‘โพธิคยา 980’ สำรวจร่องรอย ‘พญานาค’ 3 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เดินหน้าวิจัยพลังศรัทธา 5 แผ่นดิน

‘โพธิคยา 980’ สำรวจร่องรอย ‘พญานาค’ 3 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เดินหน้าวิจัยพลังศรัทธา 5 แผ่นดิน

นับเป็นความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานสำหรับ “พญานาค” ซึ่งกลายเป็นที่เคารพบูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ล่าสุด สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ลงนามร่วมกับ คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เดินหน้าวิจัยในประเด็น “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 แผ่นดิน” ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิวีระภุชงค์

พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเมธี ป.ธ.9 ,ดร.)

21-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเมธี ป.ธ.9, ดร.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และคณะ นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ, สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการมูลนิธิวีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980, เกษม มูลจันทร์ รองเลขาธิการ, สุรพล มณีพงษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ออกเดินทางไปยัง 3 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ เพื่อสำรวจสถานที่เตรียมพร้อมสำหรับการวิจัยอย่างเข้มข้นด้วยข้อมูลบนเส้นทาง “ภูลังกา”

เริ่มต้นที่ วัดศรีมงคล ถ้ำดินเพียง จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคนามว่า “ปู่อินทร์นาคราช” และย่าเกษรา จึงมีการสร้างรูปปั้นพญานาคละลานตา เช่นเดียวกับผู้คนจากทั่วสารทิศต่างมาเยี่ยมเยือนเพื่อขอพรให้มีโชคลาภ บรรยากาศภายในถ้ำ มีอากาศเบาบาง ทางแคบจนต้องนอนขนาบพื้นเพื่อลอดเข้าสู่ตัวถ้ำ หากมีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจเกิดอันตรายได้

Advertisement

อีกแห่งถือว่าเป็นจุดสำคัญของการมาสำรวจครั้งนี้คือ วัดอาฮงศิลาวาส จังหวัดบึงกาฬ จุดบรรจบของแม่น้ำที่ไหลมาจากประเทศจีน ระยะทาง 4,500 กม. โดยเรียกกันว่าเป็น “สะดือแม่น้ำโขง” มีลักษณะเป็นน้ำวน ลึก 200 เมตร ปรากฏตำนานเล่าว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคหลายตน เบื้องล่างมีเส้นทางเชื่อมไปถึงเขางูฝั่ง สปป.ลาว ลึกลงไปเชื่อกันว่าเป็นวังบาดาลที่สถิตของ “พระอุปคุต” และในทุกปี 15 ค่ำเดือน 11 จะมีปั้งไฟพญานาคโผล่ขึ้นพ้นน้ำสุกสกาว

ที่วัดอาฮงศิลาวาส สะดือแม่น้ำโขง จ.บึงกาฬ

จุดที่เป็นงานหินของคณะสำรวจ นั่นคือ “ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ เนื่องจากต้องปีนเขาซึ่งมีความสูงกว่าพันเมตร ขึ้นบันไดหลายพันขั้น โหนเชือก เดินผ่านป่าคดเคี้ยว กระทั่งถึงจุดที่เป็นเศียรและลำตัวพญานาคอันงดงามแปลกตาราวกับมีชีวิต โดยใช้เวลาขึ้นลงนานกว่า 8 ชั่วโมง

Advertisement

พระเมธีวรญาณ เล่าว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคในลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงภาคอีสานของไทยเป็นความเชื่อที่มีมาแต่ยุคโบราณกาล เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และการให้น้ำ และสอดรับกับความเชื่อในพุทธศาสนา

หินหัวพญานาคถ้ำนาคา

“ในพระพุทธศาสนาเองก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของพญานาคไว้หลายตอนด้วยกัน ความเชื่อเรื่องพญานาคเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะประเทศไทย ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพราะพญานาคถือว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณธรรมนิยมในการบำเพ็ญการกุศล การรักษาศีล การฟังเทศน์ ฟังธรรม การแปลงกายเป็นมนุษย์มาบนโลกก็เพื่อต้องการบำเพ็ญกุศลให้เพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่วัดภูตะเภาทอง จ.อุดรธานี

ที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬก็เชื่อว่ามีพญานาคตามป่าตามเขา ตามห้วย ตามหนองจนกระทั่งจอมปลวก ภูเขาที่มีความสูง ก็เป็นที่อาศัยของพญานาค ยิ่งเอื้ออำนวยให้ความเชื่อนั้นมีความมั่นคงมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น

สำหรับถ้ำนาคา มีตำนานเล่าว่า มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งได้ลูกสาวของพญานาคเป็นมเหสี ต่อมามีเรื่องขัดแย้งในเรื่องราชสมบัติ กษัตริย์ถูกสาปเป็นหิน ถ้ำแห่งนี้จึงมีหินที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดพญานาคลำตัวพันกัน และเศียรพญานาค 3 เศียร พวกเรามาครั้งนี้ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้งานวิจัยพญานาคประสบความสำเร็จ และยังขอพรให้พญานาคเป็นตัวแทนเชื่อมโยงความเชื่อที่เรามีเหมือนกันทั้ง 5 แผ่นดินให้รักและกลมเกลียวกันเหมือนในอดีต” พระเมธีวรญาณกล่าว

ด้าน สุภชัย วีระภุชงค์ กล่าวลงลึกถึงงานวิจัยที่จะเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมว่า สถาบันโพธิคยา 980 มูลนิธิวีระภุชงค์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ร่วมกับคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีคณะผู้วิจัยคือ นักวิชาการทรงคุณวุฒิกว่า 10 ท่าน ทั้งระดับศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ภิกษุสงฆ์ระดับเปรียญธรรม 9 ประโยคและฆราวาสที่มีความรู้ เพื่อรวบรวมความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค 5 แผ่นดินเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนีวัดป่าภูก้อน จ.อุดรธานี

“เรามีคณะวิจัยประมาณ 10 กว่าท่าน ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยมาแล้วหลายเดือนทางภาคเหนือ ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานจะเริ่มภายในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้น ถ้าปัญหาโควิดคลี่คลายสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น ก็จะเริ่มทำงานวิจัยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ต่อไป

เรื่องของพญานาคเป็นความเชื่อที่เล่าต่อกันมาส่วนหนึ่งมาจากอภิญญาของพระเกจิอาจารย์ซึ่งทางสถาบันฯจะรวบรวมความเชื่อทุกแผ่นดินนำมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับรู้ โดยเชื่อว่าลุ่มน้ำโขง เป็นดินแดนที่มีทวยเทพพญานาคปกปักรักษา และก็ถือว่าเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาในยุคนี้จนถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป” สุภชัยกล่าว

เจดีย์อัฐิธาตุ หลวงปู่เสาร์ (พระครูวิเวกพุทธกิจ นามเดิม เสาร์ ฉายา กนฺตสีโล)

นอกจากนี้ คณะสำรวจยังเดินทางไปกราบสักการะอัฐิธาตุพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) หรือหลวงปู่เสาร์ วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนปิดท้ายยัง วัดภูตะเภาทอง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการสร้างประติมากรรมรูปพญานาคขนาดใหญ่ไว้หลายตน ที่โดดเด่นที่สุดคือ พญานาคนามว่า “มุจลินทร์” ซึ่งมีกายสีทองอร่าม

จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาส ระบุว่า การสร้างวัดแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในอดีตมีชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก เนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ต่อมาฝันถึงพญานาคนานนับเดือน กระทั่งได้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมพัฒนาวัดจนถึงวันนี้

บรรยายกาศบนหินสามวาฬ ภูสิงห์ จ.บึงกาฬ

“ก่อนหน้านี้อาตมาเป็นพระธรรมทูตจะไปจำพรรษาอยู่ที่อินโดนีเซีย พอกลับมาได้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ก็นิมิตถึงพญานาค ท่านมาเข้าฝันอยู่เป็นเดือน และให้สร้างรูปเหมือนของท่าน อาตมาก็บอกว่าไม่มีเงินสร้าง ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวก็มีคนใจบุญมาบริจาคเงินสร้างให้ แล้วก็เป็นเรื่องจริง มีลูกศิษย์ จากอินโดนีเซียเดินทางมาบริจาค ประชาชนที่อยู่ใกล้วัดก็มาร่วมบริจาคด้วย จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถือว่าเป็นบุญวาสนา” เจ้าอาวาสวัดภูตะเภาทองเล่าอดีต

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรยากาศการสำรวจร่องรอยพญานาคอันเป็นความเชื่อที่ฝังในจิตใจคนไทย และเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงอย่างลึกซึ้งและยาวนาน

ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image