ประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

(มติชนสุดสัปดาห์ 29 กรกฎาคม-4 สิงหาคม; 5-11 สิงหาคม 2559)

ประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมไทย (1)

ผมคิดว่าผมพบในหนังสือตลกรัฐธรรมนูญของ อาจารย์ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ว่า นักวิชาการตะวันตกคนหนึ่ง แยกกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “อนุรักษนิยม” (conservatives ไม่ใช่ conser-vationists) กับผู้คนฝ่าย “ขวา” ออกจากกัน (แต่เมื่อผมกลับไปค้นหนังสือเล่มนั้นใหม่ ก็หาข้อความดังกล่าวไม่พบ จะอ่านใหม่ทั้งเล่มก็ไม่ไหว)

อนุรักษนิยมหมายถึงคนที่อยากจะเก็บรักษาระบบความสัมพันธ์ทางสังคม, วัฒนธรรม, การเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างเดิมไว้ให้คงอยู่ต่อไป ส่วนพวก “ขวา” นั้น หมายถึงคนที่มีกิจกรรมทางการเมือง นับตั้งแต่ร่วมเดินขบวน, เป่านกหวีด, ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ โดยไม่ได้ซาบซึ้งกับคุณค่าทางวัฒนธรรมหรือสังคมที่ผ่านมาอย่างจริงจัง เช่น ไม่ชอบฟังเพลงไทย ได้แต่เคารพกราบไหว้แล้วก็รีบปิดวิทยุเสีย พวกนี้กลัวสิ่งใหม่ที่ตัวไม่คุ้นเคย หวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลง และร่วมกิจกรรมทางการเมืองก็ด้วยเหตุนั้น

แบ่งอย่างนี้แล้วจะช่วยให้วิเคราะห์อะไรในทางวิชาการดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งคำถามอะไร ผมเห็นว่ามันเข้ากับสิ่งที่จะนำมาคุยตอนนี้ คือผมต้องการคุยเกี่ยวกับพวกอนุรักษนิยมเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับพวกขวา

Advertisement

น่าประหลาดที่ว่า ในต้นรัชกาลที่ 5 กลุ่มที่อาจจัดว่าเป็นอนุรักษนิยมไทยได้คือกลุ่มหนึ่งของชนชั้นสูง ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงตามอย่างตะวันตก ที่กษัตริย์หนุ่ม คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พยายามนำเข้ามา ประวัติศาสตร์มักอธิบายว่าคนเหล่านี้กลัวว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ที่ตัวเคยได้รับ จึงขัดขวางหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

นั่นคงจริงแน่ แต่มนุษย์ไม่ได้มีด้านเดียวนะครับ นอกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว พวกเขาคงเชื่อในคุณค่าของสิ่งเก่าๆ ที่เขาเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นระบบปกครอง หรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคม น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้เขียนความคิดเห็นอะไรทิ้งไว้ให้เราได้รู้ แม้กระนั้นก็มีบุคคลบางคนในกลุ่มนี้ ที่จะอธิบายง่ายๆ ว่าต่อต้านคัดค้านเพราะกลัวสูญเสียผลประโยชน์ไม่ได้

เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เขาเคยเป็นคนที่ถูกจัดเป็นพวกหัวก้าวหน้ามาก่อนด้วยซ้ำ เพราะเป็นผู้เรียนรู้เทคนิควิทยาของตะวันตกอย่างเอาใจใส่มาก่อน แต่พอมาถึงขั้นจะเปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล เขากลับไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเมืองไทยยังไม่พร้อมจะมีรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจอย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกันเขากลับเห็นด้วยกับการเลิกทาส ซ้ำตำหนิ ร.5 ด้วยซ้ำว่า ทำช้าไป ควรเร่งกระบวนการให้เกิดผลโดยเร็ว ผมไม่ทราบว่าเขาคิดอย่างไร หากราษฎรไทยกลายเป็นแรงงานเสรี เรายังจะสามารถปกครองในรูปแบบเก่าต่อไปได้หรือ และอย่างไร

Advertisement

เดาเล่นๆ นะครับ ความที่เขานิยมชมชื่นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของจีนมาก เขาอาจคิดถึงรัฐบาลรวมศูนย์แบบจีนคลาสสิคก็ได้ นี่พูดโดยไม่มีหลักฐานอะไรนะครับ เพียงแต่อยากจะชี้ว่า การสร้างรัฐรวมศูนย์นั้น มีทางเลือกในทัศนะของอนุรักษนิยมสมัยนั้นได้เกินหนึ่งอย่าง คือไม่จำเป็นต้องเหมือนฝรั่งก็ได้

อย่างไรก็ตาม นับจากปลาย ร.5 เป็นต้นมา ผู้นำที่เคยเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า เปิดรับอะไรต่อมิอะไรของฝรั่งมาก่อน กลับกลายเป็นอนุรักษนิยม จำกัดความก้าวหน้าของตนไว้ที่เทคโนโลยีฝรั่งบางอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางวัตถุ เช่น อาวุธยุทธภัณฑ์, การขนส่งคมนาคมและการสื่อสาร, สาธารณูปโภค, เครื่องแต่งกาย, เครื่องเล่น (กล้องถ่ายรูป, จักรยาน, เครื่องถ้วย ฯลฯ), การจัดองค์กรที่เพิ่มอำนาจรัฐ แต่รังเกียจเทคโนโลยีทางสังคมของตะวันตกอีกหลายอย่าง

ในช่วงนี้แหละที่ชนชั้นนำต่อต้านความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่คนไทยซึ่งได้รับการศึกษาแผนใหม่นำเข้ามา นับตั้งแต่การแต่งกายที่ดูจะไม่แสดงความแตกต่างทางสถานภาพ, การกินเหล้าเมายา, การเขียนและใช้ภาษาไทยที่ไม่เหมือนเดิม และที่สำคัญคือการใฝ่ความก้าวหน้าส่วนตน

เรื่องใฝ่ความก้าวหน้าส่วนตนนี้น่าสนใจนะครับ เพราะในสังคมโบราณ สถานภาพของคนมักไม่ค่อยขยับ หรือขยับน้อยมาก ลูกไพร่ก็มักเป็นไพร่ ลูกขุนนางก็มักเป็นขุนนาง ฯลฯ ฉะนั้น ระเบียบทางสังคมที่จะทำให้เกิดความสงบสุข คือความพอใจกับสถานภาพที่เป็นอยู่ “อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์” “พอใจในสิ่งที่ตนมี” ฯลฯ เมื่อไรที่ผู้คนใฝ่ฝันจะเป็นหรือมีมากกว่าที่เป็นหรือมีอยู่ ย่อมกระทบถึงระเบียบทางสังคมซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้

ดังนั้น ความทะเยอทะยานของข้าราชการ อยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นก็ดี อยากได้ตำแหน่งสูงขึ้นก็ดี จึงถูก ร.6 มองด้วยความระแวง โดยท่านอธิบายว่าพวกนี้ไม่ใส่ใจงานราชการ คอยแต่จ้องหาทางไต่เต้าเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น

ผมอยากชวนให้สังเกตอะไรบางอย่างซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญตรงนี้ วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งคนไทยบางหมู่บางเหล่าไปรับมาจากยุโรปโดยตรง หรือรับมาโดยอ้อมผ่านการศึกษาและสื่อในเมืองไทยก็ตามนั้น วางอยู่บนโลกทรรศน์ที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยเลย เครื่องแต่งกาย, การคบหาสมาคม และการใช้ชีวิต ที่ขัดหูขัดตาอนุรักษนิยมไทยนั้น เป็นเพียงอาการภายนอกของความขัดแย้งระดับโลกทรรศน์

ส่วนสำคัญของโลกทรรศน์ตะวันตกดังกล่าวคือ โลกนี้หรือชีวิตนี้มีความสำคัญ เราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้ ทั้งแก่ตัวเราเองและแก่ส่วนรวม เกิดมาทั้งทีใช้ชีวิตให้คุ้มไม่ใช่ความคิดใหม่เสียทีเดียว เพราะคนไทยก็เคยคิดอย่างนี้มาก่อน แต่ความ “คุ้ม” ที่คนไทยโบราณคิด (ตามอุดมคติ) คือคุ้มแก่การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เช่นสั่งสมบุญบารมีไว้เพื่อจะได้เกิดในที่ซึ่งดีขึ้น มีกำลังจะหลุดพ้นไปสู่โลกุตระได้มากขึ้นในชาติต่อๆ ไป แต่ “คุ้ม” แบบตะวันตก หมายถึงคุ้มในชาตินี้แหละ ไม่เกี่ยวกับชาติหน้าแต่อย่างไร เช่น ไหนๆ ก็ไหนๆ วะ เกิดมาทั้งที่ได้เดินขึ้นยอดเอเวอร์เรสต์เป็นคนแรกในโลก ก็ “คุ้ม” แล้ว

ควบคู่กันไปกับโลกนี้-ชาตินี้มีความสำคัญ “ตัวกูของกู” ก็มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกัน พูดอีกอย่างหนึ่งคือความเป็นปัจเจกของบุคคลก็สำคัญ นวนิยายรักหวานจ๋อยบอกว่าสำคัญกว่าครอบครัว, เกียรติยศของตระกูล, ชนชั้น, หรือมรดกของเจ้าคุณพ่อเสียอีก การทิ้งคุณค่าดั้งเดิมทั้งหมดเหล่านั้นเพื่อคนรัก นักเขียนนวนิยายไม่ได้เรียกว่าความเห็นแก่ตัว แต่กลับเรียกว่าการ เสียสละ แก่ความรัก… เป็นงั้นไป

ความเป็นปัจเจกในโลกทรรศน์ไทยโบราณ ไม่สำคัญถึงแค่นั้น ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คนดีหรือ “สัตบุรุษ” ควรสมยอมกับเงื่อนไขภายนอกที่แวดล้อมชีวิตของเขา นับตั้งแต่ครอบครัว, วงศ์ตระกูล, กฎเกณฑ์ประเพณีของชุมชน, อาญาสิทธิ์ต่างๆ, ฯลฯ สังคมจะอยู่ได้อย่างสงบสุขก็ต่อเมื่อคนไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว

อันที่จริง ข้อรังเกียจของ “ผู้ดี” สมัย ร.6 ที่มีต่อ “คนรุ่นใหม่” ในสมัยนั้น ก็ล้วนเป็นอาการภายนอกของโลกทรรศน์ที่ให้ความสำคัญแก่ปัจเจกนั่นเอง เช่น การแต่งกายที่ไม่แสดงสถานภาพทางสังคม ก็เพราะเขาต้องการแต่งกายเพื่อแสดงตัวเขา ไม่ได้ต้องการแสดงโคตรเหง้าของเขา การเที่ยวเตร่กินเหล้าเมายาและอื่นๆ ของคนหนุ่มสาว ก็เพราะชีวิตนี้มีความสำคัญแก่แต่ละคน จึงพึงแสวงหาความสนุกสนาน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ผู้คบหามีความเท่าเทียมกัน ต่างก็เป็น “แก” และ “กัน” ของกันและกัน (ขอให้สังเกตว่า “แก” และ “กัน” เป็นสรรพนามใหม่ ไม่แสดงความต่างของสถานภาพ ไม่ใช่คำนับญาติ, ไม่ใช่คำที่แสดงความเคารพต่อสถานภาพเช่นใต้เท้าและเกล้ากระผม, ไม่ใช่คำหยาบเท่ากู-มึง)

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมอย่างนี้เป็นของใหม่ในสังคมไทย มีเสน่ห์ของอะไรที่ใหม่ๆ ทั้งหลายคือดึงดูดคนให้ลิ้มลอง แต่ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมเช่นนี้มีพื้นที่ให้แสดงออกได้ไม่มากนักในสังคมไทยสมัยนั้น จึงต้องกินเหล้าเมายาใน “คาบาเรต์” ต้องเที่ยวกลางคืน ต้องกิน “เหลา” ทั้งหมดเหล่านี้คือพื้นที่เปิด “ใหม่” สำหรับความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม ในสังคมที่ไม่มีพื้นที่เช่นนี้อยู่ในชีวิตปรกติของผู้คน

จากโลกทรรศน์ที่เอาชาตินี้และความเป็นปัจเจกของบุคคลเป็นศูนย์กลาง ก็นำไปสู่การจัดระเบียบสังคมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของใหม่ และขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการจัดระเบียบทางสังคมตามอุดมคติไทย เพราะต่างก็เป็นปัจเจกบุคคล ความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้จึงมีอยู่อย่างเดียว คือสัมพันธ์กันอย่างเสมอภาค อำนาจและอาญาสิทธิ์ซึ่งจำเป็นต้องมีในทุกสังคมจะมาจากไหน ก็ต้องมาจากเหตุผล (ทั้งยังต้องเป็นเหตุผลในทางโลกย์ด้วย ไม่ใช่เหตุผลทางธรรม ทำให้วิทยาศาสตร์เข้ามาครอบงำโดยสิ้นเชิง) และข้อเท็จจริง อีกทั้งต้องได้รับการยอมรับจากเหล่าปัจเจกบุคคลจำนวนมากซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมนั้น

โลกทรรศน์ทางสังคมเช่นนี้รื้อทำลายอุดมคติของนักอนุรักษนิยมไทยไปหมด ความวิตกกังวลของคนเหล่านี้ที่มีต่อความประพฤติของ “คนรุ่นใหม่” ในสมัยนั้น แม้จะอ้างหลักศาสนาเรื่องอบายมุข แต่ผมเข้าใจว่ามันอยู่ลึกกว่านั้นมากทีเดียว นั่นคือความประพฤติเช่นนั้นบ่อนทำลายอำนาจและอาชญาสิทธิ์ของสังคมไทยทีเดียว

เมื่อมีความพยายามจะปฏิรูประบบราชการโดยการเริ่มจัดให้มีการสอบเพื่อเข้ารับราชการใน พ.ศ.2472 “ผู้ดี” ในวงราชการคัดค้านกันมาก เพราะการสอบคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้การกระจายอภิสิทธิ์ (หรือทรัพยากร) เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล แต่ในขณะเดียวกัน ก็เท่ากับปฏิเสธสิทธิโดยกำเนิด และสิทธิของเส้นสายในระบบอุปถัมภ์ไปพร้อมกันด้วย (ทั้งๆ ที่สิทธิเหล่านี้เป็นผลจากบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศถึงกับประกาศในที่ประชุมว่า จะไม่รับคนไม่มีหัวนอนปลายตีนเข้ามาเป็นข้าราชการเป็นอันขาด แม้ว่าจะผ่านการสอบมาได้ก็ตาม

นักอนุรักษนิยมไทยในสมัยนั้น (ซึ่งผมขอเรียกว่านักอนุรักษนิยมรุ่นแรก) ตอบโต้ความเปลี่ยนแปลงทางโลกทรรศน์เช่นนี้อย่างไร

เรื่องของชาตินี้เป็นเรื่องน่าอึดอัด เพราะที่จริงการปฏิรูปศาสนาในระยะแรกๆ ของไทยเองนั้นแหละ ที่ให้ความสำคัญแก่ชาตินี้มากขึ้น เพื่อตอบโต้กับคริสต์ศาสนาของมิชชันนารี ดังนั้น จึงปฏิเสธหรือหันกลับไปเน้นชาติก่อนและชาติหน้าไม่ได้ ผมคิดว่านักอนุรักษนิยมรุ่นแรกทำสองอย่าง หนึ่งคือเลือกข้อธรรมในพุทธศาสนาที่สอนการปฏิบัติในชาตินี้มาเผยแพร่ เรียกว่าธรรมหมวดคิหิปฏิบัติ แต่ข้อที่น่าสังเกตด้วยก็คือข้อธรรมเหล่านี้ ถูกตีความให้ยืนยันความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเก่า เช่น ทิศหกถูกตีความให้กำหนดหน้าที่ของบุคคลที่พึงปฏิบัติต่อผู้อื่นซึ่งมี “ช่วงชั้น” สูง-ต่ำกับตนเองอย่างค่อนข้างตายตัว บุคคลพึงเชื่อฟังและบำรุงบิดามารดาครูบาอาจารย์ด้วยประการต่างๆ แต่จะจัดการกับความเห็นหรือรสนิยมที่ไม่สอดคล้องกันกับท่านเหล่านั้นอย่างไร ไม่ได้กล่าวไว้ สังคมจะตั้งมั่นอยู่ได้ก็ต้อง “หมั่นประชุมเป็นเนืองนิตย์” แต่จะประชุมกันอย่างไร ระหว่างการเข้ารับฟังการอบรมของผู้ใหญ่ กับการเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องส่วนรวมอย่างเสมอภาค ก็ไม่ได้กล่าวไว้เช่นกัน จนหลายครั้งชาวพุทธไทยอาจลืมไปว่า สังคมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคุ้นเคย คือสังคมที่มีลักษณะค่อนไปทางสาธารณรัฐ ที่ประชุมของศากยวงศ์เป็นรัฐสภาของชนชั้นสูงในสังคมนั้น นั่นคือทุกคนเท่าเทียมกันและอาจถกเถียงกันได้โดยไม่ต้องมองเรื่องสถานภาพทางการเมืองและสังคม

อย่างที่สองซึ่งนักอนุรักษนิยมรุ่นแรกทำ ก็คือเน้นคุณค่าของข้อธรรมที่ยกมาสั่งสอนว่าให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือสังคมโดยรวม ไม่ใช่เป็นประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลที่ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว ปฏิบัติตามอิทธิบาทสี่แล้ว นอกจากตัวจะได้ดีแล้ว บ้านเมืองก็จะได้ดีไปด้วย สมเด็จพระสังฆราชทรงประพรมน้ำมนต์ให้กองทหารที่จะเดินทางไปร่วมรบในยุโรป พระเมืองสายธรรมยุตเป็นตัวแทนนำอำนาจของรัฐบาลกลางและความทันสมัยที่รัฐบาลกลางอนุมัติไปเผยแพร่ในอีสาน

นักอนุรักษนิยมไทยรุ่นแรกต่อต้านสำนึกปัจเจกดังที่กล่าวแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็สร้างสรรค์ในทางวัฒนธรรมซึ่งได้แบบแผนจากตะวันตก พร้อมกันไปกับการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อว่าเป็นของไทย ที่ผมคิดว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ก็คืออันหลัง นั่นคือสร้างของใหม่จากของเก่า เช่น ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ที่ปรับโทนเสียงให้ฟังสบายขึ้น แต่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องมีความรู้ทั้งหลักดนตรีเก่าของไทยและหลักดนตรีใหม่ซึ่งรับจากตะวันตกมา หรือพระอุโบสถวัดเบญจะ หรือพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธา เป็นต้น

แต่ที่ประสบความล้มเหลวก็มีไม่น้อย

ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่า เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว นักอนุรักษนิยมไทยรุ่นแรก ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการตอบโต้กับสิ่งที่อาจนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทย ไม่ใช่โดยการต่อต้านสิ่งที่มาจากตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่โดยการยอมรับสิ่งใหม่ๆ จากตะวันตก แต่นำมาปรับเปลี่ยนตีความใหม่ให้ไม่มีผลไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

ผมขอยกตัวอย่างพระราชนิพนธ์บทละครพูดใน ร.6 ละครพูดเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งซึ่งในโลกตะวันตก (โดยเฉพาะอังกฤษ) ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีความลึกซึ้งต่อชีวิตและความเป็นมนุษย์ จึงอาจตั้งคำถามในระดับพื้นฐานกับความเชื่อและข้อสรุปที่สังคมยึดถืออยู่ แต่บทละครพูดพระราชนิพนธ์กลายเป็นสื่อสิ่งที่เป็นแบบแผน, สิ่งที่เป็นอุดมคติใหม่ของชนชั้นนำ ตัวละครหมดความเป็นปัจเจกที่มีความแตกต่างเฉพาะตน กลายเป็นตัวแทนของรูปแบบตายตัวเหมือนตัวละครในนิทานชาดก อ่านเรื่องเดียวก็เท่ากับอ่านทุกเรื่องแล้ว ผมเข้าใจว่า ยกเว้นนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์แล้ว คงไม่มีใครอ่านบทละครเหล่านั้นอีก

แต่บทละครนั้นมีอิทธิพลสูงมาก โดยไม่มีใครอ่าน เพราะโดยแก่นสารสาระ (ท้องเรื่อง, บุคลิกตัวละคร, การดำเนินเรื่อง) แล้วก็แทบไม่ต่างจากบทละครปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ และว่าที่จริง ละครทีวีในทุกวันนี้ ก็แทบจะไม่ต่างอะไรนักในแง่ที่ตัวละครเป็นตัวแทนของรูปแบบอะไรบางอย่าง โดยขาดความซับซ้อนในบุคลิกภาพ

ประวัติศาสตร์อนุรักษนิยมไทย (2)

ในแง่หนึ่ง ก็ต้องกล่าวว่า นักคิดในกลุ่มอนุรักษนิยมรุ่นที่สองประสบความสำเร็จอย่างสูง ที่สามารถครอบงำความคิดของสังคมได้อย่างมีพลังและยาวนาน แต่ในอีกแง่หนึ่ง บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ประชาธิปไตยก็มีส่วนอย่างมาก ในการช่วยให้การครอบงำทางความคิดเป็นไปได้อย่างไม่ค่อยถูกท้าทายนัก

บรรยากาศทางการเมืองดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ 2490 จำกัดทางเลือกของนักคิดสายอื่นๆ ไม่ให้ท้าทายอนุรักษนิยมไทยถึงระดับมูลฐานที่แท้จริงได้ เพราะอาจต้องเผชิญข้อกล่าวหาทางกฎหมาย ที่อาจทำให้ต้องติดคุกติดตะรางได้ โดยเฉพาะหลัง 2500 เป็นต้นมา

แต่อำนาจทางการเมืองที่เลือกจะยืนอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอจะอธิบายความสำเร็จของนักคิดอนุรักษนิยมรุ่นที่สองได้หมด ถึงฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถพิมพ์หนังสือขายบนแผงได้อย่างเปิดเผย ก็พิมพ์หนังสือขายใต้แผงได้ ทีหนังสือโป๊ยังพิมพ์ขายได้ ทำไมหนังสือที่เสนอแนวคิดที่ไม่อนุรักษนิยมจะไม่มีโอกาสอย่างเดียวกัน

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่พื้นที่บนแผงหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่พื้นที่บนหัวสมองของคนไทยด้วยต่างหาก ส่วนใหญ่ของพื้นที่นั้นถูกแนวคิดสายอนุรักษนิยมจับจองไปหมด

และในแง่นี้ ต้องยกความสำเร็จให้แก่นักคิดอนุรักษนิยมรุ่นแรก ความสำเร็จนั้นไม่ได้อยู่ที่งานทางด้านศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำเร็จมากกว่าก็คือ การวางพื้นฐานทางวิชาการสมัยใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ที่คนไทยในรุ่นต่อมาจะใช้เป็นฐานทำความเข้าใจวิทยาการสมัยใหม่ และชีวิตสมัยใหม่ด้านอื่นๆ

ผมคิดว่า วิทยาการสามด้านที่เป็นมรดกอันไม่รู้จักตายของนักคิดอนุรักษนิยมรุ่นแรกได้แก่ ประวัติศาสตร์ (สร้างอัตลักษณ์ไทย ไม่เฉพาะแต่ในอดีต แต่รวมถึงปัจจุบันและอนาคต) นิติศาสตร์ (กำหนดความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ ไม่เฉพาะระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมด้วย) และความรู้ด้านวัฒนธรรม (การสร้างสถานะและช่วงชั้นของรูปแบบทางวัฒนธรรมต่างๆ – คนกรุงกับคนต่างจังหวัด, ชนชั้นสูงกับสามัญชน, ชายกับหญิง, ผู้ใหญ่กับเด็ก, ทหารกับพลเรือน, ครูกับศิษย์, ฯลฯ)

ความคิดอะไรก็ตาม ที่ท้าทายความคิดอนุรักษนิยมไทย จึงต้องเผชิญกับกระบวนทัศน์ที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวในสามด้านนี้ก่อนที่ใครจะ “ได้ยิน” สารที่ต้องการเสนอ ผมคิดว่า สารเหล่านั้นจะถูกกรองผ่านกระบวนทัศน์ดังกล่าว จนกลายเป็นสารอีกชนิดหนึ่งซึ่งผู้สื่อไม่ได้มุ่งหมาย

ปัญหาสำหรับผู้ที่ท้าทายความคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมในสังคมไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วง 2475-2516 ก็คือ จากพื้นที่เล็กๆ นิดเดียวที่เหลืออยู่ในหัวสมองของคนไทย จะเสนอความคิดใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างไร ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย และกระทบต่อกระบวนทัศน์ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย

วิธีการเท่าที่ผมเข้าใจมีสองอย่าง หนึ่งคือเผชิญหน้าโดยตรงด้วยการชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของแนวคิดอนุรักษนิยม ฟันฝ่ากับกระบวนทัศน์ทางวิชาการที่อนุรักษนิยมสร้างไว้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อวางหลักการใหม่บางอย่างทั้งทางวิชาการและสังคม-การเมือง

นักคิดที่ทำอย่างนี้ชัดเจนที่สุดคงเป็น คุณจิตร ภูมิศักดิ์ น่าสังเกตด้วยว่า งานของคุณจิตรยังไม่มีอิทธิพลในสังคมไทยอย่างกว้างขวางนัก จนหลัง 2516 ไปแล้ว แสดงว่าฝีมือขนาดคุณจิตรยังไม่สามารถฟันฝ่ากระบวนทัศน์ที่นักคิดอนุรักษนิยมรุ่นแรกสร้างไว้ได้ ต้องรอเวลากว่าที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะพังทลายกระบวนทัศน์นั้นลงเสียก่อน ความคิดของคุณจิตรจึงเป็นที่เข้าใจและยอมรับได้

แต่บนพื้นที่เล็กๆ ในหัวสมองของคนไทยส่วนนี้ ยังสามารถรองรับงานความคิดที่ไม่เผชิญหน้าโดยตรงกับแนวคิดอนุรักษนิยม แต่กลับมีผลกระทบต่อกระบวนทัศน์อนุรักษนิยม จนทำให้สามารถมองโลกจากกระบวนทัศน์อื่นได้ อาจจะโดยไม่รู้ตัว

ผมนึกถึงงานเขียนนวนิยายหลายต่อหลายชิ้น ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อ่าน โดยไม่มีท่าทีท้าทายแนวคิดอนุรักษนิยม แต่กลับกระทบต่อกระบวนทัศน์ที่แนวคิดอนุรักษนิยมสร้างไว้ ขอยกตัวอย่างคุณหญิงกีรติ ในข้างหลังภาพและภัคคินีในแผ่นดินของเรา อันเป็นตัวละครที่ติดตรึงใจผู้อ่านมาหลายยุคหลายสมัย ตัวละครทั้งสองเตือนให้ผู้อ่านนึกถึงความเป็นปัจเจก ที่อาจมีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานส่วนตัวบางอย่าง ที่ไม่ได้สอดคล้องกับประเพณีความเชื่อของสังคม แม้ตัวละครทั้งสองอาจไม่ประสบความสำเร็จตามใจปรารถนา แต่ทั้งสองก็ไม่ได้ผิดหวังกับการตัดสินใจของตนเอง หากชีวิตกลับไปสู่จุดที่เลือกได้ใหม่ ทั้งสองก็จะเลือกอย่างเดิม

ปัจเจกภาพที่สุดโต่งอย่างนี้ในทัศนะของอนุรักษนิยม คือการทำลายระเบียบทางสังคมลงโดยสิ้นเชิง แม้ไม่ปฏิเสธปัจเจกภาพของบุคคล แต่ปัจเจกภาพของบุคคลต้องถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบ ดังเช่นที่แม่ช้อยและคุณเพิ่มถูกควบคุมด้วยเหตุผลและความรักต่อแม่พลอย

ผมคิดว่างานเขียนประเภทที่เน้นปัจเจกภาพสุดโต่ง มีผู้ทำกันสืบมาอีกนาน โดยผู้เขียนอาจทำไปโดยไม่รู้นัยยะทางสังคมของสิ่งที่ตนเขียนก็ได้ แม้กระนั้น ก็ทำให้พื้นที่ส่วนน้อยในสมองของคนไทยมีพลังจะขยายไปกลืนกินส่วนอื่นได้หลัง 2516

ด้วยเหตุดังนั้น แม้ว่าปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่สอง อาจทำงานในบรรยากาศทางการเมืองที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะหลัง 2490 มาจน 2516 แต่ความจริงแล้ว ใช่ว่าแนวคิดอนุรักษนิยมจะไม่ถูกท้าทายเอาเสียเลย ต้องอาศัยความสามารถของปัญญาชนอนุรักษนิยมในรุ่นนี้ ในอันที่จะทำให้ความคิดที่ท้าทายเหล่านั้น ไม่มีพื้นที่บนแผงหนังสือและบนหัวสมองของคนไทย ซึ่งอำนาจของเผด็จการทหารเพียงอย่างเดียวไม่พอจะทำได้

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เคยถามผมว่า เหตุใดหลังการยึดอำนาจของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความคิดของนักคิดฝ่ายซ้ายที่มีมาก่อน 2500 จึงเหมือนถูกม่านที่มองไม่เห็นกั้นจากสายตาของคนไทย เสียจนกระทั่งความคิดเหล่านั้นถูก “ลืม” ไปหมด

ผมตอบไม่ได้ในตอนนั้น เพราะตัวคำถามชวนให้คิดไปในทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

การเมืองก็มีส่วนอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การทำงานของปัญญาชนและนักวิชาการสายอนุรักษนิยมต่างหาก ที่ทำให้ผู้คนไม่เดือดร้อนกับการจำกัดเสรีภาพของเผด็จการทหาร

ผมคิดว่า แก่นแท้ของวิธีคิดอนุรักษนิยมรุ่นที่สอง คือยอมรับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในโลกกว้าง มากกว่าที่ปัญญาชนรุ่นแรกเคยยอมรับมา และมีสำนึกอย่างชัดเจนว่า จะรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเข้าสู่สังคมอย่างไร ในช่วงจังหวะเวลาใด จึงจะทำให้ของใหม่ที่มาจากภายนอกเหล่านั้น ถูกกลืนให้เข้าไปกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ไทย ซึ่งสั่งสมกันมาตั้งแต่ ร.4 โดยไม่บั่นรอนสาระสำคัญของวัฒนธรรมนั้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะควบคุมความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ใช่ด้วยอำนาจของกองทัพเพียงอย่างเดียว (หนึ่งในปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นนี้ – ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช – มองเห็นด้วยซ้ำว่า อำนาจของกองทัพนั่นเองแหละที่หากไม่ระวังให้ดี ก็จะทำลายโครงสร้างสังคมไทยในอุดมคติของอนุรักษนิยมไทยลงได้) แต่ด้วยการให้คำอธิบายวัฒนธรรมไทยว่า สอดคล้องกับหลักสากล แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางส่วนที่สำคัญในวัฒนธรรมไทยซึ่งไม่อาจทำให้สอดคล้องกับหลักการสากลได้ เพราะมีลักษณะเฉพาะที่เป็นของไทย

วัฒนธรรมไทยจึงเป็นทั้งสากล และเป็นทั้งข้อยกเว้นพร้อมกัน เมื่อไรจึงควรอธิบายด้วยลักษณะที่เป็นสากล และเมื่อไรจึงควรอธิบายด้วยข้อยกเว้น นักคิดและอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยมจะเป็นผู้กำหนดให้

ผมควรกล่าวด้วยว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่สองผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง ทัดเทียมกับหรืออาจสูงกว่าปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นแรก ส่วนหนึ่งก็เพราะใกล้ชิดกับแนวคิดและความรู้ของตะวันตกมากกว่า จึงสามารถอธิบายคุณค่าของวัฒนธรรมไทยในโลกปัจจุบันได้สลับซับซ้อนกว่า

ผมกำลังคิดถึงงานสร้างสรรค์ของคนอย่างพระยาอนุมานราชธน, กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ท่านพุทธทาสภิกขุ, ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์, ฯลฯ

คุณภาพของงานที่ปัญญาชนกลุ่มนี้ผลิตขึ้น มีสูงขนาดไหน จะเห็นได้จากยอมรับอย่างสยบยอมของนักวิชาการตะวันตกที่ริเริ่มไทยคดีศึกษารุ่นแรกๆ จนทำให้มองรัฐและสังคมไทยไม่ต่างไปจากที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยได้วางเอาไว้ (ดู Benedict Anderson, The Study of the Thai State and the State of the Thai Studies)

นักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐ ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมา ก็ไปเป็นลูกศิษย์ของนักวิชาการตะวันตกเหล่านี้ และกลับมาช่วยตอกย้ำข้อสรุปและอคติของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยสืบมาอีกนาน

ผมจำได้ว่า ด๊อกเตอร์คนหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้แก่คณะรัฐประหาร นับตั้งแต่ รสช. มาจนปัจจุบัน ย้ำให้ผมฟังว่าสังคมไทยเป็นสังคม “โครงสร้างหลวม” จึงจำเป็นต้องมีอำนาจนำที่เด็ดขาดของทหาร เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้

แต่ “โครงสร้างหลวม” ถูกท้าทายทั้งในเชิงทฤษฎี และข้อเท็จจริงมาก่อนรัฐประหารของ รสช. ตั้งนานแล้ว

ผมไม่ได้หมายความว่านักวิชาการท่านนั้นล้าสมัย แต่ผมคิดว่าบรรยากาศทางปัญญาซึ่งนักคิดฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสร้างไว้ต่างหาก ที่ทำให้นักวิชาการไทยไม่สามารถฟันฝ่าออกไปจากทฤษฎีโบราณนี้ได้ และนี่เป็นพลังทางสังคมที่เราควรตระหนักให้ดี เรื่องของเรื่องจึงไม่ใช่แค่ฝรั่งผิดหรือฝรั่งถูกเท่านั้น

หากมองเรื่องนี้เป็นพลังทางสังคม (social forces) ก็จะเข้าใจได้ง่ายว่า เหตุใดนักวิชาการใหญ่บางคนจึงออกมาเชียร์รัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้ พวกเขาคือสิ่งตกค้างหรือผลผลิตของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยรุ่นที่สอง ซึ่งเชี่ยวกรากแกร่งกล้าในสมัยที่พวกเขายังเป็นหนุ่ม-สาว

ไม่ว่าจะเชี่ยวกรากแกร่งกล้าแค่ไหน หลัง 14 ตุลาคม 2516 กระแสความคิดของปัญญาชนอนุรักษนิยมก็เริ่มอ่อนพลังลง เหตุผลสำคัญก็เป็นเพราะพื้นที่เพื่อการแข่งขันทางความคิดถูกเปิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่บนแผงหนังสือเท่านั้น แต่รวมถึงบนหัวสมองของคนไทยด้วย แม้หลัง 6 ตุลา พื้นที่นั้นก็ไม่อาจถูกปิดสนิทอย่างที่ผ่านมาอีกได้เลย

ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ไทย ที่แนวคิดอนุรักษนิยมไทยจะถูกท้าทายหนักเท่ากับหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา แนวคิดของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยรุ่นที่สอง ไม่สามารถใช้อธิบายเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยได้อีกแล้ว จะสืบทอดแนวคิดอนุรักษนิยมให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไป จำเป็นต้องมีแนวคิดใหม่ที่สร้างคุณค่าที่สอดคล้องกับสังคมที่แปรเปลี่ยนไปได้อย่างน่าเชื่อถือ

ทำไมสถาบันแบบ “ไทยๆ” จึงควรดำรงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตุลาการ, สถาบันกองทัพ, สถาบันการเงิน, สถาบันเศรษฐกิจ, สถาบันการเมือง, สถาบันสงฆ์, สถาบันการศึกษา ฯลฯ

ทำไม “วิถีไทย” เช่น การให้ความสำคัญสุดยอดแก่ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น จึงควรดำรงอยู่ต่อไป โดยไม่ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งได้เปลี่ยนไปมากแล้ว (เช่น เราไม่สามารถแยกชนบทกับเมืองออกจากกันได้อีกแล้ว ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรม)

และหากจะปรับเปลี่ยน ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อรักษาส่วนดีๆ เอาไว้ต่อไป

เท่าที่ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ก็คือ ไม่มีคำตอบแก่คำถามเหล่านี้ นักคิดอนุรักษนิยมไทยรุ่นที่สามทำได้แต่ท่องบ่นคุณค่าของสถาบันและวิถีไทย อย่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บรรยายไว้เท่านั้น

โดยไม่ต้องเข้าสู่รายละเอียด ผมขอยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้

โขนจะให้ความหมายแก่ชีวิตของคนไทยปัจจุบันต่อไปได้อย่างไร ส่วนใหญ่ของสิ่งที่เราทำกับโขนในปัจจุบันก็คือเพิ่มความตระการตา เช่นจัดฉากจัดเวที หรือเครื่องแต่งกายให้ “ตระการตา” มากขึ้น แต่ชีวิตของคนปัจจุบันเคยชินกับความตระการตาอยู่แล้ว โดยเฉพาะในป้ายโฆษณาต่างๆ จะเพิ่มความตระการตาแค่ไหนจึงจะเหนือกว่าป้ายโฆษณาได้

หรือในการดำเนินเรื่อง ความดีที่เกิดจากบารมี (เพราะเป็นพระเจ้า) จะให้ความหมายอะไรแก่ชีวิตของคนสมัยใหม่ นนทกเป็นตัวแทนของความชั่วที่ข้ามภพข้ามชาติ หรือเป็นตัวแทนของเหยื่อแห่งความอยุติธรรมของระบบ ซ้ำเป็นเหยื่อที่ไม่ดูดายกับชะตากรรมที่ตัวต้องรับอย่างไม่เป็นธรรมด้วย เขาต่อสู้ในชาตินี้ แต่ก็พ่ายแพ้ แม้กระนั้นก็ยังมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความไม่เป็นธรรมนั้นในชาติต่อไป

อย่างไหนจะให้ความหมายแก่ชีวิตของคนไทยปัจจุบันได้มากกว่ากัน ผมไม่คิดว่าความตระการตาจะสามารถแทนที่ความหมายแก่ชีวิตได้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือพระพุทธศาสนา นักคิดอนุรักษนิยมรุ่นที่สามพูดอะไรได้มากไปกว่าที่ท่านพุทธทาสภิกขุพูดไปแล้วได้บ้าง แต่ในโลกปัจจุบัน เราเห็นได้ชัดถึงความทุกข์อีกชนิดหนึ่งซึ่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นเพียงอย่างเดียวไม่อาจดับทุกข์ได้เสียแล้ว เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาการกระจุกตัวของทรัพย์, ปัญหาความรุนแรงซึ่งมนุษย์กระทำต่อกัน, ฯลฯ พระพุทธศาสนาเถรวาทอาจตอบสนองความทุกข์ส่วนบุคคลได้ แต่ในปัจจุบัน ไม่มีพื้นที่เหนือโลกใดๆ ที่ไม่ถูกกระทบจากความทุกข์ทางสังคมได้เสียแล้ว

ผมอยากสรุปสั้นๆ แต่เพียงว่า อนุรักษนิยมไทยไม่มีปัญญาชนที่มือถึงเหลืออยู่อีกแล้ว และด้วยเหตุดังนั้น อนุรักษนิยมไทยจึงต้องหันเข้าหาการใช้กำลังอำนาจของกองทัพเพียงอย่างเดียว

มันมีแนวคิดใดในโลกนี้หรือ ที่ตั้งอยู่ได้ด้วยกำลังอำนาจเพียงอย่างเดียว

นักคิดอนุรักษนิยมไทยรุ่นที่สามทำให้เรารู้ว่า ถึงเวลาใกล้ค่ำของอนุรักษนิยมไทยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image