จิตวิวัฒน์ : จิตเหนือรูป

จิตวิวัฒน์ : จิตเหนือรูป

จิตวิวัฒน์ : จิตเหนือรูป

คํ่าคืนวันอาทิตย์ หลังจากที่สุดเหวี่ยงกับสวนสนุกในห้างมาอย่างต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง ราเม็งมังสวิรัติชามใหญ่ ส่งให้เจ้าลูกชายนอกสายเลือดวัยเจ็ดขวบหลับปุ๋ยหมดพิษสงอยู่ที่เบาะข้างคนขับ ด้วยรู้ว่าเขาเป็นคนหลับลึก ในใจคิดหาวิธีจะอุ้มจะพาเข้าบ้าน ระหว่างเดินมาเปิดประตู ซอยนี้เป็นซอยแคบ เมื่อเปิดประตูแล้วรถก็วิ่งผ่านไม่ได้ ผมเปิดประตูออก ขาเจ้าตัวน้อยก็ห้อยออกจากประตูทันที ยังไม่ทันจะหาวิธีย้ายมวลสาร รถอีกคันก็เลี้ยวเข้ามาในซอยพอดี แน่นอนว่าผมต้องปิดประตู แต่ก่อนจะปิดไม่ลืมที่เอาขาของเด็กน้อยเข้าไปในรถก่อน มิฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คงเป็นเรื่องเศร้าและความสนุกคงจะจบลงที่โรงพยาบาล สิ่งที่ทำให้ผมไม่เผลอปิดรถงับขาจนอาจจะขาหัก ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความมีจิต” (mindfulness)

สังเกตว่าผมไม่ใช้คำว่าสติกับสมาธิ เพราะใช้กันจนเฝือจนไม่รู้ความหมายที่แท้จริงกันไปแล้ว ผมเลยขอเลี่ยงไปใช้คำว่า “ความมีจิต” เพื่อที่จะบอกให้รู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องของการนั่งสมาธิ (meditations) ถามว่าการนั่งสมาธิเป็นการพัฒนาความมีจิตไหม ก็อาจจะได้แต่ไม่เสมอไป อันที่จริงการฝึกสมาธิแบบผิดๆ ผมมองว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการมีจิตเสียด้วยซ้ำ เพราะผลของการฝึกควรจะทำให้การรับรู้มีความว่องไวคล่องแคล่ว แต่บางคนนั่งสมาธิไปกลับมีผลทำให้เอื่อยเฉื่อย เคลิ้มๆ ลอยๆ แบบนี้ไม่เรียกว่ามีจิต

การมีจิตฟังดูล่องลอย และไม่เห็นเป็นรูปธรรม จนกว่าคุณจะฝึกวิชาที่เกี่ยวกับการควบคุมฐานกายในระดับสูง จึงจะเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตและร่างกายในแบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องใช้อุปมากันเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเรื่องการฝึกมวยไท้เก๊กที่ผมเพียรฝึกฝนมานับสิบปี เมื่อฝึกไปถึงระดับหนึ่ง การใช้จิต กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และวลีที่ใช้กันจนเฝือว่า “จิตอยู่เหนือสสาร” เป็นไปได้จริง แต่ไม่ใช่ว่าเสกกระต่ายออกมาจากหมวกนะครับ แต่คือการใช้ใจควบคุมร่างกายในระดับที่กล้ามเนื้อเป็นร้อยๆ มัดสามารถทำงานประสานกันจนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น ทำให้ผู้ที่สัมผัสถูกตัวกระเด้งกระดอนออกไปได้ ซึ่งไม่ได้มีแต่ในภาพยนตร์

Advertisement

เรื่องจิตอยู่เหนือสสารมีศาสตราจารย์หญิงที่ฮาร์วาร์ด ชื่อ เอลเล็น แลงเงอร์ (Ellen Langer) ในปี 1979 ได้ทำการศึกษาว่าจิตใจสามารถส่งผลต่อร่างกายได้ไหม โดยเธอได้ให้อาสาสมัครที่เป็นผู้สูงอายุประมาณ 80 ปี มาอยู่รวมกันในบ้านพักซึ่งจัดให้มีบรรยากาศที่ย้อนยุคกลับไปในปี 1959 ซึ่งหมายถึงพวกเขาจะย้อนวัยกลับไปประมาณ 20 ปี โดยจัดรายละเอียดทุกอย่างไม่ว่าจะเฟอร์นิเจอร์ หนังสือนิตยสาร หรือรายการทีวี ก็ทำทุกอย่างเหมือนกับว่าเป็นปี 1959 และที่สำคัญทางผู้วิจัยกำหนดให้พวกเขาพูดคุยกันโดยใช้ภาษาที่มีกาลกิริยาเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่การนั่งคำนึงหรือรำลึกถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว ส่วนกลุ่มควบคุมให้ไปอยู่ในสถานที่นั้นทุกอย่างเหมือนกัน แต่ให้ใช้ภาษาที่แสดงถึงอดีต คือการรำลึกในสิ่งจะไม่หวนกลับคืนมา

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้วิจัยสิ่งแวดล้อม “หลอก” ให้คิดว่าอดีตที่ผ่านไปย้อนกลับมาเป็นปัจจุบันอีกครั้ง ร่างกายของพวกเขาก็ตอบสนองราวกับว่าตัวเขาเองได้ย้อนกลับมาอยู่ในวัยนั้นอีกครั้ง ผู้วิจัยได้วัดสมรรถนะต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิต, ความแข็งแรงของร่างกาย, การได้ยิน, ความทรงจำ ทุกอย่างดีขึ้นหมด และแม้แต่รูปถ่ายก่อนและหลังเมื่อให้อาสาสมัครดู ก็ยังได้รับคำตอบว่าพวกเขาดูอ่อนเยาว์ลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ​

Advertisement

ส่วนอีกการทดลองหนึ่งเป็นการทดลองกับพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม ซึ่งมี pain point ว่าพวกตนเองสุขภาพไม่ดีเพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ผู้วิจัยจึงทำการทดลองโดยให้กลุ่มเป้าหมายปรับเปลี่ยนทัศนคติว่างานแต่ละอย่างที่พวกเขาทำไม่แตกต่างจากการออกกำลังกายเลย เช่น การเปลี่ยนผ้าปูที่นอนใช้พลังงานเท่ากับการวิ่งบนลู่วิ่งในฟิตเนสเท่านั้นนาที ส่วนกลุ่มควบคุมก็ทำงานทุกอย่างเหมือนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ทดลองแต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป กลุ่มที่ได้รับข้อมูลว่าการทำงานความสะอาดก็เหมือนกับการออกกำลังกาย กลับมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น น้ำหนักลดลง ค่า BMI และความดันลดลง ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีการทำงานและกิจกรรมเหมือนกับกลุ่มทดลองกลับไม่ได้ผลแบบนั้น

อีกการทดลองหนึ่งเป็นเรื่องของสายตา ทุกคนน่าจะเคยได้ยินวลีที่บอกว่า “แก่แล้วไม่มีอะไรดี” “แก่จนสายตาฝ้าฟาง” แน่นอนว่าเอลเล็นไม่ยอมรับปัญญาสามัญง่ายๆ แบบนั้น เธอค้นพบว่าเวลาที่เราไปตัดแว่น เราอยู่ในบรรยากาศที่ทำให้เราเครียดและแผงตัวอักษรที่ไว้ใช้วัดสายตาถูกออกแบบให้มีตัวเล็กเรื่อยๆ จนในที่สุดเรารู้ว่าเราจะมองไม่เห็น เธอจึงได้เปลี่ยนแผงตัวอักษรนั้นเสียใหม่โดยให้ตัวอักษรที่เล็กที่สุดมาอยู่ด้านบน และตัวอักษรด้านล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยวิธีนี้เธอพบว่าคนส่วนใหญ่สามารถมองเห็นแม้แต่ตัวอักษรที่เล็กที่สุดได้ ทั้งๆ ที่ถ้าทำแบบเดิมจะไม่เห็น อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ให้นำแผงตัวอักษรนี้ไปไว้ในเครื่องจำลองการบิน! โดยไปวางเอาไว้ที่ปีกเครื่องบินที่กำลังบินผ่าน และให้ผู้เข้าร่วมทดลองอ่าน โดยก่อนที่จะเริ่มทดลองได้บอกกับผู้เข้าร่วมว่า พวกเขาเป็นเสมือนกัปตันขับเครื่องบิน และกัปตันจะต้องมีสายตาที่ดีมาก ผลก็คือทุกคนสามารถอ่านตัวอักษรบนปีกเครื่องบินได้ดีกว่าเดิมทุกคน

เราได้เรียนรู้อะไรกับการทดลองเหล่านี้เอลเล็นกำลังจะบอกกับเราว่า การมีจิตเป็นเรื่องสำคัญมาก ข้อจำกัดทางกายภาพส่วนใหญ่ที่เรามีล้วนแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นมาจากจิตของเราเอง จนเราไม่อาจจะบรรลุถึงศักยภาพที่ควรจะมี สำหรับ “การมีจิต” ในแบบของเอลเล็น เธออธิบายว่าเราต้อง “สังเกต” ถ้าเรายังเห็นอะไรอย่างชัดเจน เรายังมีจิต แต่ถ้าไม่สังเกตเห็นอะไรรอบๆ ตัว ก็จะกลายเป็นการ “เผลอจิต” และความผิดพลาด ความพัง ความล้มเหลว

ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเราล้วนเป็นผลมาจากการปล่อยให้จิตใจเข้าสู่สภาวะของความเผลอนี้ รวมทั้งเราไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต เช่น เวลาที่ผมทำงานมาเหนื่อยๆ และก่อนเข้านอน พยายามจะไถหน้าจอเพื่ออ่านเฟซบุ๊ก ผมพบว่าบางครั้งตัวอักษรดูเบลอๆ และความเคยชินก็คือการหยิบแว่น แต่ลืมไปว่าเราไม่เคยต้องการแว่นทั้งวัน ทำไมเป็นช่วงก่อนนอน ถ้าอธิบายแบบเอลเล็นก็คือจิตที่อ่อนล้าส่งผลให้ร่างกายทำงานล้าลง สิ่งที่เราต้องการคือการพักผ่อน ไม่ใช่แว่นดีๆ สักอัน การคิดว่าร่างกายเป็นเครื่องจักรที่ต้องทำงานเหมือนเดิมตลอดเวลา เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

ในภาพยนตร์จีน จะเห็นว่าบัณฑิตมักจะเดินไปอ่านหนังสือไป คุณอาจจะสงสัยว่าทำไม แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราจะเข้าใจว่ากายกับจิตนั้นสัมพันธ์กัน การนั่งอ่านหนังสือโดยร่างกายหยุดนิ่ง อาจจะส่งผลให้จิตเกิดอาการเฉื่อยชา และการกระตุ้นด้วยการเดินไปเดินมากลับทำให้จิตทำงานได้ว่องไวยิ่งขึ้น

อ่านมาถึงตอนนี้อาจจะมีผู้อ่านบางคนเริ่มคิดว่า จะต้องไปหาซื้อของเก่าๆ มาประดับบ้าน เพื่อที่ว่าจะทำให้หน้าตัวเองดูอ่อนเยาว์ลง แต่การทดลองของเอลเล็นบอกว่า ไม่ใช่แค่การสร้างบรรยากาศ แต่เป็นการสวมบทบาทเพื่อปรับให้จิตเข้าใจว่าเรากำลังย้อนเวลากลับไปจริงๆ

การทดลองเรื่อง “จิตเหนือสสาร” มีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก และเอลเล็นเองก็มีข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นผลการทดลองทางวิชาการยืนยัน จึงต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อย ในเบื้องต้นมันน่าจะให้คำตอบกับเราได้ว่า สภาวะที่จิตมีผลต่อกระบวนการของร่างกายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image