‘ก.ค.ศ.’ แจงเกณฑ์อัตรากำลังแบบใหม่ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพร.ร.ขนาดเล็ก หวังได้ครูคุณภาพ-ครบชั้น

‘ก.ค.ศ.’ แจงเกณฑ์อัตรากำลังแบบใหม่ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพร.ร.ขนาดเล็ก หวังได้ครูคุณภาพ-ครบชั้น

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. มีมติอนุมัติ ร่างหลักเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเหตุผลในการปรับหลักเกณฑ์อัตรากำลังฯ เพราะหลักเกณฑ์เดิม บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2545 ถือเป็นเวลานานกว่า 18 ปี ไม่สอดคล้องกับบริบทการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งปัจจุบันอัตราการเกิดลดลง โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงมีอัตรากำลังไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งการคำนวณอัตรากำลังที่ผ่านมาจะใช้เพียงมิติเชิงการบริหาร คือสัดส่วนครูต่อนักเรียนเท่านั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก และหลักเกณฑ์เดิมไม่สามารถตอบสนองภารกิจด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ให้สามารถบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

นายประวิตกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์อัตรากำลังฯ ใหม่ ที่จะประกาศใช้ ก.ค.ศ.จะวิเคราะห์ทั้งในมิติเชิงปริมาณ และมิติเชิงคุณภาพ ซึ่งมิติเชิงปริมาณนั้น เปลี่ยนจากการการวิเคราะห์จำนวนครูต่อนักเรียน และนำเอาโรงเรียนเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์และกำหนดขนาดโรงเรียน ว่าโรงเรียนแต่ละขนาดควรจะมีครูอยู่จำนวนเท่าใด พร้อมกับใช้ภาระงานของครู ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงสอนและชั่วโมงเรียน มาเป็นปัจจัยในการกำหนดอัตรากำลัง ทั้งนี้ก.ค.ศ.ได้กำหนดอัตรากำลังบุคลากรสายสนับสนุนการศึกษาที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนมิติเชิงคุณภาพ ก.ค.ศ.ต้องการลงลึกไปถึงปัญหาการศึกษา คือ เด็กมีทักษะในการอ่าน เขียน และการคิดวิเคราะห์ ทั้งนี้ต้องการลดงานธุรการของครู คืนครูสู่ห้องเรียน และต้องเชื่อมโยงไปสู่การวางแผนผลิต สรรหา และพัฒนาครูในอนาคตด้วย การปรับเกณฑ์อัตรากำลังฯ ครั้งนี้ ก.ค.ศ.คำนึงถึงโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า การกำหนดอัตรากำลังในสถานศึกษาตามหลักเกณฑ์ใหม่ มีรายละเอียดดังนี้ จำนวนนักเรียน 1-40 คน จะมีครูขั้นต่ำ 1-4 คน จำนวนนักเรียน 41-80 จะมีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน ครู 6 คน จำนวนนักเรียน 81-119 คน มีผู้อำนวยโรงเรียน 1 คน ครู 8 คน จำนวนนักเรียน 120-359 มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน ซึ่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องรับภาระงานสอนด้วย จำนวนนักเรียน 360-719 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน จำนวนนักเรียน 720-1,079 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 2 คน จำนวนนักเรียน 1,080-1,679 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 3 คน และจำนวนนักเรียน 1,680 ขึ้นไป มีผู้อำนวยการโรงเรียน 1 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 4 คน ทั้งนี้ ในโรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 120 คน ให้ใช้สูตรคำนวณอัตรากำลังของครูดังนี้ จำนวนห้องเรียนแต่ละระดับชั้น คูณกับ ชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรต่อสัปดาห์ หารกับ ชั่วโมงสอนของครูหนึ่งคนต่อสัปดาห์ (20 ชั่วโมง)

“การปรับเกณฑ์อัตรากำลังใหม่ จะนำไปสู่สิ่งสำคัญ 5 เรื่องคือ 1.การเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนใหญ่ไปสู่โรงเรียนเล็กจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 2.ครูจะครบชั้นโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก และจะมีครูครบรายวิชาด้วย 3.ต่อไปการบรรจุและการย้ายจะเป็นไปตามวิชาเอกที่โรงเรียนขาด 4.เกณฑ์อัตรากำลังฯใหม่ จะนำไปสู่การวางแผนอัตรากำลังในระยะ 10 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ 5.เกณฑ์อัตรากำลังฯ ใหม่ จะนำไปสู่การวางแผนผลิตครูของสถาบันฝ่ายผลิต ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้ประสานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) โดยต่อไป ก.ค.ศ.จะตั้งคณะทำงานร่วมกับ ทปคศ. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาซึ่งการเปลี่ยนอัตรากำลังรูปแบบใหม่ถ้าทำอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถลดอัตรากำลังครูไปได้ 8,086 ตำแหน่ง แต่จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น โรงเรียนเล็กได้ครูที่มีคุณภาพและมีครูครบชั้น “นายประวิต กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image