สำรวจธุรกิจ พ.ย. มองศก.ไทยแย่ลง คาดเริ่มฟื้นกลางปีหน้า วิตกปัญหาปากท้องมากกว่าชุมนุม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนพฤศจิกายน จากภาคธุรกิจต่างๆทั่วประเทศ 364 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2563 พบว่า ธุรกิจยังมองสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันแย่ลง และ คาดการณ์ว่าจะดีขึ้นในอนาคตหรือ 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีฯอยู่ที่ 33.7 สูงขึ้นจากเดือนตุลาคมเล็กน้อยซึ่งค่าดัชนีฯอยู่ที่ 33.2

โดยมีปัจจัยด้านลบ คือ สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของ กลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจส่งผลกับประเทศไทยจะต้องเผชิญ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อมาก ขึ้น ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.20 บาท ต่อลิตร จากระดับ 20.88 และ 21.15 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 25 63 การส่งออกของไทยเดือน ตุลาคม  ลดลง 6.71% มูลค่าอยู่ที่ 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 14.32% มีมูลค่าอยู่ที่ 17,330.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.269 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนตุลาคม เป็น 30.477 บาทต่อเหรียญสหรัฐ  สะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศ สุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลับมาจากการแพร่ระบาดของผู้เข้าประเทศโดยไม่ผ่านด่าน แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าการมีผู้ติดเชื้อในขณะนี้ไม่ใช่การกลับมาระบาดของโควิดรอบ 2

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ปัจจัยบวก คือ มาตรการคนละครึ่งส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน และทาให้ร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลดีจากมาตรการ  สศช.เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาส3/63 ลดลง 6.4% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เทียบกับไตรมาส 2/63 กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่0.50%ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลอนุมัติมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า ในโครงการคนละครึ่ง เฟส 2  ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 213.36 จุด จาก1,194.95 จุด เป็น 1,408.31 จุด และความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19ที่อาจมีการใช้ในช่วงของปลายปีนี้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เป็นแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ได้แก่  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ระยะเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนออกไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดให้มากขึ้น แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวหรือด้านอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการช่วยพยุงรักษาการจ้างงานโดยภาครัฐให้กับธุรกิจ รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการ ส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ผลักดันการส่งออกไปตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดจีนเพราะเป็นตลาดมีขนาด ใหญ่ และเศรษฐกิจจีนกาลังฟื้นตัวหลังจากโควิด-19รวมถึงควรใช้มาตรการการเข้าประเทศอย่างปลอดภัย โดยประกาศใช้กับทุกด่านผ่านแดน และควรมีบทลงโทษ กับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบการควบคุมโรคจนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ซึ่งในเรื่องนี้เห็นว่าการเอาผิดทางอาญาได้เพราะเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่ในทางแพ่ง อาจยากเพราะไม่รู้ว่าจะตีค่าเสียหายจากอะไร ซึ่งจะวัดผลเสียหายจากผลกระทบท่องเที่ยวที่เป็นเหตุกระทบเป็นวงกว้างนั้นประเมินได้ยาก

Advertisement

“ ผลสำรวจธุรกิจรายภาค ระบุวิตกในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดเป็นอันดับแรก มากกว่าสถานการการชุมนุม ซึ่งหากมีกระแสข่าวการแพร่ระบาดของพื้นที่ใด ย่อมมีผลกระทบทันที และมองว่าน่าจะมีผลกระทบทางจิตวิทยาชะลอการเดินทางและท่องเที่ยวไม่เกิน 2 สัปดาห์สำหรับพื้นที่ที่เป็นข่าว จากที่สำรวจหลายพื้นที่เริ่มเดินการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองรอง เชื่อว่าปีใหม่นี้บรรยากาศการเดินทางยังมีอยู่ปกติ แต่อาจไม่คึกคักเท่าปีก่อนๆ ระมัดระวังมากขึ้น คาดเงินใช้จ่ายปีใหม่สะพัด 1.3-1.5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อนที่สะพัดประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดจีดีพีติดลบลดลง ปีนี้คาดเศรษฐกิจไทยติดลบ 6.0-6.5% และปีหน้าขยายเป็นบวก 3.5 % โดยทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าเป็นอย่างไรจะชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2 ” นายธนวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image