ผู้เดียวเท่านั้น
ความหมายของการเป็น “คู่ชีวิต”
7.กฎหมายคู่ชีวิตกำหนดความหมายของการเป็น “คู่ชีวิต” ว่าหมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน โดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัติคู่ชีวิต
(ร่างมาตรา 3)
คู่ชีวิตจะทำการหมั้นกันหรือให้สินสอดกันไม่ได้
8.กฎหมายคู่ชีวิต ไม่ยินยอมให้บุคคลเพศเดียวกันทำการหมั้นหรือให้สินสอดแก่กัน ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวมาตรา 1437 กำหนด แบบของการหมั้นหรือสัญญาหมั้นว่า การหมั้นจะต้องเป็นชายกับหญิงหมั้นกัน โดยชายมอบของหมั้นที่เป็นของชายให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิง หากหญิงกับหญิงหมั้นกัน หรือชายกับชายหมั้นกันแม้จะมีของหมั้นมอบให้แก่กันก็ไม่ถือว่าเป็นสัญญาหมั้น แม้ชายกับหญิงหมั้นกัน โดยหญิงเป็นผู้มอบของหมั้นให้แก่ ชาย สัญญาหมั้นก็ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีของหมั้นที่ต้องเป็นของชายมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่หญิง นอกจากนี้ ชายและหญิงที่หมั้นกันจะต้องมีเจตนาสมรสกัน โดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายด้วย หากไม่มีเจตนาสมรสกันตามกฎหมายทรัพย์สินที่ชายให้แก่หญิงไม่ใช่เงินของหมั้น แต่เป็นการให้โดยเสน่หา แม้หญิงไม่ยอมสมรสกับชาย ชายก็เรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้
ส่วนสินสอดนั้นมาตรา 1437 วรรคท้ายกำหนดว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่ ชายมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่บิดามารดาหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสตามกฎหมายกับชาย คู่สัญญาสินสอดต้องเป็นชายกับบิดามารดาหญิงเช่นเดียวกันกับสัญญาหมั้น หากมีการให้ทรัพย์สินแก่กัน โดยไม่มีเจตนาสมรสกันตามกฎหมายก็ไม่ใช่สินสอด แต่เป็นการให้โดยเสน่หา แม้ไม่มีการสมรสก็เรียกคืนไม่ได้
การที่กฎหมายคู่ชีวิตไม่มีบทบัญญัติให้ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ทำสัญญาหมั้นหรือสัญญาสินสอดต่อกัน สอดคล้องกับหลักการของ Civil Partnership Act 2004 ของสหราชอาณาจักร มาตรา 73 และมาตรา 197 ที่กำหนดให้สัญญาจะจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่มีผลใช้บังคับฟ้องร้องกันไม่ได้ ร่างมาตรา 6 แห่งร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตจึงกำหนดว่าสัญญาจะจดทะเบียนคู่ชีวิตจะมาฟ้องศาลให้บังคับ ให้จดทะเบียนคู่ชีวิตไม่ได้ และถ้ามีข้อตกลงจะให้เบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญาจะจดทะเบียนคู่ชีวิตข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ดี หากมีข้อตกลงกันอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าผิดสัญญาจะจดทะเบียนคู่ชีวิตคู่สัญญาต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เช่น ค่าทดแทน ความเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจดทะเบียนคู่ชีวิต และค่าเสียหายในการจัดการทรัพย์สินหรืออาชีพ เพื่อเตรียมการจดทะเบียนคู่ชีวิต โดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 นั้น ข้อตกลงเช่นว่านี้ใช้บังคับได้ เพราะเฉพาะข้อตกลงจะให้เบี้ยปรับเท่านั้นที่เป็นโมฆะ ไม่รวมถึงข้อตกลงอื่นๆ ด้วย
ส่วนในกรณีที่ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงให้ทรัพย์สินแก่กันเป็นของหมั้น หรือสินสอดต้องถือว่าเป็นการให้โดยเสน่หา จะถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 หรือมาตรา 532 ไม่ได้ ต้องห้ามตามร่างมาตรา 20
เงื่อนไขแห่งการจดทะเบียนคู่ชีวิต
9.กฎหมายคู่ชีวิตกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญในการจดทะเบียนคู่ชีวิตไว้ 5 ประการ
หากฝ่าฝืนการจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นโมฆะ คือ
9.1 คู่ชีวิตทั้งสองคนต้องมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย (ร่างมาตรา 8)
9.2 คู่ชีวิตต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (ร่าง มาตรา 9(1))
9.3 คู่ชีวิตต้องไม่เป็นญาติสนิทที่สืบสายโลหิตโดยตรงต่อกัน หรือเป็นพี่น้องกัน คือเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน เหลน พี่น้องกัน (ร่างมาตรา 9(2)
9.4 คู่ชีวิตต้องไม่มีคู่สมรส หรือคู่ชีวิตอยู่แล้ว (ร่างมาตรา 9(3))
9.5 คู่ชีวิตต้องยินยอมเป็นคู่ชีวิตกัน มิใช่มาจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายเพียงประการเดียว เพื่อให้ได้รับประโยชน์ลำดับรองของการเป็นคู่ชีวิต เช่น ประโยชน์ทางการเงิน ที่พักอาศัย หรือประโยชน์อื่นใด โดยทั้งสองคนตกลงกันอย่างชัดแจ้งที่จะไม่อยู่กินด้วยกันเป็นครอบครัว และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน เช่น จดทะเบียนคู่ชีวิตเพื่อให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ได้สิทธิขออนุญาตอยู่ในประเทศไทย หรือได้สิทธิในการเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ (ร่างมาตรา 11)
หากจดทะเบียนคู่ชีวิตโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขใน 5 ประการนี้ การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นโมฆะ (ร่างมาตรา 29) ต้องมาฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัวให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นโมฆะ (ร่างมาตรา 30)
10.กฎหมายคู่ชีวิตยังกำหนดเงื่อนไขที่ไม่สำคัญในการจดทะเบียนคู่ชีวิตไว้อีก 5 ประการ หากฝ่าฝืนการจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นโมฆียะ แต่ต้องมาฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัวให้พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างมาตรา 33) คือ
10.1 คู่ชีวิตต้องมีอายุอย่างต่ำ 17 ปีบริบูรณ์ (ร่างมาตรา 7) อายุขั้นต่ำของคู่ชีวิตที่กำหนด 17 ปีบริบูรณ์นี้เท่ากับอายุขั้นต่ำของคู่สมรส โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้จากร่างเดิมที่กำหนดอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ยอมให้มีการขออนุญาตศาลขอจดทะเบียนคู่ชีวิตก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์เหมือนกับการจดทะเบียนสมรส
10.2 จดทะเบียนคู่ชีวิต โดยสำคัญผิดตัวคู่ชีวิต (ร่างมาตรา 33(2))
10.3 จดทะเบียนคู่ชีวิตโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาด (ร่างมาตรา 33 (3))
10.4 จดทะเบียนคู่ชีวิตโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาด (ร่างมาตรา 33(4))
10.5 จดทะเบียนคู่ชีวิตของผู้เยาว์ที่ไม่ได้รับความยินยอมของบิดามารดา หรือผู้ปกครอง (ร่างมาตรา 33(5)
นายทะเบียนในการจดทะเบียนคู่ชีวิต
11.นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตเป็นนายทะเบียนผู้มีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนคู่ชีวิต ส่วนการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่กระทำนอกราชอาณาจักรให้กงสุลไทย หรือข้าราชการสถานทูตไทย ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นนายทะเบียน (ร่างมาตรา 10)
สิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต
12.คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันเช่นเดียวกับคู่สมรสโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 15) หากเป็นผู้เยาว์ที่บรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างมาตรา 16) มีภูมิลำเนาแห่งเดียวกัน (ร่างมาตรา 17) มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือเพิกถอนคำสั่งให้คู่ชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ร่างมาตรา 18) หากคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่ได้ตั้งตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และมีการจัดทำบัญชีทรัพย์สิน คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นคู่ สมรสในการเป็นพยานลงลายมือชื่อรับรองบัญชีทรัพย์สิน (ร่างมาตรา 19) คู่ชีวิตมี อำนาจจัดการแทนแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา เช่น ร้องทุกข์ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ยอมความในความผิดต่อส่วนตัว ดำเนินคดีต่างผู้ตายได้ (ร่างมาตรา 21) คู่ชีวิตต้องอยู่ร่วมกันเป็น ครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน (ร่างมาตรา 22) หากมีเหตุที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวโดยปกติสุขหรือจะ เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือทำลายความผาสุกอย่างมาก มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้สั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ (ร่างมาตรา 23)
ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต
13.คู่ชีวิตมีสิทธิทำสัญญาก่อนจดทะเบียนคู่ชีวิตในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษได้ (ร่างมาตรา 24) เช่น ทำสัญญาว่าทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตมีเพียงสินส่วนตัวเท่านั้นหรือเงินเดือนของคู่ชีวิตคนใดให้เป็นสินส่วนตัวของคู่ชีวิตคนนั้น เป็นต้น
14.ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิตมี 2 ประเภท คือ สินส่วนตัว กับทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต (ร่างมาตรา 25)
15. สินส่วนตัวมี 3 ชนิด (ร่างมาตรา 26) คือ
15.1 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนการเป็นคู่ชีวิต
15.2 ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือ
วิชาชีพของคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
15.3 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างการเป็นคู่ชีวิตโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
สินส่วนตัวของคู่ชีวิตคนใด คู่ชีวิตคนนั้นเป็นผู้จัดการโดยอนุโลมตามการจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรส (ร่างมาตรา 15)
16.ทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต มี 3 ชนิด (ร่างมาตรา 27) คือ
16.1 ทรัพย์สินที่คู่ชีวิตได้มาระหว่างการเป็นคู่ชีวิต
16.2 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างการเป็นคู่ชีวิตโดยพินัยกรรม หรือการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต
16.3 ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิตได้ โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญเท่านั้นที่จะต้องจัดการร่วมกันทั้งสองคน เช่น ทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิตเป็นที่ดิน คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำไปให้เช่า เป็นเวลา 3 ปีสามารถทำได้ แต่ถ้าจะนำไปขายต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่ชีวิตอีกฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาล เพิกถอนสัญญาซื้อขายนี้ได้ถ้าผู้ซื้อทำการ โดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน โดยอนุโลมตามหลักการจัดการสินสมรสของคู่สมรส (ร่างมาตรา 15)
การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต
17.การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่เป็นโมฆียะ และการเลิกการเป็นคู่ชีวิต (หรือการหย่าหากเป็นคู่สมรส) (ร่างมาตรา 32)
18.การเลิกการเป็นคู่ชีวิตจะเลิกโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายก็ได้ หรือเลิกโดยคำพิพากษาของศาลก็ได้ (ร่างมาตรา 34)
19.การเลิกการเป็นคู่ชีวิตโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ มีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน และต้องนำหนังสือเลิกการเป็นคู่ชีวิตไปจดทะเบียนต่อนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขต การเลิกการเป็นคู่ชีวิตจึงจะมีผลสมบูรณ์ (ร่างมาตรา 35)
20.การเลิกการเป็นคู่ชีวิต โดยคำพิพากษาของศาล คู่ชีวิตต้องฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เหตุฟ้องคดีมี 12 เหตุ (ร่างมาตรา 36) ทำนองเดียวกับเหตุฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ตามพฤติการณ์ที่คู่ชีวิตได้กระทำผิดต่อหน้าที่คู่ชีวิต เช่น การไม่ซื่อสัตย์ต่อการเป็นคู่ชีวิตทางประเวณี การประพฤติชั่ว การทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยาม การจงใจละทิ้งร้าง การมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจกระทำ หรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ได้ตลอดกาล ฯลฯ เป็นต้น
การรับบุตรบุญธรรม
21.คู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนก็ได้ (ร่างมาตรา 41)
22. ถ้าคู่ชีวิตจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุตรบุญธรรมมีผลเป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม (ร่างมาตรา 44)
การรับมรดก
23.ถ้าคู่ชีวิตถึงแก่ความตาย คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามกฎหมายว่าด้วยมรดก (ร่างมาตรา 45)
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว อีก 5 มาตรา
24.การแก้ไขเพิ่มเติม บรรพ 5 ครอบครัวเป็นการแก้ไขบรรพ 5 ครอบครัวให้สอดคล้องกับกฎหมายคู่ชีวิตในส่วนของคู่สมรส 3 กรณี คือ
24.1 กำหนดเพิ่มเติมให้การที่ชายหรือหญิงที่จดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วมาจดทะเบียนสมรสอีก การสมรสครั้งหลังนี้เป็นโมฆะ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1452)
24.2 กำหนดเพิ่มเติมให้การที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉันคู่ชีวิต หรือกระทำกับผู้อื่น หรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตน หรือผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1516(1))
24.3 กำหนดเพิ่มเติมให้การที่สามีหรือภริยาคู่หย่า ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากคู่หย่าอีกฝ่ายหนึ่งหากมาจดทะเบียนคู่ชีวิต สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1528)
กําหนดการบังคับใช้กฎหมาย
25.คาดหมายว่าร่างกฎหมายคู่ชีวิตและร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 5 ครอบครัวทั้งสองฉบับนี้น่าจะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ในกลางปี 2564 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ร่างมาตรา 2) คือประมาณต้นปี 2565 เป็นต้นไป
26.รายละเอียดแห่งกฎหมายคู่ชีวิตตามที่กล่าวมาอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกโดยรัฐสภา อาทิเช่น แก้ไขเพิ่มเติมบทกวาดในร่างมาตรา 15 ให้ชัดเจนในเรื่องค่าทดแทนกรณีเลิกคู่ชีวิตโดยคำพิพากษาอันเนื่องมาจากคู่ชีวิตประพฤตินอกใจไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่นหรือหญิงอื่น การเรียกค่าเลี้ยงชีพหลังการเลิกการ เป็นคู่ชีวิต การบอกล้างสัญญาระหว่างการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเพิ่มเติมบทบัญญัติให้คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นสามีภริยาตามกฎหมายอื่นๆ อีก เช่น มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของคู่ชีวิต มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับคู่สมรส มีสิทธิได้สัญชาติไทยตามคู่ชีวิต หรือให้ยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามกฎหมายต่างประเทศ ณ ต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่คู่ชีวิตมากยิ่งขึ้น
27.ประชาชนชาวไทยที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายคู่ชีวิตคาดว่าคงจะมีจำนวนอย่างน้อย 1,000,000 คน โดยจากการคาดการณ์ของ UNAIDS (United Nation Programme on HIV/AIDS) ในปี 2559 พบประชากรชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 590,000 คน และหญิงข้ามเพศ 63,000 คน รวม 653,000 คน ส่วนตัวเลขของหญิงรัก หญิงยังไม่มีข้อมูลที่นักวิจัยของสถาบันใดจัดทำไว้ ข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาพ เพศวิถี หรือพฤติกรรมทางเพศของบุคลเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ห้ามมิให้เปิดเผยหากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอม จึงเป็นการยากที่จะทราบจำนวนที่ถูกต้องแท้จริงของชายรักชายและหญิงรักหญิงที่มีอยู่ในประเทศไทยได้
28.เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2450 การที่ชายกับชายมามีความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อสนองความใคร่ของตนเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 242 ฐานทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2500 เกิดคลื่นลูกแรกในวงการกฎหมายที่ประมวลกฎหมาย อาญามีผลใช้บังคับโดยยกเลิกความผิดฐานทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ชายกับชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันไม่เป็นความผิดอาญาอีกต่อไปแล้ว หลังจากนั้นในปี 2532 ศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3725/2532 วินิจฉัยว่าการที่หญิงกับหญิงมาอยู่กินด้วยกันเป็นครอบครัว ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติ ร่วมกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้นี้ให้แบ่งกันคนละครึ่ง นับเป็นคลื่นลูกที่สองที่กฎหมายยอมรับสิทธิในทรัพย์สินของหญิงกับหญิงที่มาอยู่กินด้วยกันเป็นครอบครัว เช่นเดียวกับชายกับหญิงที่มาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หากปี 2565 เกิดคลื่นลูกที่สามที่กฎหมายยอมรับให้ชายกับชาย หญิงกับหญิงมา ก่อตั้งครอบครัวได้เช่นเดียวกับชายกับหญิง)
จะถือได้ว่าประเทศไทยยอมรับหลักการของครอบครัวรูปแบบใหม่เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปในประเทศที่ประชากรส่วน ใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน ฝรั่งเศส เยอรมณี สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา และเป็นที่สองในเอเซียต่อจากไต้หวันที่มีกฎหมายเช่นว่านี้ออกมาใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552
ศาสตราจารย์พิเศษ ประสพสุข บุญเดช