4 เยาวชน หลอกขอข้อมูลลูกค้าธนาคารก่อนถอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อหลงกลสูญกว่า 1 ลบ.

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. แถลง พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. พ.ต.ท.เอกพล แสงอรุณ สว.กก.1 บก.ปอท.และนายกฤษณ์ ไพโรจน์กีรติกุล ผู้อำนวยการป้องกันการทุจริตผลิตภัณฑ์สินเชื่อและสืบสวนสอบสวน การป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทย จับกุมผู้ต้องหาเยาวชน 4 คน อายุระหว่าง 17-19 ปี พร้อมของกลางไอแพด 1 เครื่องที่ใช้ในการก่อเหตุ ดำเนินคดีข้อหาร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

พ.ต.อ.ธรากร กล่าวว่า กก.1 บก.ปอท.ร่วมกับฝ่ายป้องกันการทุจริตผลิตภัณฑ์สินเชื่อและสืบสวนสอบสวนการป้องกันอาชญากรรมทางการเงินธนาคารไทยพาณิชย์ รับแจ้งจากผู้เสียหายว่าถูกคนร้ายเข้ายึดอินเตอร์เนตแบงก์กิ้ง จากนั้นโอนเงินออกหมดบัญชีมีผู้เสียหายหลายราย จึงร่วมกันสืบสวนและทราบกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จะหาเหยื่อโดยเลือกผู้เสียหายที่โดนโกงจากการซื้อสินค้าแล้วไม่ได้ของเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เสียหายจะโพสต์ตามกลุ่มออนไลน์ต่างๆ จากนั้นผู้ต้องหาแฝงตัวอยู่จะส่งข้อความอ้างเป็นธนาคารแสดงความช่วยเหลือ

พ.ต.อ.ธรากร กล่าวว่าคนร้ายจะส่งลิ้งก์ไปที่แอฟเชื่อมต่อข้อมูลบัตรธนาคารแห่งหนึ่ง เข้าไปแนะนำสอบถาม รวมถึงขอข้อมูลส่วนตัว อาทิ วันเดือนปีเกิด รหัสผ่าน และ รหัสซึ่งใช้ในการล็อกอินแอพพลิเคชั่นธนาคาร เพื่อเข้าใช้บัญชีของผู้เสียหายก่อนโอนเงินไปยังบัญชีที่เตรียมไว้ มีผู้เสียหายมากกว่า 10 คน มูลค่าความเสียหายนับล้านบาท โดยเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ ผู้ต้องหาเป็นเยาวชนใน จ.ภาคใต้ เรียนระดับ ปวช.สนใจศึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเงินที่ได้มาจะนำมาเฉลี่ยแบ่งกัน แล้วนำไปจ่ายค่าเกมส์ และการพนัน

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ข้อสังเกตของประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย ดังนี้ โดยหากไลน์ของธนาคารไทยพาณิชย์ของจริงจะมีสัญลักษณ์ตราโล่ห์เป็นสีเขียวเท่านั้น นอกจากนี้ธนาคารจะไม่มีการขอรหัส OTP รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เพราะธนาคารมีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำเทคนิคว่าหากจำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวลงเว็ปไซต์ต่างๆ หากไม่แน่ใจให้กรอกข้อมูลปลอมลงไปทั้งหมดก่อน เมื่อกรอกครบแล้วยังสามารถไปหน้าต่อไปได้ ให้ถือว่าเว็ปดังกล่าวเป็นเว็ปปลอมทันที และฝากไปถึงผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง จะต้องระมัดระวังในการใช้งาน ไม่ให้ข้อมูล OTP กับบุคคลอื่น เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image