ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง บิ๊กตู่-กลุ่มราษฎร ทางออก มัวๆ

ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง บิ๊กตู่-กลุ่มราษฎร ทางออก มัวๆ

ดูเหมือนว่าแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พยายามแก้ไขจะมี “โรคแทรก” อยู่ตลอดเวลา

เมื่อรัฐสภาเริ่มต้นพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกันยายนก็จบลงด้วยความไม่น่าไว้วางใจ หลังจากที่ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาก่อนลงมติวาระ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ระหว่างที่รอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ปรากฏว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไอลอว์รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนแสนคนก็มาถึงรัฐสภา และได้เวลาในการพิจารณาทันที

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีประเด็นที่แหลมคมหลายประการ

Advertisement

หนึ่ง ยกเลิกความในมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 มาตรา 279 สอง ยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257 ถึงมาตรา 261

สาม การตัดยุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142) สี่ แก้ไขจากการใช้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เป็นการกำหนดให้นายกฯต้องเป็น ส.ส. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคแรก) ห้า ตัดข้อความที่บังคับให้ ครม.ต้องแถลงนโยบายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 162 วรรคแรก)

หก ตัดข้อความที่ให้มี “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย” จำกัดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 252 วรรคสอง)

เจ็ด แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256) แปด ยกเลิกที่มาของ ส.ว.ชุดพิเศษ จำนวน 250 คน และให้มี ส.ว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 269)

เก้า ยกเลิกกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่มาของกรรมการชุดปัจจุบัน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 11) สิบ ให้เริ่มสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ (ร่างมาตรา 12)

และ สิบเอ็ด การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เพิ่มหมวด 17 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 261/1 มาตรา 261/2 มาตรา 261/3 มาตรา 261/4 และมาตรา 261/5)

ประเด็นของฉบับไอลอว์กระทบต่อเสถียรภาพ คสช.และ ส.ว.อย่างจัง

กลายเป็น “โรคแทรก” ที่ทำให้การคลี่คลายสถานการณ์พลิกผัน

เมื่อผลการหารือของรัฐสภามีมติกันว่าจะลงมติผ่านวาระ 1 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะญัตติของรัฐบาล คือ แก้ไขมาตรา 256 และเลือกตั้ง ส.ส.ร. 150 คน คัดเลือก 50 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และญัตติของพรรคฝ่ายค้าน คือ แก้ไขมาตรา 256 และเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เท่านั้น

ทำให้กลุ่มราษฎรออกเคลื่อนไหว เพราะต้องการให้รัฐสภาลงมติรับหลักการวาระ 1 ร่างไอลอว์ด้วย

กระทั่งวันที่ 17 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรได้ชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตั้งกำลังขัดขวาง และในวันดังกล่าวปรากฏกลุ่มคนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปชุมนุมอยู่บริเวณรัฐสภาด้วย

เมื่อกลุ่มราษฎรเคลื่อนไปยังรัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ตลอดระยะเวลา

จนเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้รัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้ถอยกำลัง เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มราษฎรกับกลุ่มคัดค้านที่ใส่เสื้อเหลือง

เกิดความโกลาหล และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นี่เป็น “โรคแทรก” อีกหนึ่งประการที่ขัดขวางการคลี่คลายความขัดแย้ง

ความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายน นำไปสู่การประกาศชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน

จากนั้นได้ปฏิบัติการ “เอาคืน” ด้วยการสาดสีใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และใช้ปืนฉีดน้ำฉีดเข้าไป

รุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป

“รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากล จึงแจ้งมาให้ทราบโดยทั่วกัน”

เป็นประกาศิตจาก พล.อ.ประยุทธ์

เป็น “โรคแทรก” อีกหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหากทุกอย่างเป็นไปตามแถลงการณ์

ความจริงแล้ว หากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา โดยไม่ปรากฏ “โรคแทรก” ที่กลายเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหว

ระยะเวลาจากบัดนี้ไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือว่านานพอสมควร

เมื่อการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 ผ่านพ้น ต้องผ่านการพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งขณะนี้รัฐสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ 45 คน ให้เวลาแปรญัตติ 15 วัน หลังจากนั้นจึงมาเริ่มต้นพิจารณา

เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วจะส่งให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 3 อีกครั้ง

แม้จะผ่านการพิจารณา 3 วาระแล้ว ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็กำหนดให้ต้องทำประชามติ

การทำประชามติต้องเป็นไปตามร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่เลย

และแม้จะผ่านประชามติแล้ว การเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก่อน

จากนั้นจึงมีการยกร่างแล้ววกกลับมาเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ

ทุกกระบวนการต้องใช้เวลาเป็นปี

หมายความว่า รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถอยู่ได้ต่อไปอีกเกือบครบวาระ

แต่เมื่อเกิด “โรคแทรก” ทำให้กลุ่มราษฎรมีพลังเพิ่ม

ทางออกที่พอมองเห็นก็เริ่มพร่ามัว

สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศจึงเข้าทำนอง “ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง” ทุกเวลานาทีที่ผ่านพ้น ก่อเกิดความไม่ไว้วางใจให้เกิดขึ้น และกลายเป็นเงื่อนไขที่สั่งสม

คุกคามคนเห็นต่าง ไม่สนใจประชาชน หวงเก้าอี้ตัวเอง สร้างความเหลื่อมล้ำ บังคับใช้กฎหมายเพื่อตัวเอง ปล่อยให้เกิดความรุนแรง และอื่นๆ เหตุการณ์ต่างๆ กลายเป็น “หลักฐาน” มัดผูกฝ่ายรัฐบาล

ทั้งๆ ที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ การบริหารความขัดแย้งที่ดีเป็นประโยชน์มากกว่าโทษต่อส่วนรวม

แต่ถ้าบริหารความขัดแย้งไม่ได้ ประเทศชาติจากนี้ไปก็เข้าสู่โซนอันตราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image