เลขาฯยูเอ็น จี้ทุกประเทศประกาศ “ภาวะฉุกเฉินโลกร้อน”
รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องในที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลกเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปี ของสนธิสัญญาปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่จัดขึ้นแบบเสมือนจริง ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ให้ทุกประเทศทั่วโลก ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ เพื่อรองรับวิกฤตโลกร้อนที่นับวันจะลุกลามใหญ่โตมากขึ้นทุกที
“ทุกๆ คนในทุกวันนี้ ไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินที่เร่งเร้าอย่างยิ่งอยู่ในขณะนี้” เลขาธิการยูเอ็น ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสระบุ “นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมวันนี้ ข้าพเจ้าถึงได้เรียกร้องต่อบรรดาผู้นำประเทศทั่วทั้งโลก ให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศขึ้นในแต่ประเทศ จนกว่าประเทศนั้นๆ จะบรรลุถึงภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอนในที่สุด” ซึ่งหมายความว่าประเทศนั้นๆ จะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกต่อไปนั่นเอง
การประชุมครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ดีขึ้นหลังจาก จีน ประกาศย้ำถึงพันธะที่จะต้องดำเนินการตามความตกลงปารีสใหม่อีกครั้งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และจากการที่ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และประกาศจะนำประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาปารีสใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาผู้นำหลายสิบประเทศที่กล่าวปราศรัยเนื่องในโอกาสนี้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์นั้น ส่วนใหญ่มักพูดถึงการปรับเปลี่ยนพันธะกรณีที่เคยให้ไว้ หรือไม่ก็พูดถึงการเคลื่อนไหวที่กล้าหาญมากขึ้นกว่าเดิมก่อนที่จะถึงการเจรจารอบใหม่ในตอนปลายปี 2021 แทนที่จะประกาศนโยบายใหม่ในการเร่งรัดให้เกิดการยุติการใช้พลังงานจากฟอสซิลขึ้นในประเทศของตน
ที่น่าผิดหวังก็คือหลายประเทศแม้จะยังยืนยันเป้าหมายตามพันธะที่ให้ไว้ แต่ไม่มีใครประกาศเลิกใช้หรือเลิกให้การสนับสนุนทางการเงินต่อโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน รวมทั้ง จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีเพียงนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านแห่งปากีสถานเพียงประเทศเดียวที่ประกาศชัดเจนและได้รับเสียงชื่นชมจากที่ประชุมว่า ปากีสถานจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขึ้นอีกต่อไป
นายกูแตร์เรส ยังแสดงความผิดหวังต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม จี20 ที่ประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 โดยที่ยังคงมีการจัดสรรงบประมาณอีกราว 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดไปในภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเชื้อเพลิงฟอสซิล แทนที่จะเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากพลังงานสะอาดทั้งหลาย ซึ่งนายกูแตร์เรสย้ำว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเงินจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ที่นำมาใช้เพื่อการนี้ เป็นการหยิบยืมมาจากลูกหลานในอนาคต และควรจะเป็นการดำเนินการเพื่อผู้คนในอนาคตเหล่านั้นด้วย