‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ‘บจธ.’ช่วยชาวบ้าน มีที่ทำกิน สร้างรายได้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(บจธ.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล บจธ. มีความเป็นห่วงความเป็นอยู่ของ พี่น้อง​ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิเ-19 ได้มอบนโยบายสู่การปฏิบัติ แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้มีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินร่วมกับ บจธ. โดยใช้ช่องทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ รวบรวมข้อมูลการขอความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน และผู้ที่กำลังจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ส่งข้อมูลให้ บจธ. ไปดำเนินการตามหลักเกณฑ์ โดยตนเองและผู้บริหาร บจธ. ได้ประชุมชี้แจงภารกิจการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน และการป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินให้เกษตรกรและผู้ยากจน ทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้ได้มีประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานแล้ว 20 จังหวัด และช่วงเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม ได้ลงพื้นที่ชี้แจงภารกิจร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ภาคกลางทุกพื้นที่แล้ว

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าในการลงพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราได้มอบหมายสั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการส่งข้อมูลให้ บจธ. ภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ขณะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มอบหมายให้ปฏิรูปที่ดินส่งข้อมูลประชาชนมาลงทะเบียนขอความช่วยเหลือที่ดินทำกินประมาณ 1,800 คนให้กับ บจธ. เช่นเดียวกับที่จังหวัดราชบุรีที่สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีแจ้งว่ามีข้อมูลประชาชนที่ขึ้นทะเบียนขอสนับสนุนที่ดินทำกินกว่า 3,000 คนจะนำส่งให้ บจธ. และ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี แจ้งว่า ชลบุรีมีที่ดิน ส.ป.ก. 5แสนกว่าไร่ และพื้นที่ คทช. อีก 2 แปลง บางส่วนจัดสรรให้ประชาชนไปแล้ว แต่ยังมีอีก 300 กว่ารายที่ยื่นขอมีที่ดินทำกินไว้ ก็จะส่งให้ บจธ. พิจารณาช่วยเหลือเช่นกัน ส่วนการลงพื้นที่ชี้แจงภารกิจที่จังหวัดลพบุรี ปรากฎว่ามีสมาชิกองค์กรเกษตรกรไทยฟู 856 คน จาก 4 อำเภอคือ โคกสำโรง หนองม่วง สระโบสถ์ และบ้านหมี่ กำลังประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ต้องทำกินในที่ดินราชพัสดุ และเช่าที่เอกชน ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือมายัง บจธ. โดยยอมรับว่าสาเหตุหลักที่ทำให้สมาชิกไม่มีที่ดินทำกิน เนื่องจากส่วนใหญ่เคยมีที่ดินของตัวเอง แต่ประสบปัญหาทำการเกษตรขาดทุน ทั้งจากราคาผลผลิตตกต่ำ การกู้ยืมเงินจากนายทุนมาลงทุน รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตเสียหายจนสิ้นเนื้อประดาตัว และสูญเสียที่ดิน โดยมีชาวบ้าน 800 กว่าคนจาก 4 อำเภอ รวมความต้องการที่ดินทำกินจริงๆ ประมาณ 2,156 ไร่ กระจายใน 4 อำเภอ

ด้านนายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินเข้ารับฟังข้อมูลและภารกิจของ บจธ. ด้วย เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมีโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ที่บจธ. สนับสนุนนั้น​คือ​กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนา ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 77 ไร่ มีผู้เข้าทำประโยชน์ 26 ครัวเรือน ในรูปแบบการเช่า ซึ่งนายวิเชียรยุติ จันทร์เขียว ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนาฯ ยืนยันว่า ได้รับการสนับสนุนที่ดินจาก บจธ. และมีการเข้าทำประโยชน์ ประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมาทั้งสร้างแหล่งน้ำ ปลูกพืชผักและมีการพัฒนาแหล่งน้ำ ครบทุกแปลงแล้ว และมีการปลูกพืชอายุสั้น ไม้ยืนต้นและที่อยู่อาศัย

ด้านนายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ บจธ. ตลอดระยะเวลา 5 ปีจนถึงปี 2563 ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรไปแล้ว 1,369 ครัวเรือน รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 5,066 ไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image