บสย.เตรียมค้ำประกัน 1 แสนล้าน พลิกฟื้นเอสเอ็มอี เล็งเคาะ 2 โครงการเป็นของขวัญปีใหม่

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ปี 2563 ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 140,000  ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ 130,000 ราย สร้างปรากฏการณ์การช่วยผู้ประกอบการ SMEs มากในรอบ 29 ปี ผลดำเนินงาน 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 (ระหว่าง ม.ค.-ต.ค.62-63) ที่เติบโตขึ้น ประกอบด้วย 1.ยอดการอนุมัติค้ำการค้ำประกันสินเชื่อ ปี 63 เพิ่มขึ้น 122% จาก 61,392 ล้านบาทเป็น 135,984 ล้านบาท 2.ช่วยผู้ประกอบการSMEs รายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 167% จาก 47,626 รายเป็น 127,054 ราย และ 3.จำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) เพิ่มขึ้น 174% จาก 61,979 LG เป็น 169,959 LG

โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผลงานโดดเด่น ที่ช่วยแก้วิกฤตผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธนาคารเดินหน้าปล่อยสินเชื่อ ได้แก่  1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ปกติ  วงเงิน 100,000 ล้านบาท  ประกอบด้วยโครงการย่อยได้แก่ พลิกฟื้นท่องเที่ยว ดีแน่นอน บัญชีเดียว ชีวิตใหม่ บรรลุเป้าหมาย 99% วงเงิน 99,000 ล้านบาท 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท มาตรการของรัฐบาลที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2563 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100% 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro entrepreneur ระยะ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท  ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฐานรากและอาชีพอิสระ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100%

นอกจากนี้ บสย.ยังมีบทบาทสำคัญ เป็นกลไกช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเชื่อมโยงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Soft Loan+)  วงเงิน 57,000 ล้านบาท  รวมถึง ความร่วมมือกับธนาคารออมสินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 10,000 บาท

นายรักษ์กล่าวว่า แผนการดำเนินงาน ปี 2564 มุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์กร สู่ New Business Model ได้แก่1. การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการเป็น Credit accelerator 2.การสร้างองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs และรายย่อยด้วยการเป็นเพื่อนคู่คิด 3.การเป็นตัวกลางเชื่อมโยง SMEs และรายย่อยสู่แหล่งทุนที่หลากหลาย 4.การให้สินเชื่อแบบเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ 5.จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล เพื่อสร้างฐานข้อมูล SMEs

Advertisement

นายรักษ์กล่าวว่า เป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ภายใต้แผนการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์ SMEs ทุกกลุ่ม ภายใต้กลยุทธ์การทำตลาด Segmentation และการพัฒนา Product เจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทาง non bank เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมการดำเนินแผนงาน รองรับการอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่จำนวน 2 โครงการคือ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS-9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือลูกค้า SMEs ที่มีปัญหา ภายใต้ โครงการค้ประกันสินเชื่อ บสย.SMEs สร้างไทย เฟส 2  และ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วย ผู้ประกอบการ SMEs ฐานราก กลุ่มอาชีพอิสระ โดยให้ บสย.พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะมอบโครงการนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในเร็วๆ นี้” นายรักษ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image