สำรวจ การเมือง หลังคดีบิ๊กตู่ แนวปะทะ แก้ รธน.

สำรวจ การเมือง หลังคดีบิ๊กตู่ แนวปะทะ แก้ รธน.

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม วินิจฉัยกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พักบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก ราชวัลลภรักษาพระองค์ ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ส.ส.จำนวน 55 คน ได้ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่พักบ้านพักของทางราชการเป็นบ้านพักอาศัยนั้นขัดรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยบ้านพักรับรองของกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกพิจารณาจัดบ้านพักรับรองกองทัพบก สนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาใช้งานในบ้านพักรับรอง เป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 จึงไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ

ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง

Advertisement

ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการรับที่มีบทบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ให้รับได้

และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผลการวินิจฉัย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ต่อไป

Advertisement

ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่สุด และมีผลผูกพันกับองค์กรอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผิด

จึงถือว่ากรณีดังกล่าวสิ้นสุดแล้ว

แม้ว่า ภายหลังคำวินิจฉัยจะมีข้อสงสัยเชิงวิชาการที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะของระเบียบข้อบังคับของกองทัพ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หรือแม้ว่า จะมีกระบวนการทางการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านประกาศว่าจะดำเนินการต่อด้วยการนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หรือแม้ว่า จะนำผลการวินิจฉัยไปดำเนินการใดๆ แต่เมื่อกฎหมายกำหนดให้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ย่อมถือว่า กรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด

ในวันที่มีคำวินิจฉัย กลุ่มราษฎรซึ่งมีเป้าประสงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้ตั้งเวทีชุมนุมกันที่ห้าแยกลาดพร้าว

รูปแบบการจัดชุมนุมในวันดังกล่าวสอดรับกับเหตุการณ์วันวินิจฉัยคดีของ พล.อ.ประยุทธ์ และประเด็นการอภิปรายมุ่งไปที่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เมื่อปรากฏผลวินิจฉัยออกมาในช่วงบ่าย ช่วงเย็นบรรดาแกนนำได้ขึ้นอภิปรายพาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญ

กระทั่ง รุ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม

ทั้งนี้เพราะตุลาการดำเนินการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ

วิธีดำเนินการต่างๆ ที่ปรากฏว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ล้วนแล้วมาจากข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี 2560

ผลที่เกิดขึ้นจึงตอกย้ำให้สังคมมองเห็นต้นเหตุของปัญหาอีกครั้ง

มองเห็นปัญหาที่เกิดมาจากรัฐธรรมนูญ

จากประเด็นที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยระหว่างสถานะของกฎระเบียบกองทัพกับรัฐธรรมนูญว่าควรจะยึดอะไรเป็นหลัก

เรื่อยไปถึงประเด็นเนื้อหา ประเด็นมาตรฐานการดำเนินการ ประเด็นที่มาซึ่งกำลังกลายเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหว

ประเด็นต่างๆ กำลังถูกจุดปะทุขึ้นมาให้สังคมได้แลเห็น และมีความพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเริ่มต้นกันที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทดแทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ผลักดันให้รัฐธรรมนูญกับกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ สอดคล้องกัน เพื่อให้การปฏิบัติมีมาตรฐาน

ผลักดันให้มองหา “ที่มา” และ “ที่ไป” ที่ทำให้สังคมยอมรับและเชื่อมั่นในกระบวนการดำเนินการ

ทั้งนี้เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังพอกพูนคลี่คลายลงไป

ไม่ทำให้การแก้ไขเข้าทำนอง “ยิ่งแก้” ก็ “ยิ่งยุ่ง” เหมือนเช่นปัจจุบัน

สถานการณ์หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีของ พล.อ.ประยุทธ์ หากเป็นทีมงานฝ่ายรัฐบาลอาจมองว่า “กำลังมีชัยชนะ”

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการการันตีจากศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้อง

เหมือนดั่งคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนการวินิจฉัยคดีจะเริ่มต้น 1 วัน

นั่นคือ ทำดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เดียวกัน กลุ่มที่ต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ มิได้คิดเช่นนั้น

กลุ่มราษฎรได้พลิกเอาสถานการณ์ดังกล่าวมาใช้เป็นตัวอย่าง ตอกย้ำให้สังคมเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง

ตอกย้ำที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เริ่มต้นจากคณะรัฐประหาร

ก่อตัวขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน

เขี่ยทิ้งกลุ่มเห็นต่าง สร้างความกำกวมเพื่อใช้การตีความเป็นอาวุธ และอื่นๆ อีกหลายประการ

ทุกอย่างล้วนแล้วผ่านกาลเวลามาตั้งแต่ปี 2557

ทุกอย่างมีตัวอย่างที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตัวอย่างที่เพียงพอสำหรับนำมาเป็นหลักฐานฟ้องต่อสังคม

ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายรัฐบาลมีวิธีปฏิบัติในการต่อกรกับกลุ่มเห็นต่างที่ไม่แตกต่าง

การทำซ้ำหลายครั้งหลายคราว จึงเป็นการตอกย้ำให้สังคมได้เรียนรู้

ผลจากการเรียนรู้ทำให้มองเห็นต้นเหตุของปัญหาได้ชัดแจ้งขึ้นเรื่อยๆ

เฉกเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากตัวบทของรัฐธรรมนูญปี 2560

รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายรัฐบาลเรียกว่า “กฎหมาย” แต่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่เห็นด้วย

ความเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย นำไปสู่การยอมรับหรือไม่ยอมรับในกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างฉบับใหม่ให้เป็นที่ยอมรับจึงสำคัญ

การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ตามข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงสำคัญ

ยิ่งรัฐบาลเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย

ยิ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

ยิ่งทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image