‘ส.ส.พรรณสิริ’เร่ง ดันกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ชู ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน

‘ส.ส.พรรณสิริ’เร่ง ดันกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ชู ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งผลิตเสื้อผ้า เชือก เสื้อเกราะ ร่มชูชีพ ชี้ ตลาดโลกกัญชง มีมูลค่าถึง 120,000 ล้านบาท ชงแก้ 7 ประเด็น”ออกจากบัญชียาเสพติด-ปลูก 20ไร่-ลดขั้นตอนขอจำหน่าย-สร้างความรู้”

วันที่ 26 พ.ย. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้กำหนดเป้าหมาย เพื่อผลักดันกัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย โดยกำหนดกรอบการศึกษา 3 ด้าน คือ 1.ด้านข้อมูลพืช 2.ด้านปัญหาและแนวทางการแก้ไข และ 3.ด้านกฎหมาย

นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า จากการสรุปผลการศึกษา พบว่า กัญชง เป็นพืชในสกุล Cannabis เรียกทั่วไปว่า Hemp เป็นพืชล้มลุกสัณฐานและองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกัญชา ประกอบด้วยสารสำคัญ คือ CBD และกำหนดให้มีสาร THC ได้ไม่เกินร้อยละ 1 โดยกัญชง ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของพืช เช่น เส้นใย แกน ลำต้น ใช้ทำเสื้อผ้า เชือก ใบเรือเดินทะเล เสื้อเกราะ ร่มชูชีพ ธนบัตร วัสดุมวลเบา ส่วนเมล็ด ใช้เป็นอาหารโปรตีนสูง น้ำมันจากเมล็ดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ และเชื้อเพลิงพลังงานสูง

“ที่สำคัญยิ่ง CBD ในช่อดอก มูลค่าสูงใช้ทำประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาโรคความผิดปกติทางสมอง ชักเกร็ง โรคลมชักอย่างรุนแรง นอนไม่หลับ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจำนวนมาก ซึ่ง จากการศึกษาปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ พบว่า ตลาดโลกของกัญชง มีมูลค่าสินค้าถึง 120,000 ล้านบาท ในปี 2561 โดยมูลค่าสูงที่สุดในจีนถึงร้อยละ 33 ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 28 และยังพบว่า ในปี 2563 มีเงินหมุนเวียนจากกัญชง ในสหรัฐอเมริกา ถึง 55,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่า CBD บริสุทธิ์กิโลกรัมละ 145,000 บาท”นางพรรณสิริ กล่าว

Advertisement

นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในการผลักดันให้กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่แข่งขันได้ในเวทีโลก ควบคู่กับการเป็นพืชทดแทนรายได้ต่ำ เช่น ยาสูบ ข้าวโพด เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้ประเทศไทย เรามีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ทั้งในด้านภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ความเชี่ยวชาญของเกษตรกร ความมีชื่อเสียงของไทยที่เป็นครัวของโลก แต่ปัจจุบันมีพันธุ์รับรองเพียง 4 สายพันธ์ุ โดยยังมีพันธ์พื้นบ้านดั้งเดิม จำนวน 28 สายพันธ์ุ ยังไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งภาครัฐยังไม่มีนโยบาย และกลไกลในการส่งเสริมอย่างจริงจัง

นางพรรณสิริ กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการฯได้สรุป ข้อสังเกตและเสนอแนะ 7 ประเด็น ดังนี้ 1.เสนอให้เพิกถอนกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยเร็ว 2.เสนอให้แก้ไข (ร่าง) กฎกระทรวง การอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) ในประเด็น ของคำนิยามพืช คำนิยามทั่วไป เช่น ประโยชน์ครัวเรือน การกำหนดจำนวนพื้นที่ให้สามารถปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ แก้ไขเป็น ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า 3.เสนอให้แก้ไขประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข “เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ในการกำหนดปริมาณสารสกัด หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด ที่มีสาร Cannabidiol: CBD เป็นส่วนประกอบ โดยกำหนดปริมาณ THC ไม่เกิน ร้อยละ 0.3 โดยน้ำหนัก (เดิมร้อยละ 0.2) 4.เสนอให้กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขึ้นทะเบียนพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิม ตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ CBD เส้นใย หรือเมล็ดมูลค่าสูง 5.เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลดขั้นตอนการขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชง รวมทั้งปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

นางพรรณสิริ กล่าวอีกว่า 6.เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างทัศนคติที่ดีต่อพืชกัญชง (Hemp) ในฐานะพืชเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง สร้างความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบ แนวปฏิบัติอย่างครอบคลุมทั่วถึง
และ 7.เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระบุ “กัญชง”ให้เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ให้ส่งเสริมสนับสนุนภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ทั้งในด้านองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต นวัตกรรม และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้ กัญชง Hemp เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่มูลค่าสูงของไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image